xs
xsm
sm
md
lg

ปปช.ลับมีดรอฟันเมล์NGVขู่ขสมก.ไม่ให้ข้อมูลเจอคุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บอร์ดสภาพัฒน์รับศึกษาโครงการจัดหารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน สั่งปลัดฯคมนาคมส่งรายละเอียดมาประกอบการพิจารณาร่วมกับความเห็นสถาบันอื่น "อำพล" ระบุจะใช้วิธีวิเคราะห์แผนลงทุนเปรียบเทียบซื้อกับเช่าแบบไหนคุ้มค่ากว่ากัน ขณะที่ ป.ป.ช.ตั้งอนุฯกก.ศึกษาข้อเท็จจริง ดึง "ต่อตระกูล" เป็นประธาน ชี้ที่ผ่านมา ขสมก.ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เตือนถ้ายังแข็งขืนมีสิทธิติดคุก ด้าน "ชวรัตน์" ไม่ว่า ถ้านายกฯจะทำประชาพิจารณ์ แต่ถ้าจะโอน ขสมก.ไปให้ กทม.บริหารต้องรับหนี้ไปด้วย "สุขุมพันธ์" แบะท่าพร้อมรับโอนมาทำต่อ ส่วน ปชป.ไม่สน ภท.ขึ้นคัตเอาต์เชียร์เช่ารถเมล์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (8 มิ.ย.) คณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่มีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน ได้ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีวาระการประชุมพิจารณาเกี่ยวกับโครงการจัดหารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน ให้กับองค์การขนส่งมวลชน กรุงเทพ (ขสมก.) ที่ต้องพิจารณาความคุ้มค่าว่าควรจะซื้อ เช่า หรือเช่าซื้อ จึงจะเหมาะสมที่สุด ตามที่ ครม.ได้มอบหมายให้ศึกษาเป็นนัดแรก หลังจากกระทรวงคมนาคม ได้เสนอ ครม.ให้ใช้วิธีการเช่า แต่ถูกวิพากษ์วิจาณณ์ว่าแพงเกินไปจนอาจมีการ ทุจริตเกิดขึ้น
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สศช.หรือสภาพัฒน์ แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ กว่า 3 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการศึกษาการจัดทำแผนวิเคราะห์การลงทุนเพื่อพิจารณาความคุ้มค่าของผลตอบแทนการลงทุนในระบบการซื้อ เพื่อไปเปรียบเทียบกับวิธีการเช่ารถโดยสารประจำทางของ ขสมก. ที่ใช้เชื่อเพลิงเอ็นจีวี จำนวน 4 พันคัน ที่กระทรวงคมนาคมจัดทำ
อย่างไรก็ตามโครงการนี้บอร์ด สศช. ไม่เคยพิจารณาในเรื่องของการลงทุน มีเพียงการเสนอในเรื่องของการปรับโครงสร้าง แต่เมื่อให้มีการเปรียบเทียบการเช่ากับซื้อ จึงมีความเห็นต้องดำเนินการในรูปแบบของการลงทุน
ทั้งนี้จะขอให้ นายสุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ทำหนังสือรายละเอียดเพิ่มเติมที่ชัดเจนชี้แจงมาในภายในวันที่ 17 มิ.ย.หรือภายใน 10 วัน ขณะที่บอร์ดสภาพัฒน์ จะประมวลความเห็นจากสถาบันอื่น เช่นสถาบันพระปกเกล้า นำมาหารือในระยะเวลา 2 สัปดาห์และคาดว่าจะสามารถสรุปได้ตามกรอบที่ครม.มีมติ ราวปลายเดือนมิ.ย. 2552 นี้ตามกระบวนการมีส่วนของประชาชนในกทม. ทั้งการจัดซื้อและการเช่า
นายอำพล กล่าวว่า บอร์ด สศช. จะยึดตามมติ ครม.วันที่ 22 ม.ค.2551 สมัยที่ พล.อ.สุรยุทธิ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่กระทรวงคมนาคมได้จัดทำไว้แล้วโดย มีมติเพื่อให้ความเห็นในการปรับโครงการสร้าง ขสมก.เท่านั้น
เราจะวิเคราห์ผลตอบแทน หลักการ การลงทุนของรัฐตามอำนาจของ บอร์ดสภาพัฒน์ ประกอบด้วย การพิจารณาองค์รวมของจำนวนรถ ขสมก. 4 พันคัน รถร่วม ขสมก. และรถตู้ ศึกษาวิเคราะห์การลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้สัญจรจาก 145 เส้นทาง ดูความเสี่ยงจากจำนวนผู้โดยสารที่อาจเปลี่ยนแปลง การคำนวณตัวเลขค่าซ่อมเป็นรายปี ซึ่งเราจะไม่ใช้ตัวเลขหารเฉลี่ย โดยดูฐานของ ค่าซ่อมรถใน 5 ปี เพื่อให้มีความคุ้มทุนที่สุด
นายอำพน กล่าวอีกว่า การวิเคราะห์ใน 30 วันจะครอบคลุมและทันมติครม. หรือไม่นั้น คณะกรรมการฯที่เป็นผู้อาวุโสได้ให้ความเห็นและดูอย่างรอบคอบ วางกฎเกณฑ์การวิเคราะห์ และทำข้อมูลไม่ชัดเจนก็คงจะไม่เสนอ ครม.
ส่วนกรณีที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ออกมาวิจารณ์ว่า เลขาธิการ สศช. ให้ความเห็นเสนอมายัง ครม. หลายครั้งอย่างรีบเร่งและเป็นการเสนอโดยระบุว่า มีความเห็นให้เช่ามากกว่าซื้อ ภายใน 24 ชั่วโมง นั้น นายอำพน ชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง บางครั้งเป็นความเห็น เพิ่มเติมของสภาพัฒน์ในวันที่ 9 มิ.ย. อย่างปกติและเป็นการเสนออย่างละเอียด
ทั้งนี้คณะกรรมการฯ มีมติที่จะรับเรื่องนี้มาพิจารณาตามกรอบที่ ครม.กำหนด 1เดือน แม้จะยังไมได้รับมติ ครม.จากเลขาธิการ ครม.อย่างเป็นทางการ นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในวันนี้คือนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฐ์ ที่เดินทางไปต่างประเทศ

***ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบเช่ารถเมล์4พันคัน
ขณะเดียวกันในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการป้องกันการทุจริต ภาคเศรษฐกิจที่มี นายเมธี ครองแก้ว กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน ไปดำเนินการ ศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4พันคัน ทั้งนี้นายเมธี ได้ตั้งคณะอนุกรรมการโดยให้นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานพิจารณา
นายต่อตระกูล กล่าวว่า ได้รับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งแต่อำนาจหน้าที่ ของคณะอนุกรรมการชุดนี้ไม่ได้มีหน้าที่ในการชงข้อมูลให้ป.ป.ช.ทำการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพราะเข้าใจว่าการที่ ป.ป.ช.จะดำเนินการไต่สวนใครนั้น ต้องมีผู้ยื่นเรื่องเข้ามาก่อน ซึ่งเท่าที่ทราบตอนนี้ยังไม่มีบุคคลทำการร้องทุกข์ กล่าวโทษเข้ามา ดังนั้น คณะอนุกรรมการจึงมีหน้าที่เพียงศึกษาถึงที่มาที่ไปเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวและรายงานให้คณะกรรมการที่มีนายเมธีเป็นประธานรับทราบถึงความคืบหน้าเป็นระยะๆเท่านั้น
มีรายงานว่า ก่อนที่จะมีการตัดสินใจว่าจะมอบหมายให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษา ป.ป.ช.ได้มีการถกเถียงกันว่า ป.ป.ช.มีอำนาจ ในการดำเนินการหรือไม่เพราะว่าไม่ได้เป็นการไต่สวนข้อเท็จจริงตาม มาตรา 19 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542
อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ก็ได้มีความเห็นร่วมกันว่าสามารถดำเนินการได้เพราะในมาตรา 19 (8) กำหนดให้ป.ป.ช.มีหน้าที่เสนอมาตรการหรือข้อเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐสภา ศาล หรือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เพื่อให้มีการ ปรับปรุงการปฎิบัติราชการ หรือวางแผนโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ หน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่กระทำความผิด ต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

