xs
xsm
sm
md
lg

รมต.พรทิวา โปร่งใส-ไม่ท้อ : “ข้าวโพดเดือด!”

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

เป็นข่าวอึกทึกครึกโครมใหญ่โตไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กรณี “ข้าวโพดเดือด!” จนกลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” เกือบตลอดสัปดาห์ ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พรทิวา นาคาศัย กับนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าจะเกิด “ศึกรัฐบาลร้าว!” หรือไม่อย่างไร แต่ในที่สุดแล้ว ก็ไม่มีอะไรในกอไผ่!

เหตุการณ์ทางการเมืองการบริหารที่เกิดขึ้นกับกรณีทั้ง “ข้าว-ข้าวโพด” นั้น ว่าไปแล้ว มิใช่เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่เป็นกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและสะสมหมักหมมมานาน นับตั้งแต่มีการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปัตย์ตั้งแต่เดือนมกราคม เป็นต้นมา

ปัญหาสำคัญ คือ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงด้านเศรษฐกิจทั้งหมด ทั้งนี้ “ทีมเศรษฐกิจ” ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เองจะมีคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าทีมตัวจริงเสียงจริง เนื่องด้วยพื้นฐานการศึกษาของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือ นักเศรษฐศาสตร์ ที่จบมาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University) พร้อมทั้งได้เคยเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วง พ.ศ. 2526-2535 หรืออาจจะมากกว่านั้น

แต่อาจารย์อภิสิทธิ์ เป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่เพียงไม่กี่ปีก็ลาออก กระโดดเข้าสู่สนามการเมืองอย่างเต็มตัว อยู่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ไต่เต้าตั้งแต่สมาชิกลูกพรรค จนได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคประชาธิปัตย์เรื่อยมา ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาไม่น้อยกว่า 2-3 ตำแหน่งในห้วงระยะเวลาประมาณ 16 ปี เรียกว่า “ช่ำชอง!” ทางการเมืองอย่างมากโขทีเดียว!

นอกเหนือจากคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแล้ว จะมีรองนายกรัฐมนตรี กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ และคุณกรณ์ จาติกวณิช เป็นรัฐมนตรีคลัง เท่านั้นที่ดูแลเศรษฐกิจ ทั้งในระดับภาพรวมและเฉพาะ “การเงิน-การคลัง” เท่านั้น นอกนั้นด้านเศรษฐกิจตกเป็นของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด ตั้งแต่อุตสาหกรรม พาณิชย์ เกษตรและสหกรณ์ คมนาคม และการท่องเที่ยว

ปัญหาสังคมของรัฐบาลปัจจุบัน คือ “ปัญหาทีมเศรษฐกิจ” ที่ในส่วน “แกนนำ-ศูนย์กลางอำนาจ” อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด ที่มีจำนวน “คนน้อยมาก” และไม่สำคัญเท่ากับว่า “ด้อยประสบการณ์-อ่อนหัด” มีเฉพาะรองฯ กอร์ปศักดิ์ และคุณกรณ์ จาติกวณิช ทั้งๆ ที่ต้องกล่าวชื่นชมว่า “ตั้งใจจริง-เจตนารมณ์ดี” เพียงแต่ว่า “ประสบการณ์” ทางการเมืองและการบริหาร ยังอ่อนด้อยมากเกินไป ประกอบกับมีแค่ 2 คนเท่านั้น ส่วนนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์นั้น จะหวังพึ่งมากมายนักคงไม่ได้เพราะ “ภารกิจล้น!”

ในขณะเดียวกัน ปัญหาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ที่มีคุณกอร์ปศักดิ์ เป็นประธาน รัฐมนตรีจากกระทรวงเศรษฐกิจอื่นๆ มาจากพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลทั้งหมด จากข้อมูลที่ “แสงแดด” ได้สดับตรับฟังมานั้น ปรากฏว่า “ไม่ค่อยเข้าขากัน” พูดกันภาษาชาวบ้านหมายความว่า “การประสานงาน-ร่วมงาน” มัก “ติดขัด!” ตลอดเวลา เนื่องด้วย คุณกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ นั้น ซักไซ้ไล่เลียงจนกว่าจะอนุมัติแต่ละโครงการ แต่ละกิจกรรม ยากเย็นแสนเข็ญ จนเป็นที่มาของนาม “มิสเตอร์ชุนละเอียด!”

