xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มเกษตรกรฯ ยื่นหนังสือถึง “มาร์ค” หนุนการทำหน้าที่ “สังศิต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้แทนกลุ่มพัฒนาอาชีพเกษตรกร 4 ภาค เข้าพบ นายกรัฐมนตรี ยื่นหนังสือสนับสนุนการทำหน้าที่ “สังศิต” ชี้ ที่ผ่านมาสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ให้เกษตรกรได้ 4,000 ราย ในเวลา 6-8 เดือน ขณะที่ “สังศิต” ของบปี 53 อีก 2 พันล้าน หวังซื้อหนี้เกษตรกรอีก 4,500 ราย ขอนายกฯเจ้าภาพ ออกทีวีชี้แจง กระบวนการหักหัวคิวเกษตรกร อ้างปี 53 ขอใช้เงิน 2 พันล้าน แก้หนี้ 4.5 พันราย

วันนี้ (29 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสมบุญ สุวรรณปัญญา ผู้แทนกลุ่มพัฒนาอาชีพเกษตรกร จากภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ พร้อมคณะ เดินทางเข้าพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นหนังสือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ รักษาการเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ ได้รับหนังสือดังกล่าวพร้อมเปิดเผยว่า เรื่องกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นเรื่องที่มีความวุ่นวายมาเป็นเวลาหลายปี แต่รัฐบาลชุดนี้ตั้งใจจะทำให้เรื่องของกระบวนการฟื้นฟูสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้จริง ๆ ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการอนุมัติงบกลางไปแล้ว 2 ครั้ง และทำการติดตามความคืบหน้ามาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ผู้แทนกลุ่มพัฒนาอาชีพเกษตรกร กล่าวว่า ภายหลังจากที่ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการสำนักงาน กฟก.สามารถดูแลการดำเนินการของกองทุน ทั้งเรื่องภายในสำนักงาน และการฟื้นฟูดูแลจัดการแก้ปัญหาหนี้ให้กับเกษตรกรได้ถึง 4,000 ราย ในระยะเวลา 6-8 เดือน ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่มากกว่าในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ รักษาการเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร แถลงภายหลังนำคณะผู้บริหารกองทุนฟื้นฟูฯ เข้าหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่า ได้เข้าพบนายกฯ เพื่อขอให้ช่วยดูแลเรื่องงบประมาณปี 2553 ที่จะใช้ซื้อหนี้เอ็นพีแอลอายุ 6 ปีของเกษตรกร ซึ่งนายกฯ ก็บอกว่าจะช่วยดูให้ แต่ต้องเข้าใจว่าขณะนี้รัฐบาลต้องลดงบฯ ลง แต่ทางกองทุนฟื้นฟูก็ขอเพียงให้ได้งบฯ สำหรับซื้อหนี้มาตามที่มติคณะรัฐมนตรีมีไว้ และขณะนี้รัฐบาลกำลังดูให้ ยังไม่ได้ปรับลด

นายสังศิต กล่าวว่า ทั้งนี้ได้เรียนให้นายกฯ ทราบถึงสถานการณ์ที่กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย มาขอตรวจสอบสถานะหนี้ของสมาชิกเครือข่าย 7,000 คน ซึ่งกองทุนฟื้นฟูได้ตรวจสอบจนเสร็จและมอบเอกสารนั้นให้แก่เครือข่ายหนี้สินชาวนาฯ ไปตั้งแต่เมื่อกลางเดือนเม.ย. และได้ขอร้องว่าหากมีอะไร ขอให้พูดคุย และยินดีจะทำให้ทุกเรื่อง อย่างไรก็ตามเครือข่ายหนี้สินชาวนาฯ ก็ยืนยันว่าจะเอาเกษตรกรมาตรวจสอบสถานะหนี้ ซึ่งเราก็ต้องให้เขาตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. และยืดเยื้อมาจนถึงวันที่ 29 พ.ค. เครือข่ายหนี้สินชาวนาฯ ได้ขอยุติการตรวจสอบสถานะหนี้ เพราะไม่มีอะไรจะตรวจสอบอีกแล้ว ซึ่งแสดงว่าเราทำงานให้เต็มที่แล้ว และนายกฯ ก็พอใจที่เราสามารถทำงานได้เป็นอย่างดี