***ชี้ถ้า ขสมก.ไม่ให้ข้อมูลมีสิทธิติดคุก
แหล่งข่าวป.ป.ช.กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ป.ป.ช.เองได้พยายามจะขอความร่วมมือ จาก ขสมก. ในการส่งเอกสารเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวมาแล้วหลายครั้งแต่ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือมากนัก โดยป.ป.ช.ได้ระบุไปว่าการขอข้อมูลในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการ ดำเนินการไต่สวนแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการดำเนินนโยบาย การป้องปรามเพื่อเอาข้อมูลมาศึกษาและชี้ให้เห็นว่าโครงการขนาดใหญ่ที่มีผูกพันกับภาระงบประมาณจำนวนกว่าหมื่นล้านบาทนี้จะมีความเสี่ยงในการเกิดคอรัปชั่นว่าจะอยู่ขั้นตอนไหนบ้างไม่ว่าจะเป็นการเปิดประมูลหรือว่าการซ่อมบำรุง
หากขสมก.ยังคงไม่ให้ความร่วมมือกับคณะอนุกรรมการ อาจทำให้ป.ป.ช. ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 25 (1) ในการมีคำสั่งเรียกให้ข้าราชการ พนักงาน หรือ ลูกจ้างของหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ ส่งเอกสารให้กับ ป.ป.ช.และถ้ายังไม่ฝ่าฝืน อาจเข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 118 ที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

***"ชวรัตน์" หนุนทำประชาพิจารณ์
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เสนอให้มีการทำประชาพิจารณ์โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี ว่า โครงการรถเมล์เอ็นจีวี สภาพัฒน์ รับไปศึกษาแล้ว ดังนั้นจะทำประชาพิจารณ์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของสภาพัฒฯ
ผู้สื่อช่าวถามว่าการเพิ่มชั้นตอนการพิจารณาโครงการดังกล่าวมองว่า เป็นการเตะถ่วงหรือไม่ นายชวรัตน์ กล่าวว่า คงไม่ใช่แบบนั้น ตนเคยบอกแล้วว่า ถ้าน้ำยังขุ่นก็ให้เอาสารส้มกวนให้ใส ซึ่งการทำประชาพิจารณ์ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพื่อจะได้ฟังความเห็นของสาธารณะชน
ส่วนหากมีการทำประชาพิจารณ์จริงๆ เกรงว่าผลจะออกมาไม่เป็นไปตาม ที่ต้องการหรือไม่ เพราะพื้นที่กทม.ไม่ใช่เป็นฐานเสียงของพรรคภูมิใจไทย นายชวรัตน์ กล่าวว่า ถูกต้อง ก็เพราะพื้นที่ไม่ใช่ของพรรคภูมิใจไทย ก็เป็นสิ่งที่ย้ำว่าพรรคภูมิใจไทย ทำอะไรลงไป จึงไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์พรรคแต่เป็นผลประโยชน์ประชาชนโดยส่วนรวม

***ถ้าโอนให้ กทม.ต้องเอาหนีไปด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่าการพบกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่ากทม. ได้มีการหารือ เรื่องการให้กทม.เข้ามาดูแล ขสมก. หรือไม่ นายชวรัตน์ กล่าวว่า ไม่ได้พูด แต่หาก กทม.แสดงความพร้อมว่าจะดูแล ขสมก.เองก็ต้องมีการหารือกับกระทรวงคมนาคม แต่เชื่อว่าจะมีปัญหาตามมาอีกมาก เช่นเรื่องหนี้สินของ ขสมก.ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ซึ่งหาก กทม.จะรับ ขสมก.ไปบริหารเองก็ต้องรับภาระหนี้สินดังกล่าวด้วย ถ้า กทม.รับภาระหนี้สินไปด้วย ตนเองเชื่อว่ากระทรวงคมนาคมก็ยินดีที่จะยกให้ ส่วนจะบริหารได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับกทม.เอง ซึ่งตนเองยังเห็นว่าหากไม่มีการเช่ารถเมล์ก็จะยังไม่สามารถแก้ปัญหาของ ขสมก.ได้

***สุขุมพันธ์แบะท่ารับ ขสมก.ไว้ดูแล
ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่า กทม. กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน ซึ่งหาก ครม.มติให้ กทม.เข้ามาดูแล ขสมก. ทางกทม.ก็พร้อมจะเข้าไปดูแลแทนทันที เชื่อว่า กทม.มีศักยภาพที่จะดูแล ขสมก.ได้ เพราะเรารู้จักเส้นทางเป็นอย่างดี
ผมไม่ได้ขอเข้าไปดูแล ขสมก. นะ เพราะเป็นประเด็นการเมือง แต่ถ้าเขาให้มาดูแลผมก็เอา