ตลอดระยะเวลา 4-5 เดือน ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ นั้น การบริหารด้านเศรษฐกิจในโครงการต่างๆ นับว่ายากมากกว่าจะคลอดออกมา โดยเฉพาะโครงการพรรคร่วมรัฐบาล แต่มีการตัดพ้อต่อว่า ว่าถ้าเป็นโครงการของพรรคประชาธิปัตย์เอง “ผ่านฉลุย” คุณกอร์ปศักดิ์จะไม่ค่อยชุนละเอียดซักเท่าไหร่!

เพราะฉะนั้น “ความอึดอัดใจ” ของบรรดารัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลต่างเก็บกดมายาวนาน พร้อมมีการบ่นท้อกับสื่อมวลชน จนเป็นข่าวอยู่เป็นประจำ โดยที่มีการประชุมเจรจานอกรอบหลายครั้งหลายครา แต่ก็ไม่เป็นผลสัมฤทธิ์แต่ประการใด

ยกตัวอย่างกรณีของ “งบกระตุ้นเศรษฐกิจภาค 1” ที่มีการอนุมัติงบประมาณประมาณ 1 แสนล้านบาท เมื่อราวเดือนมีนาคม ปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ไปหลายหมื่นล้านบาท นอกนั้น กระจัดกระจายไปสู่กระทรวงอื่นๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลประมาณกระทรวงละ 1,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น จนถึงขั้นโอดโอยกันถ้วนหน้า ว่าพรรคประชาธิปัตย์นำงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจไปเยอะจนน่าเกลียด

ตราบจนมีการกำหนด “งบกระตุ้นเศรษฐกิจภาค 2” ในจำนวนเม็ดเงินสูงถึง 1.43 ล้านล้านบาท แต่มีกำหนดระยะเวลาเกลี่ยงบประมาณในช่วง 3 ปี ที่เรียกว่า “ไทยเข้มแข็ง 2555” กล่าวคือ งบประมาณในส่วนนี้ จะดำเนินการใช้งบประมาณตั้งแต่ปี 2553-2555 โดยมุ่งเน้นไปที่ “การพัฒนา-สร้างงาน” กับโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างขั้นพื้นฐาน โครงการเมกะโปรเจกต์ ระบบขนส่งมวลชน พัฒนาแหล่งน้ำ การชลประทาน และการพัฒนาชนบทระดับท้องถิ่น เพียงแต่ว่า งบประมาณก้อนโตนี้ ยังมิได้มีการ “แบ่งเค้ก” กันว่า กระทรวงไหนจะได้ไปเท่าไหร่กับโครงการต่างๆ แต่มีการตั้ง “ข้อสังเกต-ข้อสมมติฐาน” กันเรียบร้อยแล้วว่า “กระทรวงประชาธิปัตย์” น่าจะได้การจัดสรรกันไปแบบอิ่มเอมเปรมปรีดิ์อีกแล้วครับท่าน!

กรณี “การระบายสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ที่กระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบอยู่นั้น ได้มีความพยายามที่จะระบายสต๊อกข้าวโพดฯ ที่รัฐบาลรับจำนำอยู่จำนวน 4.4 แสนตัน จากทั้งหมดประมาณ 1 ล้านกว่าตัน เนื่องด้วยสต๊อกข้าวโพดเลี้ยวสัตว์นี้ อยู่ในสต๊อกมายาวนานและภาครัฐ โดย “คณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)” ต้องแบกภาระโอบอุ้มรับจำนำในจำนวนเงินที่สูงมากแล้วนับหลักพันล้านบาท หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็หมายความว่า “รัฐบาล” ต้องแบกภาระเม็ดเงินในการจำนำที่ค้างอยู่หลายเดือน ซึ่งเป็น “เงินภาษีประชาชน” แทบทั้งสิ้น

