ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มีคดีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอาวุธสงครามเกิดขึ้นติดๆ กันหลายคดี ไม่ว่าจะเป็น คดียิงถล่ม นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งเอเอสทีวีผู้จัดการ และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งถือว่าเป็นคดีสะเทือนขวัญที่มีการก่อเหตุอย่างอุกอาจที่สุดคดีหนึ่ง , การจับกุมแก๊งค้าอาวุธสงครามชาวจีน ในพื้นที่จ.ชลบุรี ซึ่งคนมีสีเป็นผู้ส่งมอบสินค้า และล่าสุดคดีปล้นร้านทอง ที่พัทยา ซึ่งคนร้ายทั้ง 4 ใช้อาวุธสงครามกราดยิงอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์ว่า “อาวุธเหล่านี้ประชาชนทั่วๆไปก็สามารถหาได้” ทำให้หลายคนสงสัยว่า เหตุใดบ้านนี้เมืองนี้ ใครจะมีอาวุธสงครามไว้ครอบครองจะง่ายดายเช่นนั้น และ อาวุธร้ายแรงเหล่านี้มีที่มาจากไหน
พล.ต.ท.สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล และอดีตหัวหน้าหน่วยปราบปรามมือปืนรับจ้าง กองบังคับการตำรวจนครบาล ระบุว่าปัจจุบันกลุ่มมือปืนต่างๆ นิยมใช้อาวุธสงครามกันมากขึ้น เนื่องจากประสิทธิภาพรุนแรง และสามารถซื้อหาได้ง่าย
“เมื่อก่อนการใช้อาวุธสงครามในการก่อคดี มีน้อยมาก เรียกได้ว่าเมื่อ15-20 ปีที่แล้ว มือปืนส่วนใหญ่จะนิยมใช้ปืนลูกซอง , ปืน.38 และปืนไทยประดิษฐ์ เป็นหลัก และในสมัยนั้นในเขตกรุงเทพฯนี่ถ้ามีคดีที่ใช้อาวุธสงครามเกิดขึ้น หัวหน้าสถานีตำรวจในพื้นที่นั้นจะต้องถูกย้ายทันที ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่มีการใช้อาวุธสงครามกันอย่างแพร่หลาย คือสมัยก่อนแม้ว่าช่วงหลังจากสงครามอินโดจีนสงบลง จะมีปืนจะประเทศเพื่อบ้านทั้ง ลาว เวียดนาม กัมพูชา ทะลักเข้ามา แต่รัฐบาลจะปราบปรามอย่างเข้มข้น รวมทั้งใช้กลวิธีในการดึงอาวุธสงครามออกจากตลาด เช่น ให้ทางตำรวจกว้านซื้ออาวุธสงครามตามแนวชายแดนมาเก็บไว้”
ชายแดนไทย-กัมพูชาแหล่งค้ารายใหญ่
จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ตำรวจในหลายพื้นที่ชี้ชัดตรงกันว่า อาวุธสงครามส่วนใหญ่ที่กระจายอยู่ในประเทศไทยนั้นถูกลักลอบนำเข้ามาจากประเทศกัมพูชาซึ่งอาวุธหลักๆที่ถูกนำเข้ามามีอยู่ 2 ชนิด คือ ปืนอาก้า และ M16 ว่ากันว่าหลังจากมีการเซ็นสนธิสัญญายุติสงครามของเขมร 3 ฝ่าย ในช่วงปลายปี2534 และเลิกรบกันอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในปี2537 ขบวนการค้าอาวุธสงครามบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ก็ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
พ.ต.อ.ปรีชา ธิมามนตรี รองผู้บัญชาการศูนย์สืบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล อธิบายถึงเส้นทางการค้าอาวุธสงครามในไทยว่า
“สมัยก่อนอาวุธสงครามจะเข้ามาตามแนวตะเข็บชายแดน จุดที่ทะลักเข้ามามากคือบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะในช่วงหลังจากสงคราม 3 ฝ่ายในประเทศกัมพูชายุติลงใหม่ๆ ทหารกัมพูชาก็ลักลอบนำอาวุธสงครามที่ใช้ในกองทัพมาขายตามแนวตะเข็บชายแดน นอกจากนั้นก็มีการซื้อขายตามชายแดนไทย-พม่า โดยชนกลุ่มน้อยที่อยู่บริเวณชายขอบ”
หลากวิธีขนถ่ายสินค้า
