xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายกองทุนฯ เหน็บ “ส.ส.ระบอบแม้ว” - ชู “มาร์ค” เปลื้องหนี้ได้ผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวรวิทย์ อยู่วัฒนา ประธานกลุ่มเครือข่ายพัฒนาเกษตร จ.เชียงราย
เชียงราย – เครือข่ายกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรฯ ชูรัฐบาล “มาร์ค” ช่วยได้ผล เกษตรกรเริ่มได้รับการปลดเปลื้องหนี้สิน-ฟื้นฟูอาชีพจนมีสิทธิ์ลืมตาอ้าปากได้บ้างแล้ว พร้อมเหน็บ ส.ส.ยุค “แม้ว” ไม่จริงใจช่วย

นายวรวิทย์ อยู่วัฒนา ประธานกลุ่มเครือข่ายพัฒนาเกษตร จ.เชียงราย ในฐานะแกนนำผู้ขอความช่วยเหลือจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาการเกษตรกรในพื้นที่ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้มีผู้เดือดร้อนจากปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่สามารถชำระหนี้ได้ไปขึ้นทะเบียนกับกองทุนฯ แล้ว 180,000 คน หากรวมผู้ที่กำลังจะเข้าไปจดทะเบียนใหม่ก็คาดว่าจะมีมากกว่า 200,000 คน จากทั้งหมดประมาณ 2,500 องค์กร โดยทั้งหมดมีหนี้สินรวมกันจากตัวเลขเดิมเมื่อหลายปีก่อนประมาณ 120 ล้านบาท

สำหรับกลุ่มของตนมีจำนวน 115 คน แต่ละคนมีหนี้สินซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสหกรณ์ต่างๆ หรือบางรายเป็นหนี้ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เฉลี่ยรายละประมาณ 300,000-400,000 บาท

นายวรวิทย์กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาลูกหนี้กองทุนฯได้รับการแก้ไขอย่างน่ายินดียิ่ง โดยหลังจากที่พวกเราต่อสู้เรียกร้องกันมานานกว่า 10 ปี ปรากฏว่าในปี 2552 รัฐบาลก็ได้อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือไปยังกองทุนฯ จำนวนกว่า 3,600 ล้านบาท และในปี 2553 นี้ได้อนุมัติให้อีกกว่า 10,000 ล้านบาท แยกเป็นงบช่วยเหลือเรื่องหนี้สินประมาณ 3,000 ล้านบาท และงบฟื้นฟูอาชีพ 6,000 ล้านบาท ที่เหลืออีกประมาณ 1,000 ล้านบาทเป็นงบบริหารจัดการ ผลที่ได้รับคือผู้เป็นหนี้ในเชียงราย กว่า 500 องค์กรจำนวนไม่ต่ำกว่า 2,500 คน ได้รับการช่วยเหลือแต่ละคนต่างได้รับการประนอมหนี้และอื่นๆ จนสามารถฟื้นคืนอาชีพการงานได้แล้ว


นายวรวิทย์กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าการช่วยเหลือของกองทุนฯ เกิดขั้นในช่วงรัฐบาลชุดปัจจุบันหลังการเข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ส่วนยุคก่อนๆ นั้นตนไม่ขอพูดถึงมาก เพราะเป็นช่วงที่พวกเราต้องดิ้นรนออกมาต่อสู้เรียกร้องด้วยการชุมนุมกันหลายครั้ง บางครั้งเห็นว่าการดำเนินการล่าช้าก็พากันยกขบวนไปยังบ้านของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในพื้นที่เพื่อช่วยให้เร่งรัดไปยังรัฐบาล แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับการต้อนรับบางครั้งยังปล่อยสุนัขออกมาไล่กัดชาวบ้านอีกต่างหาก

“ปัจจุบันชาวบ้านที่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องหนี้สินไปแล้วกำลังช่วยกันเขียนโครงการพัฒนาอาชีพตัวเองตามกรอบ 4 เรื่องคือการทำนา ปลูกพืชไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เพื่อนำเสนอไปยังคณะอนุกรรมการ คณะกรรมการของกองทุนฯ ทั้งระดับจังหวัดและประเทศ เพื่อจะได้รับงบประมาณสนับสนุนรายละไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับนำไปฟื้นฟูอาชีพ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกในกลุ่มไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งก่อน” นายวรวิทย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตนก็มีความเห็นว่ากรณีรัฐบาลอนุมัติงบประมาณให้ในปีนี้ประมาณ 10,000 ล้านบาทโดยแบ่งเป็นค่าช่วยเหลือหนี้สินแค่ 3,000 ล้านบาทและค่าฟื้นฟูอาชีพกว่า 6,000 ล้านบาทนั้น อยากให้สลับกันระหว่างค่าช่วยเหลือหนี้สินกับค่าฟื้นฟูอาชีพมากกว่า เพราะยังเหลือคนที่ไม่ได้รับการช่วยเหลืออีกกว่า 2,000 กว่าองค์กรใน จ.เชียงราย และมีจำนวนคนนับแสนๆ คน เพียงแต่ว่าคนเหล่านี้อาจเข้าไม่ถึงข้อมูลเรื่องการช่วยเหลือจึงยังไม่ได้รับปลดปล่อยออกจากปัญหาหนี้สินเหมือน 500 องค์กรแรกดังกล่าวด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น