xs
xsm
sm
md
lg

“ASTV-พธม.” สู่การเมืองใหม่

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ปัจจุบันมีพรรคการเมืองที่จดทะเบียนกับ กกต.ไว้แล้วจำนวน 45 พรรค และมีพรรคการเมืองที่จดแจ้งชื่อไว้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 อีกจำนวน 20 พรรค

ดังนั้นจะเห็นว่า การก่อเกิดของพรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องยาก เช่นเดียวกับพรรคการเมืองใหม่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่กำลังจะเกิดขึ้น

แม้ว่า พรรคการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะถือว่า ได้ก่อกำเนิดขึ้นมาโดยพฤตินัยแล้ว เมื่อวันที่ 25 เดือน 5 ปี 2552 และแม้ว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่รู้เลยจะใช้ชื่อพรรคว่าอะไร แต่หลายคนก็ยังรอคอยการเกิดและการแจ้งเกิดของพรรคการเมืองใหม่พรรคนี้ ชนิดไม่มีพรรคการเมืองไหนในประเทศไทยที่ได้รับการกล่าวขานเช่นพรรคการเมืองใหม่พรรคนี้มาก่อน

ที่สำคัญพรรคการเมืองใหม่พรรคนี้ หากเกิดขึ้นแล้วจะกลายเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของประชาชนที่มีความคิดและอุดมการณ์ไปในแนวทางเดียวกัน ต้องการร่วมกันตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อตอบสนองอุดมการณ์ของตัวเอง

เป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่มีรากมาจากประชาชน ไม่ใช่พรรคการเมืองของนายทุนที่หิ้วกระเป๋าเงินเข้ามาจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น และใช้เงินกวาดต้อนนักการเมืองเข้ามาอยู่ในชายคาพรรค

เป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่มีประวัติศาสตร์จากการลุกขึ้นสู้ของประชาชน

การก่อเกิดของพรรคการเมืองใหม่พรรคนี้เป็นการตื่นตัวของประชาชนทุกชนชั้น ทุกภาคส่วน และทุกสาขาอาชีพที่แท้จริง ไม่ใช่การหลอกตัวเองของปัญญาชนหางเครื่องระบอบทักษิณ อย่าง รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ซึ่งเข้าไปเสวยตำแหน่งบอร์ดแบงก์กรุงไทยในยุครัฐบาลพรรคพลังประชาชนว่า กลุ่มเสื้อแดงคือ การตื่นตัวทางการเมืองของคนรากหญ้าที่แท้จริง ไม่ใช่ตื่นเพราะอำนาจเงินและการมองไม่เห็นความเลวร้ายของระบอบทักษิณ

นายพิชิตคนนี้ มองว่า การสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในช่วงสงกรานต์ เป็นการใช้กำลังรุนแรงและอาวุธสงครามเข้าปราบปรามทำร้ายอย่างไร้ความเมตตา แต่เขากลับไม่ตั้งคำถามต่อรัฐบาลพลังประชาชนในเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 และพฤติกรรมของคนเสื้อแดงเอง ซึ่งสะท้อนความเป็นวิญญูชนจอมปลอมของเขา

ดังนั้น ถ้าพรรคการเมืองใหม่พรรคนี้เกิดขึ้นไม่เพียงแต่การชำระล้างนักการเมืองน้ำเน่าเท่านั้น แต่ต้องทำลายล้างนักวิชาการประเภทวิญญูชนจอมปลอมเหล่านี้ให้สิ้นซากด้วย

อย่างไรก็ตาม เส้นทางสู่การเมืองใหม่ของพรรคการเมืองใหม่ก็ไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ

การประกาศตัวเพื่อเข้าชะล้างความเน่าเฟะของการเมืองไทยของพรรคการเมืองใหม่พรรคนี้ จะต้องถูกทดสอบและถูกตั้งคำถามต่อการปฏิบัติในอนาคตของพรรคการเมืองใหม่พรรคนี้ด้วยว่า จะสามารถนำการเมืองใหม่มาให้กับชาติบ้านเมืองได้จริงหรือไม่

และจะฝ่าด่านการเมืองเก่าที่ต้องใช้เงินในการกรุยทางเข้าไปสู่การเมืองในระบบรัฐสภาได้อย่างไร

