xs
xsm
sm
md
lg

กู้เงิน 8 แสนล้านบาท โครงการนอกงบฯ 1.4 ล้านล้านบาทประชาชนอย่าเผลอ!!!

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ยอมรับว่าวันนี้ผมค่อนข้างมีความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อย่างไรก็ไม่รู้

ไม่ใช่เพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเขามีดำริจะตั้งพรรคการเมืองหรอก เรื่องนี้พวกเขายังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกหลายยก ตั้งแต่ขั้นตอนแรกเริ่มจัดตั้งพรรค บทบาทของแกนนำ และ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับตัวบทกฎหมายละเอียดยิบ แม้ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย โดยเฉพาะกับการต้องปฏิบัติไปตามมติของมวลชนที่ขณะนี้ยังมีความคิดเห็นหลากหลายอยู่พอสมควร

ผมมีความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จาก 2 เรื่อง

เรื่องหนึ่งคือการจะกู้เงิน 8 แสนล้านบาทโดยเห็นรัฐสภาเป็นหัวหลักหัวตอ อีกเรื่องคือการออกลีลาล่อให้สังคมออกมาคัดค้านโครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คันที่ริเริ่มโดยกลุ่มนายเนวิน ชิดชอบ แล้วก็จะตามน้ำชะลอไว้ โดยไม่ใช้ความเป็นผู้นำในยามบ้านเมืองวิกฤตตัดสินใจอย่างตรงไปตรงมาและกล้าหาญ

การกู้เงิน 8 แสนล้านบาทนี้แบ่งเป็นการกู้โดยพระราชกำหนด 4 แสนล้านบาท กู้โดยพระราชบัญญัติอีก 4 แสนล้านบาท จะมีการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาในช่วงเปิดรัฐสภาสมัยวิสามัญวันที่ 15 – 23 มิถุนายน 2552 นี้ หากว่าศาลรัฐธรรมนูญไฟเขียวผ่านพระราชกำหนดในวันที่ 3 มิถุนายน 2552 นี้

เงินจำนวน 8 แสนล้านบาทนี้ 2 แสนล้านบาทแรกจะมาใช้สมทบเงินคงคลัง ชดเชยรายได้ของรัฐในปีนี้ที่เก็บภาษีไม่เข้าเป้า ส่วนที่เหลืออีก 6 แสนล้านบาทจะมาใช้จ่ายในโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่มียอดเงินลงทุนทั้งหมด 1.4 ล้านล้านบาทโดยประมาณ

โครงการไทยเข้มแข็ง 2555 ก็คือการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ถัดจากระยะแรกที่ทำเป็นงบประมาณกลางปีนี้ไปแล้ว

โครงการไทยเข้มแข็ง 2555 เป็นการใช้จ่ายทำนองการลงทุนโดยภาครัฐในขอบข่ายทั่วประเทศ

เป็นเงินลงทุนนอกงบประมาณรายจ่ายประจำปี

นี่แหละที่ผมว่าเป็นรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ท่านเห็นรัฐสภาเป็นหัวหลักหัวตอ!

ปกติการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี จะมีรายละเอียดโครงการ รัฐสภาสามารถคุมการบริหารราชการแผ่นดินจากตรงนี้ได้ เริ่มจากการพิจารณาโครงการว่าจำเป็นหรือไม่ เหมาะสมกับรายจ่ายที่ตั้งมาหรือไม่ ในชั้นการพิจารณาโดยกรรมาธิการก็สามารถเรียกหน่วยราชการมาซักถามได้

แต่โครงการไทยเข้มแข็งไม่อยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี จึงไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐสภาในทำนองเดียวกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี และรัฐสภาก็ควบคุมไม่ได้เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควบคุมไม่ได้ในขั้นตอนแรกคือโครงการแต่ละโครงการมีความจำเป็นแค่ไหนอย่างไร เหมาะสมกับรายจ่ายที่ตั้งมาหรือไม่ ไม่สามารถเรียกหน่วยราชการมาซักถามได้เหมือนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี

โครงการไทยเข้มแข็งเป็นการพิจารณาโดยกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์แล้วผ่านเข้าครม.ขอมติ

โดยกำหนดรูปแบบที่มาของเงินไว้ชัดเจนว่าจะทำโดยการกู้เงิน 8 แสนล้านบาท

อ้างเหตุวิกฤตเศรษฐกิจ – ไฟกำลังไหม้บ้านจำเป็นต้องรีบสาดน้ำดับไฟ!