ประเด็นปัญหา “การสูญเสียโอกาส” และ “เงินอุ้ม-เงินจำนำ” ที่ต้องแบกภาระในแต่ละเดือนนับพันล้านบาท จะต้องเพิ่มขึ้นทุกเดือน เมื่อยังไม่ได้มีการระบายสต๊อกข้าวโพดฯ ออกไป ทั้งๆ ที่มีบริษัทหลายแห่งพร้อมประมูลและจ่ายเงินทันที ตลอดจนเร่งระบายออกสู่ตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

จนข่าวล่าสุดปรากฏว่า บริษัทต่างๆ ที่พร้อมประมูลและได้มีข้อตกลงในเบื้องต้นนั้น ก็ต้องการยกเลิกการประมูลที่ผ่านขั้นตอนเบื้องต้น ด้วยการยกเลิก “เอกสาร-เครดิต” หรือมักเรียกกันว่า “Letter of Credit (L.C.)” เพราะลูกค้ารอไม่ไหว ตลอดจนสินค้ายิ่งเก็บไว้ในสต๊อกนานจะยิ่งเสียหาย!

“ความเสียหาย” ในเบื้องต้นที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้กับ “โอกาส” ที่ผ่านไป ในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศชาติจากจำนวนสต๊อกข้าวโพดฯ ทั้งหมดประมาณ 10,000 กว่าล้านบาท เฉพาะครั้งนี้ ยังไม่กล่าวถึง “สต๊อกข้าว” และสต๊อกอื่นๆ ที่ยังค้างคาอยู่ ส่วนผู้ที่ “เสียโอกาส-เสียรายได้” มากที่สุด คือ “ผู้ประกอบการ” และแน่นอน “พี่น้องเกษตรกร” ที่ต่างก็ยังไม่สามารถนำพืชผลที่ค้างอยู่ในโรงงานของเกษตรกรมาระบายต่อสู่ผู้ประกอบการได้!

ประเด็นปัญหาหลักๆ ที่ส่งผลกระทบกับการระบายสต๊อกข้าวโพดฯ ไม่ได้ตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนมีนาคม ราคาข้าวโพดได้ลดลงจากกิโลกรัมละ 7.54 บาท เป็น 7.33 บาท โดยปกติแล้ว ราคาข้าวโพดจะต้องสูงขึ้นในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว

ขณะนี้ราคาข้าวโพดส่งออกซึ่งผันผวนและทำให้เกษตรกรเสียราคาที่ตกลงมาแล้ว เนื่องด้วยถูกกดราคาจากผู้ซื้อ เพราะรัฐบาลยังไม่สามารถระบายสินค้าออกได้ ไหนจะค่าใช้จ่ายฝากเก็บโกดัง ค่าดอกเบี้ย และยิ่งนานวันเข้า ค่าใช้จ่ายจะทับถมไปเรื่อยๆ ซึ่งน่าจะสูงถึงหลัก 1 พันกว่าล้านบาทไปเรียบร้อยแล้ว พูดง่ายๆ คือ จากขาดทุนเดิมอยู่แล้ว ก็จะยิ่งขาดทุนไปเรื่อยๆ ถ้ามีการระบายช้า ปัจจุบันราคาลดลงจาก ก.ก.ละ 6 บาทกว่า เหลือประมาณ ก.ก.ละ 4 บาทเท่านั้น

“ขาดทุน” ทั้งรัฐบาล พ่อค้าคนกลาง ผู้ประกอบการส่งออก และท้ายที่สุด แน่นอนดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า “เกษตรกร” ที่ย่ำแย่อยู่แล้ว จะหนักเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะเท่าที่เฝ้าติดตามดูสถานการณ์ และถ้าเริ่มนับหนึ่งใหม่หมดจากความต้องการของรองนายกฯ กอร์ปศักดิ์ จะยิ่ง “พังพินาศ” มากกว่านี้ จริงๆ แล้ว เห็นสัญญาว่าจะเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารฯ ภายในสัปดาห์นี้ แต่ยังไม่มีวี่แววแต่ประการใด

“โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร” ที่ดำเนินการมาทุกยุคทุกสมัย ต้องถามว่า “มีโครงการฯ ไหนบ้างที่มีกำไร?” ส่วนใหญ่มัก “ขาดทุน” แทบทั้งสิ้น ยิ่งถ้ามา “ชักเย่อ” ปล่อยเวลาให้ยืดเยื้อไปอีก รับรองว่างานนี้มีแต่ “ขาดทุน!” และก็ “ขาดทุน!”

