xs
xsm
sm
md
lg

เดิมพันหมดหน้าตักชาติ 8 แสนล้านบาท แผนกู้เงินที่ไม่มีแผนคืนหนี้!

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

น่าเห็นใจรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ต้องเข้ามาบริหารประเทศในยามที่โลกเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จนเป็นผลทำให้รัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ แล้วยังมาเจอโรคร้ายต่างๆ นานาชนิดในหลายประเทศ เกิดการจลาจลเผาบ้านเมือง จนส่งผลทำให้การท่องเที่ยวซบเซา ภาคอุตสาหกรรมลดกำลังการผลิต และสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ที่ให้กับธุรกิจหดตัวลง

การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในเวลานี้ยังคงยึดมาตรการทางการคลังโดยการกู้เป็นหลัก โดยรัฐบาลได้ทำแผนกู้เงิน 8 แสนล้านบาทนี้แบ่งเป็นการกู้โดยพระราชกำหนด 4 แสนล้านบาท กู้โดยพระราชบัญญัติอีก 4 แสนล้านบาท

เงินจำนวน 8 แสนล้านบาทนี้ 2 แสนล้านบาทแรกจะมาใช้สมทบเงินคงคลัง ชดเชยรายได้ของรัฐในปีนี้ที่เก็บภาษีไม่เข้าเป้า ส่วนที่เหลืออีก 6 แสนล้านบาทจะมาใช้จ่ายในโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่มียอดเงินลงทุนทั้งหมด 1.4 ล้านล้านบาทโดยประมาณ

2 แสนล้านบาทที่รัฐบาลนำมาสมทบเงินคงคลัง ก็เพราะเหตุว่าผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 ต่ำกว่าประมาณการ 128,933 ล้านบาทเฉลี่ยแล้วจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการเดือนละ 18,419 ล้านบาท ดังนั้นปีนี้ก็น่าจะจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 221,028 ล้านบาท

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้เคยกล่าวเอาไว้ในการชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรหลายครั้งว่า เมื่อรายได้การจัดเก็บลดลงเพราะปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกนั้น รัฐบาลมีทางเลือกในการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ 3 แนวทาง

1. จัดเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้น 2. กู้เงิน และ 3. ขายสมบัติของชาติ

ปัญหามีอยู่ว่าแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้พูดถึงว่าประเทศไทยมีแค่ 3 ทางเลือก มีแค่นั้นจริงหรือไม่?


การขายสมบัติของชาติเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าไม่อยากทำ ส่วนการจัดเก็บภาษีก็ได้มีมติคณะรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 ให้ปรับเพิ่มอัตราภาษีเบียร์ สุราขาว สุราผสม และบรั่นดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่คัดค้านและให้การสนับสนุน

แต่ส่วนการกู้เงินจำนวนมากถึง 8 แสนล้านบาทนั้น เงินกู้ 2 แสนล้านบาทแรกเป็นสิ่งที่เข้าใจได้เพราะเป็นปัญหาเผชิญหน้าที่รัฐบาลเงินขาดมือ 2 แสนล้านบาทต่อมาก็ยังอาจจะพอกล้ำกลืนฝืนฟังได้ว่าจำเป็นต้องกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ส่วนอีก 4 แสนล้านบาทที่เตรียมให้สภาอนุมัตินั้นเป็นการจัดทำนอกงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 และก็ยังไม่เข้าตามกระบวนการตามวิธีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 อีก ทั้งๆ ที่เป็นการกู้เงินที่เตรียมใช้ในโครงการต่างๆ ถึงปี 2555 ย่อมถูกครหาได้ว่าเป็นการ “เร่งรีบจนเกินงาม”

