xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค.52 ต่ำสุดในรอบ 7 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค.52 ต่ำสุดในรอบ 86 เดือน ทุกรายการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แนะรัฐบาลต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้มข้นขึ้น และทำการเมืองให้นิ่ง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เพราะความกังวลในสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจไทย รวมทั้งเศรษฐกิจโลก

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะการว่างงาน ราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งช่วงนี้ ถือว่าหมดช่วงฮันนีมูนของรัฐบาลชุดนี้แล้ว โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจรวม ดัชนีความเชื่อมั่นโอกาสการหางานทำและดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 66.0 65.2 และ 87.3 ตามลำดับ เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ที่อยู่ในระดับ 67.2 66.5 และ 88.5 ตามลำดับ ซึ่งการปรับตัวลดลงของดัชนีเกือบทุกรายการ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงจาก 74.0 ในเดือนกุมภาพันธ์เป็น 72.8 ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 86 เดือน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2545

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 64.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่ 62.9 ในเดือนมีนาคม ซึ่งต่ำสุดในรอบ 81 เดือนนับจากเดือนกรกฎาคม 2545 เนื่องจากผู้บริโภคยังเห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจ และโอกาสการหางานทำยังแย่ลงต่อเนื่อง ซึ่งความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในขาลง เพราะการขาดเสถียรภาพการเมืองมากขึ้น ภาวะการว่างงานยังมีมากขึ้นและปัจจัยราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผนวกกับการกู้เงิน เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจตามมาตรการของรัฐบาลใน 3 ปีข้างหน้ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ประชาชนรับรู้แล้ว ดังนั้น ในช่วงไตรมาส 2-3 ดัชนีความเชื่อมั่นจึงยังมีทิศทางขาลง ภาคเอกชนยังประสบปัญหายอดขายตกต่ำไปจนถึง ไตรมาสที่ 3 รัฐบาลจึงต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งภายใต้สมมติฐานการเมืองนิ่ง คาดว่าไตรมาส 4 ระดับความเชื่อมั่นน่าจะดีขึ้น ระดับการบริโภคน่าจะเติบโตได้ร้อยละ 1 จากภาวะปกติขยายตัวร้อยละ 2-3

“รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้าร้อยละ 94 ของงบประมาณรวม โดยเฉพาะงบลงทุนต้องเร่งเบิกจ่ายให้ได้ร้อยละ 75 ผลักดันให้รัฐวิสาหกิจต่างๆ ใช้จ่ายเงินลงทุนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็ต้องลงทุนด้วย ขณะที่การสร้างเสถียรภาพการเมืองเป็นสิ่งสำคัญ หากไม่มีเสถียรภาพ การเมืองนำไปสู่การยุบสภา ไตรมาส 4 ที่หวังเศรษฐกิจจะฟื้นได้ ก็จะลำบาก การออกพระราชกำหนดที่จะเพิ่มสัดส่วนเพดานหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 60 เพื่อสามารถกู้เงินได้มากขึ้นก็จะเลื่อนออกไป รัฐบาลจึงต้องพยายามทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ” นายธนวรรธน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น