สำหรับเส้นทางการลำเลียง และวิธีการค้าขายอาวุธสงครามตามแนวชายแดนไทยกัมพูชานั้น พ.ต.อ.กิตติพงษ์ เงามุข รองผู้บังคับการ หัวหน้าศูนย์สืบสวนสอบสวนตำรวจภูธร ภาค 2 ขยายความให้ฟังว่า
“เนื่องจากพื้นที่ภูธร ภาค 2 นั้นมีหลายจังหวัดซึ่งมีพื้นที่ติดกับประเทศกัมพูชา เช่น สระแก้ว จันทบุรี ตราด สามารถเดินข้ามไปมาหากันได้ เพราะไม่มีรั้วกัน เวลาหน้าแล้งพ่อค้าก็จะลักลอบนำอาวุธสงครามจากกัมพูชาข้ามมาส่ง โดยวิธีการก็มีทั้งนำมาซุกไว้ตามพุ่มไม้ตามแนวชายแดน แล้วนัดแนะลูกค้าคนไทยให้ไปเอาของ บางก็ซ่อนไว้ในช่องเก็บเครื่องในรถยนต์ ที่พบบ่อยที่สุดคือ ซุกซ่อนมากับสินค้าเกษตรต่างๆ ซุกไว้ใต้เข่งแล้วก็เอาผักวางทับๆ ลงไป ซึ่งการขนถ่ายลักษณะนี้บางทีแม้จะเข้าออกตามด่านชายแดนเจ้าหน้าที่ก็จับไม่ได้ เพราะแต่ละวันมีคนผ่านเข้าออกเยอะมาก จึงไม่สามารถตรวจค้นได้หมดทุกคน ยกเว้นแต่ว่าจะมีสายรายงานเข้ามา ซึ่งวิธีการทำงานของเราก็จะส่งสายเข้าไปแทรกซึมในกลุ่มของผู้ค้าอาวุธเพื่อติดตามการเคลื่อนไหว
อย่างล่าสุด ที่จับได้นั้นเป็นพ่อค้าอาวุธชาวจีน จากแผ่นดินใหญ่ ชื่อนายหลี เหว่ยหมิง เป็นพ่อค้าคนกลางที่จัดหาอาวุธสงครามส่งให้มาเฟียในฮ่องกง เขาเข้ามารับของจากคนไทย โดยให้ราคาสูงมาก ปืนอาก้า กับ M16 เขาให้กระบอกละ 2 แสน ขณะที่ราคาในตลาดมืดที่ขายอยู่ที่กระบอกละ 1 หมื่นเท่านั้น ซึ่งจากการสอบสวนพบว่า คนไทยที่จัดหาปืนให้นั้นเป็นนายทหารระดับจ่า สังกัดฐานทัพเรือสัตหีบ ก่อนที่จะวางแผนเข้าจับกุม เราได้รับรายงานจากสายว่าจะมีการนัดขนส่งสินค้ากันทางเรือ โดยมีนายหลี เหว่ยหมิง บินมาควบคุมการขนสินค้าลงเรือด้วยตัวเอง จากนั้นเขาก็จะบินไปรับสินค้าที่ท่าเรือฮ่องกง ซึ่งอาวุธที่จับได้ก็ไม่มาก มีแค่ ปืนเอ็ม 16 ,ปืนอาก้า และปืนพกสั้น 9 ม.ม. อย่างละ 1 กระบอก กระสุนรวม 600 กว่านัด แล้วก็เสื้อเกราะกันกระสุน 1 ตัว ซึ่งหลังจากนี้เราก็จะขยายผลถึงแหล่งที่มาของอาวุธเหล่านี้ต่อไป”
ด้าน พล.ต.ต.สมพงษ์ ทองวีระประเสริฐ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีชายแดนติดกับกัมพูชา ระบุว่า “เส้นทางที่นิยมขนอาวุธกันส่วนใหญ่ก็คือ เส้นทางที่ใช้หาของป่า แต่คนขนของต้องเป็นผุ้ที่ชำนาญเส้นทาง เพราะตามแนวชายแดนก็ยังมีระเบิดที่ทหารกัมพูชาฝังไว้หลงเหลืออยู่ แต่ทั้งนี้ปัจจุบันอาวุธสงครามที่เข้ามาทางด้านชายแดนไทย-กัมพูชานั้นลดน้อยลงมาก ปีหนึ่งจับได้เพียงไม่กี่ราย รายหนึ่งก็มีไม่กี่กระบอก นอกนั้นก็เป็นพวกเครื่องกระสุน และวัตถุระเบิด ซึ่งผิดกับเมื่อ 7-8 ปีก่อน ที่มีการขนอาวุธสงครามกันเป็นคันรถเลย แต่ที่เรายังเห็นว่ามีการใช้อาวุธสงครามกันเกลื่อนเมือง ก็น่าจะเป็นอาวุธเก่าที่ซื้อขายเปลี่ยนมือและหมุนเวียนกันอยู่ในตลาด”
M 79 มาจากไหน