ที่ว่า “เร่งรีบจนเกินงาม” ก็เพราะได้ข้ามขั้นตอนการตรวจสอบและกลั่นกรองตามวิธีพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งจะมี วาระแรก คือ การอภิปรายรับหรือไม่รับหลักการในชั้นสภาผู้แทนราษฎร วาระที่สอง จะมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อกลั่นกรองเป็นรายโครงการและให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นๆ ได้เข้ามาชี้แจงในรายละเอียดจนถึงขั้นลดทอน ปรับ หรือยกเลิกโครงการที่ไม่จำเป็น หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ วาระที่สามในชั้นการรับรองของวุฒิสภา

และที่น่าเป็นห่วงก็คือ การกู้เงินถึง 8 แสนล้านบาท ที่เตรียมใช้ระยะยาวต่อเนื่องถึงปี 2555 นั้น ไม่มีเอกสาร หรือแผนงานที่จะระบุถึงทิศทางที่จะคืนหนี้ที่กู้เหล่านั้นได้อย่างไร และเมื่อไร!?

หนี้สาธารณะ ณ เดือนมีนาคม 2552 มียอดอยู่ที่ 3.7 ล้านล้านบาท ถ้ายังไม่มีแผนคืนหนี้อย่างชัดเจน หรือใช้วิธีแบบเดิมๆ โดยการกู้เงินใหม่มายืดหนี้หรือคืนหนี้เงินเก่าไปเรื่อยๆ เงินกู้ 8 แสนล้านบาทที่รัฐบาลกำลังจะขอความเห็นชอบจากรัฐสภานั้น จะทำให้หนี้สาธารณะของชาติเพิ่มพอกพูนกลายเป็น 4.5 ล้านล้านบาท

4.5 ล้านล้านบาท กำลังจะเป็นยอดหนี้สาธารณะที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย และหมายความว่าคนไทยต้องแบกรับหนี้สาธารณะที่รัฐบาลก่อขึ้น ถ้าประชากรไทยมีจำนวน 64 ล้านคน ก็ตกหัวเฉลี่ยมีหนี้สาธารณะต่อคน คนละ 70,312 บาท ซึ่งจะต้องชดใช้ด้วยวิธีการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจากประชาชนในอนาคต

ถึงเวลานี้ รัฐบาลไม่ควรจะเอาตัวเลขหนี้สาธารณะมาเทียบสัดส่วนอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเพื่อชักจูงว่าไม่ได้มากเกินไปเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ แต่รัฐบาลควรจะต้องตอบคำถามให้ได้ด้วยว่าเงินที่ลงไปนั้นจะสร้างรายได้กลับคืนมายังรัฐบาลในอนาคตเพื่อคืนหนี้ได้จริงหรือไม่ เมื่อฐานภาษีของประเทศไทยไม่ครอบคลุมและรัดกุมเหมือนกับอีกหลายประเทศ!?

มิพักต้องพูดถึงว่าเงินงบประมาณตามโครงการต่างๆ ของไทย มันรั่วไหลมากขนาดไหน?

อันที่จริง จะมากล่าวโทษรัฐบาลชุดนี้เพียงชุดเดียวก็คงจะไม่ได้ เพราะเป็นเวลา 12 ปีติดต่อกันมาแล้ว ที่รัฐบาลไทยได้ใช้วิธีขาดดุลงบประมาณมาโดยตลอด ทั้งการกู้เงินโดยอ้างว่าเพื่อแก้ไขวิกฤตบ้าง ทั้งการกู้เงินเพื่ออ้างว่าจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง ทั้งการกู้เงินเพื่อหาเสียงบ้าง โดยที่ไม่มีรัฐบาลชุดไหนสนใจว่าจะหาทางคืนเงินกู้เหล่านี้ได้อย่างไร เพียงแค่ขอให้รัฐบาลตัวเองได้กู้เงินและใช้จ่ายงบประมาณกันอย่างเต็มที่อิ่มหนำสำราญ และทิ้งหนี้สาธารณะให้รัฐบาลชุดต่อๆ ไปรับเคราะห์ในการจัดเก็บรายได้ในอนาคตกันเอาเอง