***กอร์ปศักดิ์ยันรถเมล์ไม่ทำให้แตก
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ครม.ให้คณะกรรมการ ของ สศช. พิจารณาข้อดีและข้อเสียของโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คันว่า จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลแน่นอน เพราะทุกฝ่าย โดยเฉพาะ นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ได้ยืนยันในที่ประชุมครม.ว่า หากคณะกรรมการ สศช. มีความเห็นอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น โดยประเด็นที่เห็นไม่ตรงกันนั้น เป็นเรื่องของรายละเอียดของการกำหนดราคากลางเท่านั้น ที่สำคัญเป็นเพียง ราคากลางที่ยังไม่ได้มีการลงทุนเกิดขึ้นแต่อย่างใด เพราะเมื่อมีการตัดสิน และเปิดประมูลจริงๆแล้ว เอกชนที่เสนอโครงการเข้ามา อาจจะให้ราคาที่สูงกว่า หรือต่ำกว่าก็ได้ แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือขั้นตอนของการประมูลที่จะดูแลอย่างไรเพื่อให้โปร่งใสที่สุด และไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น
โครงการรถเมล์ NGV 4 พันคัน รองนายกฯ กล่าวยืนยันว่ารัฐบาลมีเป้าหมาย ที่ชัดเจนแน่นอน โดยเฉพาะต้องการปรับปรุง ขสมก.ให้มีประสิทธิภาพ และขาดทุน น้อยที่สุด และที่เป็นเป้าหมายมานานแล้วก็คือขสมก.ควรจะปรับเปลี่ยนรถโดยสารทั้งหมดที่มีอยู่ เพราะเก่ามากแล้ว และสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากจึงคิดที่จะใช้ NGV เข้ามา ที่สำคัญที่ต้องคิดคือหากลงทุน จะลงทุนแบบไหน เช่า หรือ ซื้อ ซึ่งหลังจาก 30 วันที่ให้สภาพัฒน์ไปศึกษาก็น่าจะรู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร

***ภท.ขึ้นคัตเอาท์ไม่กดดันสภาพัฒน์
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่พรรคภูมิใจไทย ขึ้นคัตเอาท์สนับสนุนการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี ถือเป็นการให้ข้อมูล ซึ่งแล้วแต่มุมมองของคนที่ให้ข้อมูลว่าจะให้ข้อมูลทางใดและไม่คิดว่าจะเป็นการไปกดดันคณะกรรมการสภาพัฒน์ เพราะแต่ละท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ผ่านเรื่องกดดันมาเยอะแล้ว ในสภาพัฒน์เองใครๆ ก็รู้ว่าแรงกดดันทางการเมืองมันสูงทุกสมัย ปัจจุบันกรณีโครงการต่างๆที่ต้องใช้งบการลงทุนเกิน 1 พันล้านต้องผ่านสภาพัฒน์ทั้งสิ้น
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี่ที่พรรคภูมิใจไทย เตรียมขึ้นคัตเอาร์หรือป้ายยืนยันการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน ขณะที่นายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรจะซื้อมากกว่าเช่าว่า เขาสามารถทำได้ ทั้งนี้คงต้องทำความเข้าใจ อะไรทางไหนดีที่สุด ก็เลือกทางนั้น คิดว่าดูที่ความถูกต้อง แต่เวลานี้เรื่องของราคาค่าเช่า ลดลงมากแล้ว ส่วนการซื้อก็ต้องคิดเรื่องการซ่อม ซึ่งมีข้อดีข้อเสียต่างกัน
ส่วนจะเป็นการกดดันคณะกรรมการสภาพัฒน์ฯ ที่กำลังพิจารณาหรือไม่นั้น พล.ต.สนั่น กล่าวว่า สภาพัฒน์ฯที่พิจารณาเป็นชุดใหญ่ ไม่ใช่ชุดเล็ก เชื่อว่า ไม่มีผลต่อการพิจารณา มือรุ่นเก่าทั้งนั้น ส่วนผลการศึกษาของตนเองนั้นได้มอบให้กับ ครม.ไปแล้ว ถือว่าพ้นหน้าที่ ซึ่งในอดีตที่ชุดตนพิจารณานั้น พิจารณาแต่เรื่องเช่า ไม่ได้พิจารณาเรื่องซื้อ อย่างไรก็ตาม คงต้องรอสภาพัฒน์ เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างการซื้อกับเช่าอะไรดีกว่ากัน ส่วนราคาที่ตั้งไว้ ตอนนี้รับได้ เพราะเวลาประมูลก็จะลดลงอีก