นอกจากนั้นกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ขอให้นายกฯ ช่วยอธิบายเรื่องนี้ผ่านทางรายการเชื่อมั่นประเทศไทย กับนายกฯ อภิสิทธิ์ ในวันอาทิตย์ 31 พ.ค. และได้ขอให้สำนักนายกฯ ช่วยเป็นเจ้าภาพรับแจ้งเรื่องร้องเรียนจากเกษตรกรที่ถูกหลอกลวงฉ้อโกง หรือถูกเรียกเงินค่าหัวคิว ซึ่งนายกฯ ก็รับปากที่จะดำเนินการให้ โดยหากสำนักนายกฯ เปิดให้รับเรื่องร้องทุกข์ ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาได้ และเป็นการสร้างความมั่นใจให้เกษตรกร เพราะนายกฯ จะเป็นผู้ที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้เอง ที่ผ่านมามีปัญหาว่าเกษตรกรไม่กล้าแจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำ เพราะเกรงว่าจะได้รับอันตรายในพื้นที่ ถ้านายกรัฐมนตรีจะลงมาดูแลเอง เกษตรกรก็จะมั่นใจมากขึ้น
ทางสำนักงานกองทุนฯ จะจัดให้มีมหกรรมการจัดการหนี้ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. เป็นต้นไป เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ สามารถตรวจสอบสถานะหนี้ของตนเองได้ ที่สำนักงานสาขาทั่วประเทศ โดยไม่ต้องเข้ามาที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้หนี้รายใดที่สามารถจัดซื้อหนี้ได้ ก็จะดำเนินการให้ที่สำนักงานสาขา


นายสุรพล เสถียรมาศ ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ กองทุนฟื้นฟูฯ กล่าวว่า ในส่วนงบฯ ปี 2553 กองทุนฟื้นฟูฯ ของบฯ ไว้ซื้อหนี้เอ็นพีแอล 6 ปีขึ้นไป จำนวน 4,500 กว่าราย ใช้วงเงิน 2,000 ล้านบาทเศษ ทั้งนี้กองทุนได้ดำเนินการจัดการหนี้ให้สมาชิกมาตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันดำเนินการได้ทั้งหมด 6,845 ราย ยังไม่รวมส่วนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ที่ดำเนินการจ่ายเช็คเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อีก 1,458 ราย และกำลังอยู่ระหว่างการโอนหลักทรัพย์และเงิน ทั้งนี้ในช่วงเวลา 9 เดือนครึ่งที่นายสังศิตมารักษาการเลขาธิการ ได้ดำเนินการซื้อหนี้ ให้เกษตรกร 3,239 ราย ใช้วงเงินประมาณ 581 ล้านบาท ยังไม่นับรวมของธกส.อีก 1,458 ราย
การดำเนินการในส่วนของปีงบประมาณ 2552 ยังมีในส่วนธกส.ที่ต้องดำเนินการต่ออีก 540 ล้านบาท และจะมีเงินที่โอนมาจากกรมส่งเสริมสหกรณ์อีก 607 ล้านบาท ซึ่งสัปดาห์หน้าจะโอนมายังกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อดำเนินการซื้อทรัพย์คืนให้กับเกษตรกรที่ผ่านมติครม.แล้ว

“ผมคิดว่าพี่น้องเกษตรกรรอความหวังจากเรา ทางเราและอ.สังศิตเอง ก็ได้เร่งดำเนินการ ทั้งการขยายสำนักงานสาขา การแบ่งทีมงานภายใน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน จึงขอเรียนให้เกษตรกรที่รอการชำระหนี้แทน เราเองจะเร่งดำเนินการให้ทันต่อเหตุการณ์ อีกประเด็นที่เรายังรออยู่ คือ เรื่องงบประมาณจากรัฐบาลที่จะมาสนับสนุนเราในการจัดการปัญหาหนี้สินของเกษตรกร” นายสุรพล กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น