เมื่อรัฐบาลชุดไหนต้องถึงเวลาชำระหนี้ ก็ไม่กล้าจัดเก็บภาษีจากประชาชนเพิ่มขึ้น และใช้วิธีการถ่วงเวลาด้วยการกู้เงินมาเพิ่มไปเรื่อยๆ เป็นการเพิ่มหนี้และดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ อย่างไร้จุดหมายว่าจะไปจบลงเมื่อไร

เศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นเพียงแค่ลมปากของนักการเมือง เพราะใน 12 ปีมานี้ไม่มีรัฐบาลชุดไหนคิดถึงอนาคตของชาติว่าเมื่อไรเราจะมี “งบประมาณที่สมดุล” หรือ “งบประมาณเกิดดุล” เพื่อที่จะเริ่มใช้หนี้สินที่ก่อขึ้นมาได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ หนี้ที่รัฐบาลและคนไทยทั้งหมดต้องแบกรับทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของตัวเองเลยก็คือ “กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน”

“กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน” ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ล้มเหลวในการกำกับดูแลสถาบันการเงินภายใต้นโยบายทางการเงินที่ผิดพลาดของรัฐบาลมาโดยตลอด เริ่มต้นจากความล้มเหลวในการวางกลไกและระบบของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยตลอดระยะเวลา 2535 – 2540 จนหนี้ภาคเอกชนสูงขึ้นโดยไม่มีการควบคุม ประเทศชาติต้องเสียหายจากการขาดทุนจากความล้มเหลวในการปกป้องค่าเงินบาทในปี 2540 จนแทบหมดทุนสำรองระหว่างประเทศ ประชาชนชาวไทยต้องแบกรับความเสียหายจากความฉ้อฉลของสถาบันการเงินที่ไม่มีธรรมาภิบาลจนเกิดเหตุที่ต้องปิดสถาบันการเงิน 56 แห่งเป็นการถาวรในปี 2540 ประเทศชาติต้องรับภาระหนี้สินจากความเสียหายจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ที่ประมูลทรัพย์สินของคนไทยให้ต่างชาติในราคาถูกๆ จนขาดทุนไปไม่ต่ำกว่า 5 – 7 แสนล้านบาท ในช่วงระหว่างปี 2540 – 2543 และยังต้องแบกรับความเสียหายจากการประมูลทรัพย์สินของคนไทยให้กับพรรคพวกของนักการเมืองในราคาถูกๆ อย่างไร้จริยธรรมในช่วงปี 2544 -2549

หนี้จากความเสียหายที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากความฉ้อฉลในการดำเนินงานของ ปรส. และการดำเนินงานที่ไม่มีธรรมาภิบาลของสถาบันการเงิน ตลอดจนความล้มเหลวกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน กลายเป็นหนี้ที่โยนให้กระทรวงการคลังและคนไทยทั้งชาติต้องแบกรับภาระอย่างไม่เป็นธรรม

หนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้ถูกชดเชยโดยรัฐบาลได้กู้ตรงด้วยการออกพันธบัตรกู้ซ้ำไปมา สร้างหนี้ใหม่เพื่อคืนหนี้เก่าไปเรื่อยๆ ดอกเบี้ยพูนพอก 12 ปีติดต่อกัน จนปัจจุบันยอดหนี้ที่รัฐบาลออกพันธบัตรชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนฟื้นฟูแห่งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2552 กลายเป็น 1.16 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับหนี้ของตัวกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเองที่มีหนี้อยู่อีกประมาณ 110,258 ล้านบาท รวมหนี้ที่เกี่ยวเนื่องมาจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินทั้งสิ้น 1.27 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 34.42 ของหนี้สาธารณะทั้งหมด

