xs
xsm
sm
md
lg

ต่างชาติยอมรับการเมืองไม่นิ่งส่งผลเศรษฐกิจติดลบหนักขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย การสำรวจผลกระทบจากเหตุความไม่สงบทางการเมือง โดยมองไว้ 3 กรณี คือ กรณีเป็นไปได้ที่สุดร้อยละ 60 สถานการณ์การเมืองจะคลี่คลายได้ในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้น หากสถานการณ์การเมืองคลี่คลายและฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็วภายในไตรมาส 3 เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบในเชิงลบคิดเป็นมูลค่าประมาณ 67,000 ล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจไทย มีอัตราติดลบหนักขึ้นจากติดลบร้อยละ 2.8 เป็นลบร้อยละ 4.3 ส่วนความเป็นไปได้ร้อยละ 20 สถานการณ์การเมืองจะคลี่คลายในไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจไทยจะติดลบจากร้อยละ 2.8 เป็นติดลบร้อยละ 3.5 และกรณีเป็นไปได้ร้อยละ 20 สถานการณ์การเมืองยังไม่แน่นอนตลอดทั้งปี เศรษฐกิจจะติดลบจากร้อยละ 2.8 เป็นร้อยละ 5.3
ส่วนสถานการณ์ส่งออก ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจคาดว่า มูลค่าการส่งออกปีนี้จะติดลบร้อยละ 15-20 จากเดิมคาดว่าจะติดลบร้อยละ 10-15 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับติดลบร้อยละ 0.8 - 1.3 จากเดิมคาดว่าจะอยู่ระดับติดลบร้อยละ 0.5 -1.0
นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ยังประเมินผลกระทบจากภาคธุรกิจจากประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า มีผลกระทบปานกลางถึงร้อยละ 43.3 ส่วนที่ระบุว่า ได้รับผลกระทบมาก ร้อยละ 11.9 มากที่สุดร้อยละ 0.9 และที่ได้รับผลกระทบน้อยร้อยละ 24.6 ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดร้อยละ 6.1 และไม่ได้รับผลกระทบร้อยละ 11.5 สำหรับผลกระทบต่อภาคธุรกิจ นักธุรกิจส่วนใหญ่ระบุว่า ได้รับผลกระทบปานกลาง
ขณะที่ผลสำรวจถึงกรณีหลังเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองเมื่อเทียบกับก่อนเหตุการณ์ ภาคบริการระบุว่า กระทบเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวน้อยลง ยอดจองทัวร์โรงแรมลดลง ยกเลิกการจองของกรุ๊ปทัวร์ สำหรับประเด็นต่าง ๆ ในช่วงหลังเหตุการณ์ไม่สงบเทียบกับก่อนเหตุการณ์ ส่วนใหญ่ระบุว่ายอดขายลดลงร้อยละ 76.8 และยังทำให้กำไรสุทธิลดลง สภาพคล่องลดลง ยอดคำสั่งซื้อก็ลดลง ลดการจ้างงานและชะลอขยายการจ้างงาน ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนผลกระทบด้านการส่งออก นักธุรกิจมองว่า ไม่กระทบร้อยละ 54.1 ที่บอกว่ากระทบยอดส่งออกลดลงร้อยละ 45.8 แต่ที่บอกเพิ่มขึ้นมีเพียงร้อยละ 0.1
สำหรับเสถียรภาพของรัฐบาลหลังเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ผลสำรวจร้อยละ 53 ระบุว่า รัฐบาลควบคุมสถานการณ์ได้ปานกลาง ร้อยละ 21.3 ระบุว่า รัฐบาลควบคุมสถานการณ์ได้น้อย และร้อยละ 21.0 ควบคุมสถานการณ์ได้มาก ขณะที่ประเมินธุรกิจจะกลับมาปกติเหมือนเดิมเมื่อไร ร้อยละ 34.1 ไม่แน่ใจ ที่มองว่าต้นปี 2553 คิดเป็นร้อยละ 27.2 สำหรับการลงทุนขยายตลาดและขอสินเชื่อ ส่วนใหญ่ตอบว่า ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงการให้คะแนนการทำงานของรัฐบาลตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ด้านการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้คะแนน 6.3 คะแนน ด้านแก้ไขปัญหาสังคม 6.7 คะแนน การแก้ปัญหาการเมือง 6.1 คะแนน การแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น 6.5 คะแนน
ส่วนมาตรการที่รัฐบาลควรออกมากระตุ้นเศรษฐกิจคือ แก้ปัญหาไม่สงบทางการเมือง ลดความขัดแย้งของทุกฝ่ายส่งเสริมการท่องเที่ยว ป้องกันการประท้วงที่รุนแรง และพัฒนาการเมืองให้มีความเข้มแข็ง ส่วนมาตรการที่ต้องการให้รัฐเข้ามาช่วยภาคอุตสาหกรรมให้แข่งขันและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ประกอบด้วยการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การส่งเสริมและลดต้นทุนการส่งออก ลดปัญหาความขัดแย้งและแก้ไขปัญหาการเมือง การสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและการขยายตลาด
กำลังโหลดความคิดเห็น