xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีความเชื่อมั่นต่ำสุดรอบ87เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย. ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ต่ำสุดในรอบ 87 เดือน หลังเจอปัญหาการเมืองวุ่น ม๊อบเสื้อแดงป่วน ค่าครองชีพสูง น้ำมันแพง คาดแนวโน้มชะลอตัวจนถึงไตรมาส 3 และเริ่มฟื้นตัวไตรมาส 4 ภายใต้เงื่อนไขการเมืองนิ่ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผล ส่วนกำลังซื้อบ้าน รถยนต์ ติดลบหนักสุดรอบ 50 เดือนและ 30 เดือนตามลำดับ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 2,242 ตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยประจำเดือนเม.ย.2552 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และส่วนใหญ่ลดลงต่ำสุดในรอบ 7 ปี โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย. เท่ากับ 72.1 ต่ำสุดในรอบ 87เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปัจจุบัน 61.8 ต่ำสุดในรอบ 82 เดือน นับจากเดือนมิ.ย.2545 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต 74.1 ต่ำสุดรอบ 20 เดือน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ลดเหลือ 65.1 ต่ำสุดในรอบ 88 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำลดเหลือ 64.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตลดเหลือ 86.7   

สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงทุกรายการ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง หลังจากมีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่พัทยา และกรุงเทพฯ กรณีเกิดการประท้วง ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบทางจิตวิทยาต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และนักท่องเที่ยว ประกอบกับผู้บริโภคกังวลปัญหาค่าครองชีพ สินค้าราคาแพง และราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงภาวะการค้าต่างประเทศ การส่งออกที่หดตัวถึง 22.7%

ส่วนปัจจัยบวกมาจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ซึ่งช่วยกระตุ้นจิตวิทยาในการบริโภค รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่า และการประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยลง 0.25% แต่ที่สำคัญสุดคือการที่รัฐบาลใช้กระบวนทางสภา คลี่คลายปัญหาการเมืองได้รวดเร็วช่วยคลายความกังวลแก่ผู้บริโภคได้มาก

“ดัชนีผู้บริโภคเดือนนี้ยังอยู่ในช่วงขาลง แต่ข่าวดีก็คือดัชนีผู้บริโภคติดลบน้อยกว่าที่คาด เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองคลี่คลายอย่างรวดเร็ว ผ่านกระบวนการสภาและปราศจากการใช้ความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุ ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตติดลบน้อยกว่าปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าประชาชนคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐจะใช้ได้ผลในไม่ช้า แต่ต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ปกติ และไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายอีก”นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ทิศทางความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ช่วงขาลงต่อไปถึงไตรมาส 3 และจะเริ่มฟื้นไตรมาส 4 ตามภาวะเศรษฐกิจโลก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมา แต่ตอนนี้ธุรกิจสินค้าคงทนจะต้องเผชิญปัญหายอดขายชะลอตัวอย่างมาก เพราะผลสำรวจดัชนีการซื้อบ้านต่ำสุดในรอบ 50 เดือน รวมถึงรถยนต์ก็ลดต่ำสุดในรอบ 30 เดือน เนื่องจากประชาชนยังขาดกำลังซื้อ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การเมืองยังเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เพราะดัชนีการเมืองเดือนเม.ย. ปรับลดลงมากถึง 2.5 จุด โดยสิ่งที่ต้องจับตาต่อไป คือ การยุบสภา หากมีการยุบหลังปฏิรูปการเมือง และผ่านงบประมาณปี 2553 รวมถึงพ.ร.ก.กู้เงิน 400,000 ล้านบาท เสร็จสิ้นก่อน คงไม่กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เพราะข้าราชการประจำสามารถใช้เงินตามระบบได้ แต่หากมีการยุบสภาที่เกิดจากความขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาล และเกิดขึ้นก่อนพิจารณางบปี 2553 กับ พ.ร.ก.กู้เงินเสร็จ จะกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในประเทศ ให้ลบเกิน 5% แต่โอกาสเกิดยังมีน้อย โดยหอการค้ามองว่าการเมืองน่าจะคลี่คลายในไตรมาสสาม และจีดีพีน่าจะติดลบ 4.3% เท่านั้น

สำหรับสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งกระทำ นอกจากการเร่งสร้างสเถียรภาพทางการเมืองแล้ว คือ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐให้ได้ตามแผน โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจ็กต์จะต้องเริ่มภายในไตรมาส 4 รวมถึงเร่งรัดให้องค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น (อปท.) ต้องจ่ายเงินลงทุนลงท้องถิ่นให้เร็วสุด และเร่งกระตุ้นโครงการลงทุนของหน่วยรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น