xs
xsm
sm
md
lg

‘ทักษิณ’นักโทษชายกิตติมศักดิ์

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ออกตัวไว้ก่อนเลยว่า ผมเขียนบทความนี้ในฐานะคนที่ไม่มีความรู้ในด้านกฎหมาย แต่พยายามใช้หลักการเหตุและผลในการตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมต่อกรณีนักโทษชายทักษิณ

เพราะผมเชื่อว่า พื้นฐานของกฎหมายก็คือ การยึดโยงอยู่กับความจริง ความถูกต้อง ความเป็นธรรมที่มีเหตุผล ที่เป็นบรรทัดฐาน และสามารถตรวจสอบได้

วันนี้มีคนพูดกันเรื่องสองมาตรฐานมากมายเหลือเกิน นัยของสองมาตรฐานก็คือ กล่าวหาว่า รัฐบาลเลือกในการดำเนินคดีอีกฝ่าย แต่ปล่อยปละละเลยในคดีพันธมิตรฯ จนคนหลงเชื่อในวาทกรรมสองมาตรฐานนั้น ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริง คือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกำลังถูกดำเนินคดีเป็นร้อยๆ คดี

แต่วาทกรรม “สองมาตรฐาน” ที่หลอกลวงและลอยฟุ้งอยู่ในอากาศนั้น หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่านักวิชาการและนักกฎหมายเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินคดีกับพันธมิตรฯ แล้วกล่าวหาว่า รัฐบาลมีสองมาตรฐานกลับไม่เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินคดีกับอดีตฝ่ายหนึ่งซึ่งทำผิดกฎหมายยิ่งกว่า

วาทกรรมสองมาตรฐานจอมปลอมเหล่านี้ จึงมีนัยสองมาตรฐานที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวมันเองเช่นกัน คือ ไม่พูดถึงความผิดของพวกเดียวกัน แต่มองเห็นแต่ความผิดของคนอื่น หรือพูดความจริงเพียงเสี้ยวเดียว

รวมทั้งไม่มีใครตั้งคำถามเลยว่า กรณีของทักษิณเป็นเรื่องสองมาตรฐานหรือไม่

มีคนเคยบอกผมว่า เมืองไทยนั้น ถ้ามีเงินและมีพวกไม่มีวันติดคุก ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้คงไม่ต้องอธิบายความเป็นรูปธรรม แต่ปรากฏหลักฐานให้เป็นที่คลางแคลงใจของสังคมอยู่เนืองๆ

ผมพูดเช่นนี้ เพราะอดประหลาดใจไม่ได้ว่า ทำไมนักโทษหนีคุกที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร จึงสามารถที่จะมอบอำนาจให้ใครต่อใครไปฟ้องดำเนินคดีกับผู้อื่นได้อีก ในเมื่อตัวเองได้หลบหนีการพิพากษาคดีของกระบวนการยุติธรรมไปแล้ว ซึ่งการหลบหนี คือ การไม่ยอมรับการบังคับคดีตามกฎหมาย

เมื่อหลบหนีไปแล้วนักโทษชายหนีคุกที่ชื่อ ทักษิณ จึงควรจะต้องถูกกระบวนการยุติธรรมตามล่าตัวมารับโทษตามกฎหมายเสียก่อนที่จะใช้กฎหมายในการกล่าวโทษต่อผู้อื่น

ในฐานะความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะปกป้องสิทธิของตัวเองที่ถูกละเมิดจากผู้อื่นได้ แต่เมื่อเขาไม่เคารพการตัดสินของกฎหมาย เขาก็ไม่ควรมีสิทธิใช้กฎหมายในการลงโทษคนอื่น

ผมว่า เรื่องเช่นนี้จะไม่เป็นเรื่องแปลกเลย ถ้าใครคนหนึ่งถูกจองจำอยู่ในคุก แล้วมอบอำนาจให้ทนายหรือใครต่อใครรับมอบอำนาจจากเขา เพื่อไปฟ้องร้องคนที่หมิ่นประมาท ให้ร้าย หรือฉ้อโกงเขา แต่ถ้าคนคนนั้น เป็นนักโทษหนีคดี กระบวนการยุติธรรมก็ไม่ควรอนุญาตให้คนคนนั้นมอบอำนาจให้คนอื่นไปฟ้องร้องดำเนินคดีต่างๆ กับใครต่อใครได้อีก

นอกจากเป็นนักโทษหนีคดีที่มอบอำนาจมาฟ้องใครต่อใครแล้ว นักโทษชายทักษิณ กลับกลายเป็นคนหนีคดีที่สามารถโทรศัพท์ โฟนอิน วิดีโอลิงก์มาสั่งการภายใต้การรับรู้ของฝ่ายกฎหมายบ้านเมือง และนั่งนิ่งดูดายจนเกิดการยุยงให้คนเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมืองมาแล้ว

ทักษิณไม่ใช่นักโทษหนีคดี ที่หายเข้ากลีบเมฆไปเลย แต่ยังให้ปรากฏตัวไปโน่นมานี่ ไปชอปปิ้งกินข้าวในประเทศนั้นประเทศนี้ เหมือนกับการเย้ยหยันกระบวนการยุติธรรมไทยที่ไม่สามารถนำตัวเขามารับผิดตามกฎหมายได้

นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทำไมนักโทษชายหนีคดีที่ชื่อทักษิณ ผู้ท้าทายต่อกฎหมายไทยจึงยังสามารถมอบอำนาจให้ทนายความมาฟ้องร้องดำเนินคดีกับคนอื่นได้อยู่อีก

ความเข้าใจกฎหมายพื้นๆของผมก็พอจะเข้าใจนะครับว่า บุคคลย่อมตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจให้ทำแทนตัวเองได้ หากไม่มีกฎหมายเขียนกำกับไว้ทำนองว่า ให้ต้องกระทำด้วยตนเอง และผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา ย่อมมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอาญาแทนได้ เมื่อผู้เสียหายมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอาญาแล้ว ผู้ที่รับมอบอำนาจก็ย่อมลงชื่อในฟ้องแทนโจทก์ได้

แต่ผมจะถามกับผู้มีหน้าที่รักษากฎหมายแบบซื่อๆ ว่า ถ้าไม่ใช่ทักษิณ เป็นคนอื่นที่หนีคดีไปจะได้รับอนุญาตให้ทำอย่างนี้ได้หรือไม่

เพราะปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้ผมอดประหลาดใจไม่ได้ว่า ทนายความที่ถือหนังสือรับมอบอำนาจของทักษิณมาฟ้องดำเนินคดีกับผู้อื่นนั้น สามารถติดต่อกับทักษิณได้อย่างไร ทำไมพวกเขาเหล่านั้นจึงไม่มีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 189 โดยให้พำนักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้น หรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม

หรือไม่มีความผิดตามมาตรา 192 ผู้ใดให้พำนัก ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดให้ผู้ที่หลบหนีจากการคุมขังตามอำนาจของศาลของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม

การได้มาซึ่งลายเซ็นของนักโทษชายที่หลบหนีคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ซึ่งเป็นที่ต้องการตัวของกระบวนการยุติธรรมเพื่อนำตัวมาลงโทษทางกฎหมาย ทนายความหรือผู้รับมอบอำนาจก็น่าจะต้องถูกสอบสวนว่า ได้ลายเซ็นหรือหนังสือรับมอบอำนาจนั้นมาอย่างไร ที่สำคัญควรจะพิสูจน์ว่า เป็นหนังสือมอบอำนาจของผู้เสียหายซึ่งเป็นของนักโทษหนีคดีจริงๆ หรือไม่

ผมเข้าใจว่า ทนายความที่รับมอบอำนาจนั้น อาจแจ้งว่า ได้รับหนังสือมอบอำนาจมาจากคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ถือมาแทนผู้มอบอำนาจ หรือได้รับมาทางไปรษณีย์ ไม่ได้เจอกับนักโทษชายทักษิณที่เป็นผู้มอบอำนาจ

แต่ผมอยากถามและอยากได้คำตอบว่า พนักงานสืบสวนสอบสวน เมื่อเห็นหนังสือมอบอำนาจของนักโทษหนีคดีแล้วได้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ แม้จะเป็นการมอบอำนาจให้ทำแทนทำไมผู้เสียหายที่แท้จริงจึงไม่ถูกเรียกมาสอบสวนให้ปากคำด้วยตัวเอง เพื่อกระทำให้เห็นว่า ตำรวจมีความพยายามที่จะนำตัวผู้เสียหายซึ่งเป็นนักโทษหนีคดีมาติดคุก

เพราะทักษิณเป็นนักโทษชายที่หนีคำพิพากษาจำคุก ซึ่งทางการไทยหรือกฎหมายไทยต้องการตัวมาดำเนินคดี ไม่ใช่คนธรรมดาที่ไม่มีคดีติดตัว

วันนี้ผมกลับได้ยินแต่ว่า ตำรวจ อัยการ กระทรวงการต่างประเทศ โยนกันไปโยนกันมาเรื่องติดตามตัวทักษิณมารับโทษ แต่กลับปล่อยให้นักการเมืองที่เป็นลิ่วล้อของทักษิณ ปรากฏตัวให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เดินทางไปพบปะพูดคุยกับทักษิณที่โน่นที่นี่ และยังมอบอำนาจให้ทนายความมาดำเนินคดีกับบุคคลอื่นๆ

แต่ผมก็ไม่ได้ยินข่าวเลยว่า ตำรวจได้เรียกตัวคนเหล่านั้นมาสอบสวน เพื่อให้ได้ตัวนักโทษชายทักษิณที่หลบหนีคดีอยู่ในขณะนี้ว่า เขาไปพบกันที่ไหน แล้วคนเหล่านั้นมีความผิดฐานเข้าข่ายปกปิดซ่อนเร้นหรือไม่

ผมว่า ถ้าผู้มีอำนาจตามกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายไว้ได้ และปล่อยให้นักโทษชายทักษิณประจานกระบวนการยุติธรรมไทยอยู่เช่นนี้ ก็ไม่ควรอนุญาตให้ทักษิณใช้กฎหมายไทยเพื่อป้องกันตัวเอง

ไม่เช่นนั้นคนที่มีหน้าที่รักษากฎหมายก็ควรถูกดำเนินคดีไปพร้อมกับนักโทษชายทักษิณฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ฐานปล่อยให้ทักษิณกลายเป็นนักโทษหนีคดีกิตติมศักดิ์ด้วยการเหยียบย่ำกฎหมายไทยอยู่อย่างนี้

                                                        surawhisky@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น