เชียงราย – ม็อบหนี้สินเชียงรายได้เฮ กองทุนฯจรดปากปาลงนามใช้หนี้ให้ 100 ล้าน แขวะนโยบาย ปชป.ดีกว่าการเพิ่มเงินเดือน 2 พันบาทต่อคน “สังศิต” ย้ำเดินหน้าแก้หนี้เกษตรกรให้เสร็จภายใน 2 เดือนต่อจากนี้
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า วันนี้ (16 ม.ค.) นายสังคิต พิริยะรังสรรค์ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ได้เป็นตัวแทนของ กฟก.ในการทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กับสหกรณ์การเกษตรใน จ.เชียงราย เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกร ณ ศาลากลาง จ.เชียงราย โดยมีนายไตรสิทธิ์ สินสมบูรณ์ทอง ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย และกลุ่มเกษตรกรที่แจ้งรายชื่อต่อ กฟก.ร่วมเป็นพยาน
ส่วนสหกรณ์ที่เป็นเจ้าหนี้และร่วมลงนามมีอยู่ 7 แห่ง คือ สหกรณ์การเกษตรกร อ.เมือง สหกรณ์การเกษตร อ.เวียงป่าเป้า สหกรณ์การเกษตร อ.แม่สาย สหกรณ์การเกษตรกร อ.เชียงแสน สหกรณ์การเกษตร อ.แม่จัน สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินเชียงราย และสหกรณ์การเกษตร อ.จุน จ.พะเยา ขณะเดียวกันพบว่ามีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเข้าร่วมพิธีกว่า 100 คน
นายอมรกฤษณ์ เพชรเจริญ หัวหน้าสำนักงาน กฟก.เชียงราย กล่าวว่า การช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัวจนไม่สามารถชำระได้ ดำเนินการติดต่อกันมานานหลายปีจน กระทั่งปีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่จะมีการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์
ในส่วนของเชียงราย มีผู้ที่อยู่ในบัญชีของ กฟก.เชียงราย จำนวน 252 ราย มูลค่าหนี้สินที่ไม่สามารถชำระได้หรือหนี้เสียรวมจำนวนประมาณ 100 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือไปแล้วก่อนหน้านี้จำนวน 47 ราย เป็นเงินประมาณ 9 ล้านบาท สามารถได้คืนที่ดินที่ถูกดำเนินคดีฟ้องร้องโดยเจ้าหนี้กลับมาให้เกษตรกรได้กว่า 158 ไร่
หลังการลงนามครั้งนี้ก็จะเริ่มช่วยเหลือทั้ง 252 รายต่อไป โดยวิธีการคือ กองทุนจะซื้อหนี้สินของเกษตรกรแต่ละรายมา 50% ที่เหลืออีก 50% รัฐบาลจะรับชดเชยให้กับสหกรณ์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้พร้อมดอกเบี้ยอีก 7.5% ส่วนเกษตรกรจะสามารถผ่อนชำระหนี้ให้กับ กฟก.โดยคิดดอกเบี้ยแค่ 1% ใช้ระยะเวลาชำระได้กว่า 20 ปี
หลังแล้วเสร็จเรื่องหนี้สิ้นทาง กฟก.ก็จะช่วยฟื้นฟูพัฒนาอาชีพเพื่อความมั่นคงในชีวิตและไม่กลับมาเป็นหนี้สินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป
สำหรับขอบเขตการช่วยเหลือคือสำหรับเกษตรกรผู้ที่ถูกดำเนินคดีจนไปถึงผู้ที่ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดไปแล้วโดย กฟก.จะเจรจาขอซื้อคืนจากบุคคลที่ 3 ที่ซื้อต่อจากสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ด้วย จากข้อมูลยังพบว่าปัจจุบันยังมีผู้ที่เป็นหนี้อยู่นอกระบบที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการกับ กฟก.อีกกว่า 100 กว่าราย ซึ่งยังสามารถยื่นขอเข้าร่วมกับ กฟก.ได้ ในอนาคตจึงคาดว่าจะมีเพิ่มเข้ามาอีกหลังจากการดำเนินการรายแรกประสบความสำเร็จไปแล้ว
แหล่งข่าวจากผู้เป็นหนี้คนหนึ่ง กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ที่เป็นหนี้สินในประเทศไทยรวมกันกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งจากกรณีการช่วยเหลือเกษตรกรในลักษณะนี้ถือว่าคุ้มค่าหากว่านำงบประมาณจาก กฟก.ไปช่วยเหลือ เพราะใช้งบประมาณแต่น้อยแต่ได้ผลมากเนื่องจากช่วยฟื้นฟูเกษตรกรไทย และดีกว่าการไปเพิ่มเงินเดือนให้กับคนที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 14,000 บาทอีก 2,000 บาทอย่างมากมาย
ด้าน นายสังคิต พิริยะรังสรรค์ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ กฟก.กล่าวว่า ทั่วประเทศมีเกษตรกรขอจดทะเบียนร่วมโครงการกับ กฟก.แล้วประมาณ 300,000 ราย แต่พิจารณาดำเนินการให้แล้วจำนวน 20,000 ราย เพราะต้องพิจารณาคุณสมบัติว่าเป็นผู้ที่เดือดร้อนและไม่สามารถชดใช้หนี้สินได้จริงๆ และ กฟก.จะเร่งนำงบประมาณ 1,000 ล้านบาทเศษ ออกมาช่วยเกษตรกรชุดแรกให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้
ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลเรื่องงบประมาณ ด้านดอกเบี้ยก็จะช่วยเจรจาโดยเดิมกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เกษตรกรต้องใช้คนต่อ กฟก.ให้ต่ำลง จัดหาเงินกู้ใหม่ให้เพื่อการฟื้นฟูอาชีพเพื่อให้ทันก่อนฤดูฝนหน้าจะมาถึง ส่วนในอนาคตอยากให้ทุกฝ่ายช่วยเหลือกัน ในการนำหนี้สินนอกระบบซึ่งคาดว่ายังมีอยู่มากให้ขึ้นสู่ในระบบให้ได้ต่อไป