หลักการที่ผมไม่เห็นด้วยก็คือ รัฐบาลถือสิทธิอะไรในการพิจารณาโครงการใช้เงินนอกงบประมาณถึง 1.4 ล้านล้านบาทในหมู่ฝ่ายบริหารและข้าราชการประจำ โดยไม่เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาแสดงความคิดเห็น ไม่ต้องพูดถึงพี่น้องประชาชนข้างนอกที่เขาจะต้องรับภาระหนี้สินอีก 8 แสนล้านบาทส่งต่อตกทอดไปยังลูกหลาน

โครงการไทยเข้มแข็ง 2555 มันจะทำให้ประเทศนี้เข้มแข็งได้อย่างไร

ในเมื่อมันก็คือการดึงเอาโครงการต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว มารวมๆ กันอยู่ในโครงการ เพื่อเร่งใช้เงินโดยการยึดถือการแก้วิกฤตเศรษฐกิจตามตำราทุนนิยมพื้นฐาน ไม่ใช่โครงการที่คิดขึ้นใหม่ ด้วยกระบวนทัศน์ใหม่

ตัวเลขกลมๆ ผู้อ่านคงเดาออกว่าประมาณ 1 ใน 3 ของโครงการเป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคม

แน่นอน มี “ถนนปลอดฝุ่น” รวมอยู่ด้วย

เป็นการสร้างนั่น ซ่อมนี่ จิปาถะ รวมทั้งโครงการชื่อแปลกๆ ที่แค่เห็นก็พอนึกออกว่าเข้าข่ายตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

จะไม่พูดว่ามีโอกาสจะเป็นคอมมิชชันเท่าไร 10 หรือ 20 เปอร์เซ็นต์

แต่จะบอกว่ามันล้วนแต่เป็นโครงการที่ไม่น่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานอะไรเลย

นักการเมืองคงแฮปปี้กันถ้วนหน้า เพราะมีงบประมาณลงพื้นที่ คงเอาไปใช้หาเสียงได้ว่าเห็นไหมเพราะผมเป็นรัฐบาลถึงได้มีเงินมาลงพื้นที่ เพราะฉะนั้นจงเลือกฉันและพรรคของฉันต่อไป

นักการเมืองที่ผลักดันโครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ถึงถูกเบรก แต่ก็คงออกอาการสะบัดสะบิ้งพอเป็นสีสัน

แต่คงไม่แตกหักกันจนทำให้งบประมาณ 1.4 ล้านล้านบาทนอกงบประมาณก้อนนี้ต้องตกไปหรอก

พรรคประชาธิปัตย์เล่นเป็นและเล่นเก่ง ด้านหนึ่งชะลอโครงการรถเมล์ไว้ให้สังคมออกมาต้าน เพราะอีกด้านหนึ่งรู้อยู่ว่าการแตกหักไม่น่าจะมี เนื่องจากเงินก้อนนี้ที่จะต้องผ่านการกู้ 8 แสนล้านบาทยังเป็นของจำเป็นสำหรับนักการเมืองทุกพรรค แล้วยังมีเงินก้อนในงบประมาณที่จะต้องรอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 ผ่านก่อน

สังคมก็เต้นกันไป ใจก็นึกว่างานนี้ต้องออกแรงช่วย “รัฐบาลดีๆ” อย่างพรรคประชาธิปัตย์ให้มีแรงต้านพวกเสือหิว

แล้วก็อาจจะจำใจต้องสนับสนุนการกู้เงิน 8 แสนล้านบาท เพราะด้านหนึ่งไปหลงเชื่อในมายาคติว่าจำเป็น และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

และอีกด้านหนึ่งไม่อยากให้ “รัฐบาลดีๆ” อย่างพรรคประชาธิปัตย์ต้องสะดุดล้ม!

การยกมืออนุมัติพระราชกำหนดในสภาก็คงเป็นไปในทำนองนี้ คือในสภาผู้แทนราษฎร พรรคร่วมรัฐบาลคงจะร่วมกันยกมือให้ผ่าน ส่วนในวุฒิสภานั้นก็คงมีคนคิดกันได้หลากหลาย น่าเสียดายวุฒิสภาอำนาจน้อย ถึงไม่อนุมัติ แต่ถ้าสภาผู้แทนราษฎรยืนยันก็ถือว่าผ่าน

จะแพ้หรือชนะก็ตาม ผมคนหนึ่งละจะไม่ยกมือให้แน่นอน!

แต่อย่าเพิ่งคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะผ่านศาลรัฐธรรมนูญมาได้นะครับ ประการหนึ่งเราต้องเคารพคำวินิจฉัยของศาล อีกประการหนึ่งควรเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติเรื่องอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีพระราชกำหนดไว้แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ

คือให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นกรณี “ฉุกเฉิน” หรือไม่ด้วย

เดือนมิถุนายน 2552 จะเป็นเดือนที่ร้อนแรงแน่นอน

ประชาชนอย่าเผลอนะครับ

จะมัวแต่คัดค้านรถเมล์ 4,000 คัน โดยไม่สนใจการกู้เงิน 8 แสนล้านบาท และโครงการ 1.4 ล้านล้านบาท หาได้ไม่!
กำลังโหลดความคิดเห็น