xs
xsm
sm
md
lg

ผวาไข่แม้วแดงตกอับ เดินแผนแตกหัก หวังทุบ ศก.ไทยดิ่งเหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“แบงก์ชาติ” เชื่อสถานการณ์การเมืองรุนแรงแน่ หลังไข่แม้วแดงเลือดเข้าตา พล่านโฟนอินปลุกลิ่วล้อให้ปะทะแตกหัก หวั่นเป็นแผนทิ้งไพ่ใบสุดท้าย ยอมหักไม่ยอมงอ ฉวยโอกาสทุบ ศก.ไทย ไตรมาส 2 ทรุดหนักกว่า -9% ตามที่เคยคาดการณ์เอาไว้ พร้อมปัดข้อเสนอทำบาทอ่อน หวั่นบิดเบือนกลไกตลาด ขณะที่ นักวิชาการ ม.หอการค้า เชื่อ การชุมนุมยืดเยื้อ เพราะผู้นำม็อบมีเป้าหมายให้ปะทะรุนแรง ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวให้ทรุดหนัก

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรงขึ้น เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งจากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ยอมรับว่า ยังมีความกังวลเรื่องสถานการณ์การเมือง และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในปัจจุบันและในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งอยู่ที่ 37.4 และ 41.8 ก็ยังต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนถึงความกังวลของผู้ประกอบการต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ โดย ธปท.เห็นว่า หากการเมืองมีความรุนแรงมากขึ้น อาจจะเป็นตัวฉุดทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากกว่านี้

โดยภาวะเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์ยังคงหดตัว แต่มีข้อมูลเศรษฐกิจบางตัวปรับตัวดีขึ้น สะท้อน ว่า เศรษฐกิจกำลังปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุล โดยผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.9 เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น เช่น หมวดอิเลกทรอนิกส์ ขณะที่การส่งออกแม้ว่าจะหดตัวต่อเนื่องร้อยละ 11 มูลค่า 11,582 ล้านดอลลาร์ แต่การนำเข้าที่หดตัวมากขึ้นถึงร้อยละ 43.5 มูลค่า 7,635 ล้านดอลลาร์ ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 3,946 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจคือ การที่รัฐบาลเร่งการเบิกจ่ายมากขึ้น และเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยชดเชยการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวลง ร้อยละ 7.1 และการลงทุนหดตัวลงร้อยละ 12.9

ส่วนข้อเสนอของ นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ให้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไว้ที่ 37 บาทต่อดอลลาร์ เพื่อหนุนการส่งออกนั้น ธปท.เห็นว่า ไม่ควรฝืนตลาด และควรให้ผู้ส่งออกได้ปรับตัวเอง ด้วยการซื้อป้องกันความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า ซึ่งที่ผ่านมาผู้ส่งออกสามารถปรับตัวได้ดี และยืนยันว่า เงินบาทขณะนี้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในการสัมมนาเรื่อง “อาเซียนซัมมิต : วิกฤตหรือโอกาสธุรกิจไทย” โดยระบุว่า หากสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงยืดเยื้อ อาจกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม พร้อมเชื่อว่า หากไม่มีความรุนแรงถึงขั้นปะทะ สลายการชุมนุม หรือปฏิวัติ เชื่อว่า จะไม่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม เพราะเศรษฐกิจมีการชะลอการลงทุนอยู่แล้วตามสถานการณ์โลก

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า นักลงทุนไทยและต่างชาติยังจับตาการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ว่า จะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป ขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ถือเป็นช่วงที่มีการชะลอตัวด้านการลงทุน การชุมนุมทางการเมืองจึงไม่มีผลกระทบมากนัก แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาการเมืองขณะนี้ มี 3 ส่วน คือ การท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมีความกังวล จึงกระทบกับธุรกิจโรงแรมและสายการบิน หากเหตุการณ์ยังยืดเยื้อและรุนแรง จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ ปัญหาการเมืองยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ที่รัฐบาลแจกจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอาจไม่มีผล เพราะคนกังวลจนไม่กล้าใช้จ่าย ถ้ารัฐบาลบริหารงานไม่มีความชัดเจน เศรษฐกิจอาจขาดแรงกระตุ้นจากภาครัฐ เศรษฐกิจของไทยจึงมีแนวโน้มชะลอตัวอยู่

ทั้งนี้ หากรัฐบาลจัดการปัญหาม็อบได้และไม่มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น เชื่อว่า ทุกอย่างจะคลี่คลายไปในทางที่ดี แต่ถ้ารัฐบาลจัดการไม่ได้การชุมนุมประท้วงปานปลายและมีความรุนแรงเกิดขึ้น ก็จะซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ทรุดตัวหนักมากขึ้น

นายธนวรรธน์ ระบุเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นยังส่งผลต่อการความเชื่อมั่นด้านการบริโภค ส่วนนักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจไทยไม่มีเสถียรภาพ จึงมีความกังวลเกิดขึ้น ถ้าไม่มีความรุนแรงแนวโน้มเศรษฐกิจจะคลี่คลายและฟื้นตัวภายในกลางปีหรือปลายปีนี้ จึงต้องจับมองใกล้ชิดว่า การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงจะยืดเยื้อหรือไม่ เพราะกลุ่มคนเสื้อแดงประกาศว่าจะการชุมนุมครั้งนี้ จะถึงขั้นแตกหัก จึงมีความกังวลสูง

“คาดว่า เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 จะติดลบ 5% แน่นอน แต่ไตรมาสที่ 2 โครงการแจกเช็คช่วยชาติให้ผู้ประกันตนคนละ 2,000 บาท จะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท มีผลให้เศรษฐกิจขยายตัวติดลบราว 2-3% ส่วนไตรมาสที่ 3 รัฐบาลยังไม่มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา”

นายธนวรรธน์ ยังคาดหวังว่า การชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่างๆ จะไม่ยืดเยื้อ และหวังให้รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวติดลบ 1-2% สำหรับไตรมาสที่ 4 รัฐบาลจะกู้เงินมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.6 ล้านล้านบาท และประเมินว่านักท่องเที่ยวจะกลับมา และประเมินว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวเฉลี่ย 3% แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น