xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนหนุนรัฐขยายเวลา 5 มาตรการ 6 เดือน แนะใช้ระยะสั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาคเอกชน หนุนรัฐขยายเวลา 5 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทย ช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว "นักวิชาการ" ห่วงประชาชนไม่ประหยัด ควรใช้มาตรการนี้เป็นรอบสุดท้าย หากเศรษฐกิจฟื้นตัว ควรยกเลิกทันที

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ภาคเอกชนเห็นด้วยกับการขยายเวลาการใช้ 5 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยออกไป เพราะจะช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องเร่งกระตุ้นการใช้เงิน ตามแผนการออกพันธบัตร เพื่อการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่รวมไปถึง การผ่านร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อนำเงินมาอัดฉีดใส่ลงในระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค

ด้านนายนิเวศน์ เหมวชิรวรากร ที่ปรึกษาสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย กล่าวว่า เห็นด้วยหากรัฐบาลจะขยายอายุ 5 มาตรการ 6 เดือน ของรัฐออกไปอีกระยะหนึ่ง หลังสิ้นสุดมาตรการในเดือนกรกฎาคม 2552 นี้ เพราะจะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อภาคประชาชน ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี แต่ควรเป็นการต่ออายุในรอบสุดท้ายเท่านั้น เพราะหากทำต่อไปในระยะยาว จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาลจนเป็นเหตุให้รัฐต้องหันมาปรับเพิ่มอัตราภาษี ซึ่งจะส่งผลเสียต่อภาคธุรกิจ และการลงทุนในอนาคต

"ผมมองมองว่า รัฐบาลไม่ควรเข้ามามีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจมากจนเกินไป แต่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตตามกลไกตลาดเสรี"

นอกจากนี้ นายนิเวศน์ ยังมองว่า หลังจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 400,000 ล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รัฐบาลควรเร่งเดินหน้าโครงการที่พัฒนาด้านขนส่งมวลชน ซึ่งจะช่วยสร้างการแข่งขันภาคเอกชน ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด และเป็นผลดีต่อการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ

ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการขยายเวลาการใช้ 5 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยออกไปอีก เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเพียงแต่ต้องระวังด้านผลลบ ที่จะทำให้ประชาชนไม่ประหยัด และเมื่อเห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ควรยกเลิกทันที

นอกจากนี้ ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ม.หอการค้า ยังเห็นด้วยที่รัฐบาลยกเว้นเรื่องการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม เพราะต้องรับภาระเดือนละกว่า 1,000 ล้านบาท และยังเป็นการบิดเบือนโครงสร้างราคาพลังงาน ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่ประหยัด
กำลังโหลดความคิดเห็น