แต่ประเด็นที่มีการชี้แจงจากรองนายกฯ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ถึงการอนุมัติให้มีการระบายไม่ได้ เพราะ “การประมูล” ว่า “ขาดทุน” และ “คณะกรรมการ-คณะอนุกรรมการ” จากรัฐบาลชุดที่แล้วกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ผลเสียหายแก่กระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะรัฐมนตรีฯ กระทรวงพาณิชย์

“ความจริง” ที่สาธารณชนต้องเข้าใจว่า จริงๆ แล้ว ปัจจุบันมี “คณะกรรมการบริหารและบูรณาการข้าวโพด” มีรองนายกฯ กอร์ปศักดิ์ เป็นประธาน และ รมว.พาณิชย์ เป็นรองประธาน พร้อมทั้งมี “คณะอนุกรรมการด้านการตลาด” ที่มี รมว.พาณิชย์เป็นประธาน ได้รับคำสั่งตามนโยบายให้ส่งออกจากคณะกรรมการบริหารฯ

การประมูลเป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบ ซึ่งได้มีการประมูลเสร็จเรียบร้อย พร้อมได้แจ้งแก่คณะกรรมการบริหารฯ แต่เกิดการติดขัดว่าต้องขอให้เป็นมติคณะรัฐมนตรี เสมือนเป็น “การเตะถ่วง!” ทั้งๆ ที่การขอมติ ครม.นั้นไม่มีความจำเป็น เนื่องด้วยคณะกรรมการบริหารฯ สามารถดำเนินการได้ทันที คณะรัฐมนตรีเพียง “ทราบ” เท่านั้น

พอนำเข้าเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก็เกิดเหตุการณ์ดังที่ทราบๆ กันอยู่ว่า “กังวล” ถึง “ความโปร่งใส” และ “ขาดทุน” แต่ในความเป็นจริงนั้น กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนและกฎระเบียบทุกอย่าง ปัญหาที่เกิดขึ้น ขอย้ำว่า “เสียโอกาส-เสียเวลา-เสียเงิน” จากการกล่าวอ้าง พร้อมทั้งสินค้าด้อยคุณภาพเมื่อเก็บสต๊อกนาน!

แน่นอนที่สุดที่ “โครงการระบายสต๊อกสินค้าเกษตร” ต้องมีประเด็นข้อสงสัย ตลอดถึง “ความถูกต้อง” และ “โปร่งใส” ซึ่งเป็นกรณีปกติธรรมดา ทั้งนี้ว่าไปแล้ว การระบายสต๊อกข้าวโพดฯ ในครั้งนี้ “องค์กรอิสระ” ต่างๆ อาทิ “ป.ป.ช.-สตง.” สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ถ้ามี “การทุจริต” เมื่อใด ก็ถูกจ้องจับผิดทันทีอยู่แล้ว!

เป็นกรณีที่น่าเสียดายและล่วงไปจนถึง “เสียใจ” ที่การระบายสต๊อกข้าวโพดฯ ในครั้งนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบความเสียหายแก่พี่น้องเกษตรกร รัฐบาลที่มีแต่ “ขาดทุน” มากยิ่งขึ้น และจริงๆ แล้ว ก็ต้องถามด้วยว่า “การละเว้น” ในการ “ชะลอ” โครงการเลื่อนออกไปอีก “ผิดกฎหมาย” หรือไม่ ใครจะรับผิดชอบ!?!

ถ้าศึกษาและพิจารณากันอย่างลึกซึ้งทุกขั้นตอน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า รองนายกฯ กอร์ปศักดิ์ “งานเข้า” ที่น่าจะมีวาระซ่อนเร้นอย่างชัดเจน และมีแต่ “ผิด” กับ “ผิด!” ยังดีที่ทราบข้อมูลมาว่า ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ สานต่อได้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร!

ในเชิงของ “กฎระเบียบ-กฎหมาย” แล้ว ขอบอกว่า ถ้า “ความจริง” ปรากฏในที่สุดสู่สาธารณชน ชาติบ้านเมืองเสียหายไปบานเบอะแล้ว “ทีหลังอย่าทำ!”
กำลังโหลดความคิดเห็น