ม.หอการค้าฯ เผย ผลสำรวจผู้ประกอบการธุรกิจ เริ่มมองภาพ ศก.ในมุมลบ คาดจีดีพีติดลบ 2-4% พร้อมฝากความหวังที่แผนกระตุ้น ศก.ปี 52 วงเงิน 1.56 ล้านล้านบาท พลิกสถานการณ์จีดีพีเป็นบวกในปี 53 ส่วนสถานการณ์ปัจจุบัน พบเอกชนร้อยละ 74.9 ขาดสภาพคล่อง หนัก คาดอีก 8 เดือนอาจต้องปลดคนงานล็อตใหญ่ 7 แสนตำแหน่ง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความเห็น “สภาพคล่องและสถานภาพธุรกิจไทย” จากการสำรวจ 800 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่าง 26-31 มีนาคม 2552 พบว่า ภาคเอกชนร้อยละ 54.9 เชื่อว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ จะติดลบประมาณร้อยละ 2-4 แต่ก็มีความหวังว่า เศรษฐกิจปี 2553 จะฟื้นตัวและจีดีพีจะเป็นบวกร้อยละ 3-4 เนื่องจากคาดหวังว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จะประสบความสำเร็จ
โดยภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินในช่วงไตรมาส 3 และเร่งโครงการเมกะโปรเจกท์ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน รวมทั้งเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน 1.56 ล้านล้านบาท ซึ่งภาคเอกชนคาดหวังว่า หากรัฐบาลทำได้จะทำให้เศรษฐกิจปี 2553 ฟื้นตัวดีขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่า นักธุรกิจส่วนใหญ่ร้อยละ 74.9 ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง และร้อยละ 60 เข้าถึงสินเชื่อได้ยาก โดยนักธุรกิจร้อยละ 93 มีความกังวลกับยอดขายที่ตกลง และเชื่อว่า จะสามารถประคับประคองธุรกิจของตนเองได้ประมาณ 8 เดือน โดยในภาคเอสเอ็มอีจะประคับประคองสถานการณ์ได้น้อยที่สุด และส่วนใหญ่จะใช้กำไรสะสมของบริษัทที่มีอยู่ประคอบธุรกิจในช่วงนี้ ซึ่งหากว่า ภายใน 8 เดือนสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น และเอกชนไม่สามารถมีสภาพคล่องเสริม การจ้างงานจะลดลงร้อยละ 10 หรือจะมีคนงานตกงานประมาณ 7 แสนคน ทำให้ตัวเลขการว่างงาน 1.5 ล้านคน ที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้เป็นไปได้
ดังนั้น ภาคเอกชนจึงหวังให้รัฐบาล ใช้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เช่น เอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) มาช่วยเหลือในการปล่อยสินเชื่อในภาวะที่ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ได้ยากลำบาก
ทั้งนี้ หอการค้าไทย ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประชุม 8 เมษายน 2552 นี้ อาจจะลดดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.5 เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยของเอกชน
สำหรับคำถามที่ว่า จะมีการขยายการลงทุนหรือไม่ นักธุรกิจ ร้อยละ 74 ไม่แน่ใจว่า จะมีการขยายการลงทุนหรือไม่ และร้อยละ 73 ไม่แน่ใจว่าจะขยายการตลาดหรือไม่ แต่ก็มีนักธุรกิจบางส่วน คือ ร้อยละ 11 ที่ระบุว่า อาจจะขยายการลงทุนและขยายตลาดในช่วงต้นปีหน้า
นายธนวรรธน์กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ ยังพบว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อธุรกิจมากที่สุด คือ สถานการณ์การเมือง โดยมีคะแนนสูงถึง 7.25 ขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจโลก มีคะแนน 7.05 ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล เป็นปัจจัยบวก แต่มีคะแนนเพียง 5.83