อุดมการณ์ใช้ธรรมนำหน้า เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อหล่อหลอมเป็นพรรคการเมืองที่ซื่อสัตย์ เสียสละ กล้าหาญ จะมีความสามารถพอที่จะนำพาสังคมไทยไปสู่สังคมใหม่ได้หรือไม่

พรรคการเมืองใหม่ พรรคนี้จะมีนโยบายอะไรที่สามารถนำพาชาติไปสู่สันติสุขและความมั่นคงทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองได้บ้าง

และที่หลายคนจับตามอง คือ พรรคการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความแตกต่างทางความคิดนี้ จะสลายความขัดแย้งของคนในชาติได้อย่างไร

มีคนตั้งคำถามมากเหมือนกันว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะมีระยะอย่างไรกับพรรคการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้น

น่าตลกกว่านั้น ก็คือ ผมได้ยินเสียงเย้ยหยันว่า พันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมืองแล้ว อย่าเผลอออกมาชุมนุมบนท้องถนนอีก เสียงเหล่านั้นคล้ายกับไม่เข้าใจว่า การชุมนุมบนท้องถนนก็เป็นวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย เว้นแต่ว่า จะลุกขึ้นมาเผาบ้านเผาเมืองแบบม็อบเสื้อแดงในช่วงสงกรานต์

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงการตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า ต้องแยกภารกิจกันให้ชัด เพราะพรรคการเมืองจะต้องเข้ามาบริหารประเทศและอยู่ภายใต้กฎหมายพรรคการเมือง ขณะที่การชุมนุมเป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลจากภาคประชาชน

ผมคิดว่า ข้อห่วงใยของอาจารย์สมบัติ เป็นข้อเสนอที่น่ารับฟัง แต่ไม่น่าจะตระหนกจนเกินไป เพราะพรรคการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น จะต้องเดินไปตามกรอบกติกาของกฎหมายพรรคการเมืองอยู่แล้ว แต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ถือเป็นขบวนการหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย

พันธมิตรฯ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 64 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น

และมีมาตรา 63 รองรับการขับเคลื่อนของพันธมิตรฯ ที่ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก

ดังนั้นตราบที่พรรคการเมืองใหม่อยู่ในกรอบของกฎหมายพรรคการเมือง และพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวตามกติกาของรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีปัญหาในการทำงานที่ซับซ้อนกันแน่นอน เพียงแต่จะต้องแยกบทบาทคนที่ทำงานภาคการเมืองและภาคประชาชนให้ชัดเจน

อย่าไปสับสนว่า ถ้ามีพรรคการเมืองใหม่แล้วองค์กรภาคประชาชนอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อีก และทุกวันนี้ก็ไม่เห็นมีใครตั้งคำถามต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยเลย

ส่วนเสียงที่สะท้อนความหวังดีจากเพื่อนสื่อมวลชน นักวิชาการ และนักการเมืองว่า ASTV ซึ่งเป็นสื่อที่ยืนเคียงข้างกับพันธมิตรฯ จะมีจุดยืนต่อพรรคการเมืองใหม่อย่างไร

บอกตรงๆ ครับว่า ไม่ต้องห่วงพวกเรา เพราะ ASTV นั้น ประกาศตัวเป็นสื่อเลือกข้างมานานแล้ว เราเลือกข้างความถูกต้อง และผลประโยชน์ของประชาชน

ไม่เพียงแต่พรรคการเมืองใหม่เท่านั้น ไม่ว่าฝ่ายไหน กลุ่มไหน พรรคการเมืองไหนที่ยืนข้างความถูกต้อง ASTV ก็พร้อมจะยืนข้างนั้น

ถ้าพรรคการเมืองไหนไม่ยืนข้างความถูกต้องก็ย่อมจะไม่ใช่วิถีทางของ ASTV และผมเชื่อว่า นั่นไม่ใช่วิถีทางของแกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 5 คนที่แสดงออกเป็นพันธสัญญาต่อประชาชนเสมอมาเช่นเดียวกัน

ถ้าทุกคนในสังคมเลือกยืนข้างความถูกต้อง ผมคิดว่า สังคมไทยมีความหวังที่จะเห็นการเมืองใหม่ และสังคมใหม่ที่เป็นธรรมและจะยุติความแตกแยกในชาติได้

                                                        surawhisky@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น