xs
xsm
sm
md
lg

ชี้คลังกระเป๋าตุงแม้รายได้วืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-บิ๊กบลจ.ฟันธงฐานะการคลังไทยอู่ฟู่ แม้ปี 52 เก็บรายได้ไม่เข้าเป้า ระบุเงินสำรองไทยยังมีเหลือเฟือ ทรัพย์สินในต่างประเทศสามารถค้ำประกันเงินบาทได้เต็ม 100% พร้อมแนะ 3 แนวทาง ระดมเงินเข้ารัฐ ขึ้นภาษีน้ำมัน เก็บส่วยรัฐวิสาหกิจ และนำทรัพย์สินของกรมธนารักษ์มาใช้มากขึ้น มั่นใจได้งบประมาณเพิ่มอีกหลายหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันจี้แบงก์ชาติปล่อยกู้ตรงให้เอกชน หลังการลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่มีแรงกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงพอ

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บลจ.เอ็มเอฟซี เปิดเผยว่า จากข้อมูลเบื้องต้นขณะนี้ตนเองมองว่า ฐานะทางการคลังของประเทศยังแข็งแกร่งอยู่ แต่หากจะต้องกู้เงินมาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณมากกว่าที่ทำอยู่ในปีนี้ จะไม่สามารถทำได้อีก เพราะรัฐบาลได้ใช้วงเงินกู้ภายในประเทศไปเต็มเพดานที่มีอยู่แล้ว โดยจะต้องพิจารณาอีกครั้งในปีหน้าว่าจะทำอย่างไร
ทั้งนี้ การที่ฐานะการคลังของประเทศยังดีมาก เนื่องจากใน ปี2552 งบประมาณบวกงบพิเศษรวมกันอยู่ที่ประมาณ 1.95 ล้านล้านบาท ซึ่งตามบัญชีจะเท่ากับมียอดขาดดุลจำนวน 3.50 แสนล้านบาท หรือประมาณ 3.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
นอกจากนี้ เชื่อว่าในปี2552 นี้รัฐบาลจะเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าแน่นอนโดยคาดว่าจะจัดเก็บได้ต่ำกว่าคาดดประมาณ 1.5 แสนล้านบาท จึงทำให้รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณรวมแล้วประมาณ 5 แสนล้านบาทหรือประมาณเกือบ 5% ของ GDP
“เพดานการก่อหนี้ของภาครัฐในส่วนของเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งเป็นการกู้ในประเทศต้องไม่เกิน 20% ของงบรายจ่ายประจำปีปกติ ดังนั้น ในงบประมาณปี2552 จะกู้ได้ประมาณ 4 แสนล้านบาทก็น่าจะเต็มเพดานแล้ว แล้วยังมีส่วนบวกเพิ่มงบขอชำระคืนเงินต้นก็จะได้มาอีกนิดหน่อยเท่านั้น”นายณรงค์ชัยกล่าว
ทั้งนี้ คาดว่าการทำงบประมาณดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศเพิ่มจาก 37% ขึ้นไปเป็น 43% ของ GDP ในสิ้นปีงบประมาณ 2552
อย่างไรก็ตาม กรอบเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังต้องไม่เกิน 50% ของ GDP ดังนั้นในปี2553 รัฐบาลยังสามารถที่จะก่อหนี้เพิ่มได้อีกประมาณ 7% จึงจะถึงเพดาน หรือกู้ได้อีกประมาณ 7 แสนล้านบาทในปีหน้า
นายณรงค์ชัย กล่าวอีกว่า จากงบประมาณปี2553 ที่ทำไว้ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท จะเป็นงบขาดดุลประมาณ 3.98 แสนล้านบาท หรือประมาณ 4.0% ของ GDP และจะทำให้รัฐก่อหนี้ได้ประมาณ 4 แสนล้านบาท หรือประมาณ 4% ของ GDP เท่านั้น ซึ่งโดยรวมแล้วก็ยังทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะไม่ถึง 50% ต่อ GDP ดังนั้นฐานะการคลังของประเทศไทยจึงถือว่าแข็งแกร่งอยู่มาก
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีเงินสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง ณ วันที่27 ก.พ. 2552 มีเงินสำรองระหว่างประเทศ 113.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มี Net Forward 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมกันประมาณ 117.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนนี้จะมีทุนสำรองเงินตราอยู่ประมาณ 8 แสนล้านบาท ที่หนุนหลังเท่ากับมูลค่าธนบัตรที่ออกใช้ โดยพรบ.เงินตรากำหนดให้มีสินทรัพย์ต่างประเทศในทุนสำรองเงินตราหนุนหลังไม่ต่ำกว่า 60% ของมูลค่าธนบัตรที่ออกใช้ ดังนั้นธนบัตรของไทยแข็งแรงมากเพราะมีเงินทุนสำรองเงินตราหนุนหลังทั้งหมด 100% จึงสบายใจได้ว่าธนบัตรของไทยมีความมั่นคงมีเงินทุนหนุนหลังครบถ้วน
ส่วนระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยเอง ณ วันนี้ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่มาก ดูได้จากสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนแบบกว้างโดยดูหลักทรัพย์ซึ่งปราศจากภาระผูกพันของระบบธนาคารพาณิชย์มีอยู่ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท มีเงินฝากที่แบงก์ชาติ 7.2 หมื่นล้านบาท เงินสดที่ธนาคารพาณิชย์ 1.31 แสนล้านบาท และสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรง 4.27 แสนล้านบาท ดังนั้นมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่ 1.4 ล้านล้านบาท แต่เป็นเงินสภาพคล่องที่ล้นระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ประมาณ 4 แสนล้านบาท
“แนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอัตราการกู้ไม่เพิ่มในขณะที่อัตราการฝากยังไม่ลดลง ตอนนี้เงินฝากมากกว่าเงินกู้ประมาณ 14% จะเห็นว่าระบบธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันมีเงินมาก ต่างจากวิกฤติปี2540 ที่ทุนสำรองก็ไม่มี บริษัทขาดทุนมหาศาล การคลังแย่มาก ระบบธนาคารพาณิชย์ก็ตายเกือบหมด แต่วันนี้ฐานะการคัลของประเทศดีมาก ระบบธนาคารพาณิชย์แข็งแกร่งมาก”
ดร.ณรงค์ชัย กล่าวอีกว่า ทางเลือกในการระดมเงินของภาครัฐน่าจะทำได้หลายวิธี แต่ที่อยากแนะจะมีด้วยกัน 3 แหล่ง ได้แก่ 1) เก็บภาษีอากรเพิ่ม เช่น ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพราะราคาน้ำมันในปีที่แล้วกับปัจจุบันปรับตัวลงมามากแล้วสามารถเก็บภาษีน้ำมันได้อีกมากจะทำให้ได้เงินมาใช้อีกมาก 2) ทรัพย์สินของกรมธนารักษ์ ซึ่งที่ผ่านมายังนำมาใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่นัก และ 3) การให้รัฐวิสาหกิจนำส่งเงินรายได้ให้มากขึ้น ซึ่งการหารายได้จาก 3 ช่องทางนี้สามารถทำได้ทั้งหมดซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นหลายหมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ยังอาจจะหาทางเลือกการระดมทุนจากการจัดตั้งและออกกองทุนรวมวายุภักษ์ หรือการใช้รูปแบบการลงทุนแบบ Public Private Partnership : PPP เป็นวิธีการระดมทุนโดยรัฐบาลไม่ต้องเป็นหนี้แต่อาจจะต้องไปแก้ไขกรอบมูลค่าของโครงการที่ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 1,000 ล้านบาท เท่านั้น ซึ่งอาจจะมีขนาดเล็กไปสำหรับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ หรือการใช้เงินสำรองระหว่างประเทศซึ่งน่าสนใจเอามาซื้อพันธบัตรในประเทศเอเชียด้วยกันได้มั้ย เพราะเงินสำรองระหว่างประเทศเอามาใช้โดยตรงก็ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่ถ้าเราออกพันธบัตรรัฐบาลแล้วรัฐบาลเกาหลีมาซื้อ หรือรัฐบาลเกาหลีออกพันธบัตรแล้วเราเอาไปซื้อ เป็นต้น
“การให้แบงก์ชาติซื้อพันธบัตรของภาคเอกชนเพราะเอกชนไปกู้แบงก์ยากก็กู้จากแบงก์ชาติเลยเป็นการคิดนอกกรอบ ซึ่งอังกฤษและสหรัฐทำแล้ว หรือการให้แบงก์ชาติให้ธนาคารของรัฐกู้เพื่อปล่อยกู้ต่อธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SME) เพราะตอนนี้ธนาคารพาณิชย์ไม่ค่อยอยากจะปล่อยกู้ เป็นต้น แม้ว่าสิ่งเหล่านี้ในภาวะปกติไม่ควรทำอย่างยิ่งเพราะไม่ใช่หน้าที่ของแบงก์ชาติ แต่ในภาวะวิกฤติเช่นนี้จะเห็นว่าธนาคารกลางของสหรัฐ ธนาคารของอังกฤษ และอีกหลายประเทศในยุโรปต้องทำเพื่อให้เศรษฐกิจอยู่รอดคิดในกรอบไม่ได้ หรือการประหยัดรายจ่ายที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ใช่งบลงทุนที่เร่งด่วนของรัฐบาลรวมถึงการจ่ายเงินที่เกินกว่าที่จำเป็นด้วย ยกตัวอย่างนมโรงเรียน ถ้าทำแบบตรงไปตรงมาไม่โกงจะประหยัดงบประมาณได้ขั้นต่ำ 15% จากงบประมาณ 12,000 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งจะเหลือเงินนำไปใช้ได้อีกมากทีเดียว”
ดร.ณรงค์ชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการใช้นโยบายการเงินผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (R/P 1 วัน) เป็นที่ยอมรับทั่วโลกแล้วว่าไม่สามารถที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะมีแต่ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากลดลงในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ลดลงตาม ดังนั้นแบงก์ชาติจึงน่าจะหันมาดูนโยบายด้านปริมาณเงิน (MS) ให้มากขึ้นด้วยการเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบแทนการลดอัตราดอกเบี้ย พร้อมกับการใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กันไป โดยการคาดการณ์ตัวเลข GDP ไม่ใช่สาระสำคัญในตอนนี้เพราะไม่มีใครที่รู้จริง แต่เราควรจะนำเงินที่มีอยู่มาดูแลภาคการผลิตเพื่อการส่งออกที่กำลังประสบปัญหา มาสร้างงาน ดูแลคนที่ต้องตกงานเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันก่อน เพราะเชื่อมั่นว่าตัวเลข GDP ของไทยจะไม่ติดลบรุนแรงเหมือนปี2540 อย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น