***แนะทำรถเมล์ให้สอดคล้องกับรถไฟฟ้า
นายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยกับโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี ก็ควรใช้ความกล้ายกเลิกดครงการ ไม่ใช่ซื้อเวลาเพื่อต่อรองทางการเมือง ด้วยการส่งสภาพัฒน์ให้ไปศึกษา ซึ่งในอดีตการซื้อก็สร้างปัญหาขาดทุนสะสมให้ ขสมก.มาตลอดเช่นกัน
ส่วนกรณีที่นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เสนอให้ระดมทุนโดยให้ ขสมก. ออกตราสารโดยนำเอารายได้มาเป็นหลักประกัน (Securitization) เพื่อไม่ให้เป็น ภาระกับงบประมาณนั้น เป็นข้อเสนอที่ไม่รับผิดชอบโดยปัดความเสี่ยงไปให้นักลงทุนเอง ซึ่งไม่คิดว่าจะมีใครมาลงทุนรับความเสี่ยงกับกิจการที่ขาดทุนมาตลอด ถ้ารัฐบาลโดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันผลตอบแทน หรือหากจะมีการค้ำประกันก็ต้องกำหนดค่าโดยสารค่อนข้างสูง ซึ่งก็เป็นการผลักภาระไปให้ประชาชนผู้ใช้บริการ
จึงจำเป็นต้องศึกษาปัจจัยเสี่ยงให้รอบด้านโดยไม่จำเป็นที่จะต้องไปเร่งรัดให้สภาพัฒน์ศึกษาให้เสร็จใน1 เดือน เพราะนอกจากความเสี่ยงในเรื่องการลงทุน ซึ่งเป็นภาระกับงบประมาณที่หนีไม่พ้นตกเป็นภาระความรับผิดชอบของประชาชนผู้เสียภาษีแล้ว ประชาชนยังมีความเสี่ยงจากการที่จะได้รับบริการที่ไม่ดี ในราคาที่แพงกว่าเดิมมากโดยไม่มีทางเลือกอื่น
นายคณวัฒน์ เสนอว่า รัฐบาลควรให้สภาพัฒน์ศึกษาเพิ่มเติมถึงความ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การลงทุนการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เช่น ระบบรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นระบบการขนส่งหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว จะต้องมีการปรับระบบเส้นทาง การเดินรถเมล์ให้สอดคล้องกันในลักษณะที่เป็นระบบสนับสนุนให้กับเส้นทางรถไฟฟ้า ที่เป็นการขนส่งหลัก ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องจัดหารถเมล์จำนวนมากขนาดนั้นก็ได้ รวมทั้งควรจะศึกษาเพื่อเสนอทางเลือกในวิธีการจัดหาอื่นที่ไม่ใช่ทั้งการซื้อ และการเช่ามา เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาพร้อมกันด้วย และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศ
นายคณวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยกำลังให้ทีมนักวิชาการด้าน การขนส่งศึกษาข้อมูลและพร้อมให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้การดำเนิน โครงการนี้ เกิดประโยชน์สูงสุดในการให้บริการประชาชนและเป็นไปด้วยความโปร่งใส

***เพื่อไทยเสี้ยมให้รัฐบาลแตกอีก
นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า โครงการรถเมล์ เอ็นจีวีเป็นโครงการของรัฐบาล แต่กลับมีการแบ่งแยกจากพรรคประชาธิปัตย์ จึงทำให้เห็นความขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาลมากขึ้น โดยพรรคประชาธิปัตย์ แสดงตัวเป็นตัวแทนของการต่อต้านการทุจริต นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการจ้องหา ผลประโยชน์มากกว่า เนื่องจากตนได้รับทราบข้อมูลจากผู้ใหญ่ใน ขสมก. ที่ได้มาพูดคุยเป็นการส่วนตัว โดยเกรงว่า ขสมก. จะกลายเป็นแพะรับบาป เพราะรัฐบาลมักเอาอะไรมาใส่ให้ ขสมก. ทั้งๆ ที่ความต้องการจริงๆ ก็คือจ้องหาผลประโยชน์กัน รวมทั้ง ผอ.ขสมก. ก็เป็นบุคคลที่นักการเมืองแต่งตั้งมา ดังนั้น จึงอาจเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนและตัดสินใจตามนักการเมืองสั่ง
โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดี แต่จะต้องมีการตรวจสอบให้รอบคอบ แต่หาก โครงการนี้ไม่ผ่าน ผมก็รู้สึกเห็นใจพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากจะกลายเป็นจำเลยสังคม ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็จะได้คะแนน ในฐานะที่ได้คัดค้านโครงการที่ไม่โปร่งใส และคิดว่าความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะบานปลาย แต่เชื่อว่าจะไม่ยุบสภา ในเร็วๆ นี้ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลยังมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ โดยเฉพาะการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2553 และ พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้าน ที่กำลังจะมีการพิจารณาในวันที่ 15-23 มิ.ย.นี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น