หนี้สินที่เกี่ยวเนื่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเพิ่มจาก 7 แสนล้านบาท กลายเป็น 1.27 ล้านล้านบาท มาจากดอกเบี้ยที่พอกพูนและความเสียหายที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมาการออกพันธบัตรกู้เงินนับล้านล้านบาท วนเวียนอยู่กับเรื่องความเสียหายของสถาบันการเงินโดยที่คนไทยทั้งชาติไม่ได้ประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

นอกจากธนาคารพาณิชย์ที่ได้กำไรจากการซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยได้กำไรส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลกับดอกเบี้ยเงินฝากของผู้ฝากเงิน โดยไม่ต้องไปปล่อยสินเชื่อที่ไหนให้มากเรื่องมากความ

ถึงเวลาหรือยัง ที่จะต้องเริ่มคิดถึงความรับผิดชอบกับผู้ที่ทำให้ชาติเสียหาย ควบคู่ไปกับการโยนภาระหนี้สินเหล่านี้กลับไปหาผู้ที่ดูแลกำกับสถาบันการเงินโดยตรงอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีส่วนสำคัญในการทำให้บ้านเมืองเป็นเช่นนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีฐานะที่แข็งแกร่งขึ้น ในขณะที่ภาคการคลังซึ่งอ่อนแอกว่ากลับยังคงต้องแบกรับภาระหนี้สินอันมหาศาลของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินต่อไปไม่รู้จบสิ้น

สังเกตได้จากวันนี้ทุนสำรองระหว่างประเทศมีสูงถึง 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นฝีมือของพ่อค้าผู้ส่งออกและภาคบริการ นับเป็นตัวเลขสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 4.15 ล้านล้านบาท และเดือนเมษายน 2552 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศฐานะของตัวเองว่ามีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 4.5 ล้านล้านบาท และมีส่วนกำไรสะสมและทุนรวมถึง 847,048 ล้านบาท ซึ่งถือว่าแข็งแกร่งกว่าภาคการคลังมาก

ถ้ารัฐบาลคิดนอกกรอบก็จะไม่วนเวียนอยู่กับทางออกเพียงแค่ การขึ้นภาษี, การกู้, หรือการขายสมบัติของชาติ และถ้าเชื่อว่าภาคเอกชนมีประสิทธิภาพ และรั่วไหลน้อยกว่าการใช้ภาคการคลัง ก็ต้องไม่คิดกู้เงินมหาศาลมากมายเช่นนี้เพียงอย่างเดียว เพราะในอันที่จริงแล้วยังมีอีกหลายมาตรการที่สามารถทำให้ประสิทธิภาพทางการคลังได้มากกว่า

ตัวอย่างเช่น การลดรายจ่ายงบประมาณโครงการที่ยังไม่จำเป็นและรั่วไหล, การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ลดการทุจริตและรั่วไหลรวมทั้งการเพิ่มค่าเช่าที่ดินของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่รั่วไหลและราคถูกเกินไป, การบริหารจัดการให้ค่าเงินบาทอ่อนและมีเสถียรภาพเพื่อให้เอกชนสามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศ, การใช้ธนาคารของภาครัฐลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากตลอดจนนำตลาดปล่อยสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ภาคเอกชน, การให้ ปตท.นำตลาดลดกำไรที่เกินควรเพื่อลดค่าใช้จ่ายพลังงานของประชาชน ฯลฯ

ตัวอย่างบางส่วนข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องติดยึดรูปแบบเดิมๆ ด้วยการกู้เงินและใช้จ่ายงบประมาณที่เอื้อประโยชน์ให้กับธนาคาร ผู้รับเหมา หรือนักการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่รัฐบาลต้องหันกลับมามองด้วยว่า เดิมพันความเสี่ยงของคนไทยทั้งชาติด้วยการกู้เงินครั้งนี้มากถึง 8 แสนล้านบาทแล้ว หากการใช้จ่ายงบประมาณรั่วไหล และปลายปีเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นขึ้นตามเป้าหมาย รัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไรไหว?
กำลังโหลดความคิดเห็น