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าการซื้อขายอาวุธสงครามตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาซึ่งจัดว่าเป็นแหล่งใหญ่ในการแพร่กระจายอาวุธสงครามนั้น นอกจากปืนอาก้าและ M 16 ซึ่งมีการซื้อขายกันมาตั้งแต่หลังสงครามเขมร 3 ฝ่ายแล้ว ในช่วงหลายปีมานี้ยังมี M79 เขามาขายตามแนวชายแดนด้วย ซึ่งอาวุธสงครามอานุภาพร้ายแรงดังกล่าวนั้น ถูกนำเข้ามาโดยพ่อค้าคนกลางที่มีสายสัมพันธ์กับนายทหารระดับสูงของกัมพูชา แล้วจึงกระจายมาสู่เอเยนต์ชาวไทย และกลุ่มที่เป็นผู้ค้ารายใหญ่ที่สุดก็หนีไม่พ้น ‘คนมีสี’ ซึ่งมีมีบารมีพอที่จะปูทางให้การขนถ่ายและกระจายสินค้าเป็นไปอย่างราบรื่น จึงไม่แปลกที่ในช่วงที่ผ่านมาจะมีการก่อเหตุร้ายโดยใช้ M79 เป็นเครื่องทุ่นแรง ไม่ว่าจะเป็นกรณียิง M 79 เข้าใส่พันธมิตรฯ ที่ชุมนุมอยู่ในทำเนียบฯ มือมีดยิง M 79 เข้าไปในศาลรัฐธรรมนูญ หรือกรณียิงถล่มคุณสนธิ ซึ่งมี M79 เป็นหนึ่งในอาวุธสังหาร
แหล่งข่าวระดับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ระบุว่า “อาวุธสงครามที่อยู่ในคลังของตำรวจและทหารนั้นจะมีการบันทึกรายการไว้โดยละเอียด มีหลักฐานในการเบิกจ่ายว่านำอาวุธออกมาวันไหน จำนวนเท่าไร ดังนั้นการนำ M79 ออกมาใช้ หรือเอาออกมาจำหน่ายจึงเป็นเรื่องยาก ทางหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ ผู้ที่จัดซื้ออาศัยสายสัมพันธ์ที่มีกับนายหน้า หรือบริษัทที่ขายอาวุธสงคราม สั่งซื้ออาวุธสงครามต่างๆ เป็นการส่วนตัว แล้วก็เอามาขายในตลาด เท่าที่รู้อาวุธสงครามที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทยตอนนี้นั้น ทุกชนิดรวมกันมีอยู่ประมาณ 1,000 กว่ากระบอก ซึ่งอาวุธเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนมือกันไปเรื่อยๆ บางคนใช้สังหารเหยื่อเสร็จก็ขายทิ้งเพราะไม่อยากเก็บไว้เป็นหลักฐาน"
‘คนมีสี’ พ่อค้าอาวุธตัวจริง
ขณะที่นายทหารซึ่งมีความแม่นยำด้านการข่าวอีกท่านหนึ่ง อธิบายถึงกระบวนการในการนำอาวุธร้ายแรงอย่าง M79 มาก่อเหตุเพื่อหวังผลทางการเมืองว่า M79 ที่ใช้ก่อเหตุในกรณีข้างต้นนั้น ไม่ได้ออกมาจากกองทัพอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่เป็นอาวุธที่นำเข้ามาจากฝั่งกัมพูชา โดยผู้ที่จะทำมาหากินในเส้นทางนี้ได้ก็ต้องมีบารมีมากพอ ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็หนีไม่พ้น ‘คนมีสี’ โดยเฉพาะนายทหารระดับนายพล ทั้งที่เป็นนายทหารนอกราชการและที่ยังรับราชการอยู่
บุคคลเหล่านี้จะมีสายสัมพันธ์อันดีกับนายทหารระดับสูงของกัมพูชา และใช้คอนเนกชั่นของนายพล ชาวกัมพูชาในการติดต่อซื้อขายกับนายหน้าที่ค้าอาวุธให้กองทัพกัมพูชา และด้วยความที่เป็นนายทหารระดับสูง ซึ่งอยู่ในวงการทหารมานานการจะเคลียร์เส้นทางเพื่อนำอาวุธสงครามเข้ามาในไทยจึงไม่ใช่เรื่องยาก โดยพาหนะที่ปลอดภัยที่สุดในการขนย้ายก็คือรถของทหารนั่นเอง
“พ่อค้าอาวุธสงครามรายใหญ่ในประเทศไทยตอนนี้ก็มีแต่คนมีสีทั้งนั้น เขาก็จะมีนายทหารรุ่นน้องๆ ที่รักใคร่เกรงอกเกรงใจกันช่วยเคลียร์เส้นทางให้ ส่วนใหญ่ก็ฝากมากับรถทหารนั่นแหละ แหม..เอาของใส่รถทหารมาใครจะกล้าค้น พอเข้ามาในประเทศแล้วการค้าขายก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะของพวกนี้มันมีกลุ่มคนที่ต้องการอยู่แล้ว และวงการเขาก็จะรู้กันว่า ถ้าอยากได้ของต้องไปติดต่อใคร ส่วนใหญ่เขาก็จะให้นายทหารตัวเล็กๆ พลทหารบ้าง จ่าบ้าง ซึ่งเป็นลูกน้องเขาเป็นคนขนของไปส่งลูกค้า หรือบางทีก็ทำหน้าที่เซล ช่วยติดต่อกระจายสินค้าให้ด้วย
คนมีสีที่เป็นพ่อค้าอาวุธสงครามที่ขึ้นชื่อที่สุดในวงการตอนนี้คือ “พล.อ. พ.พาน” เป็นนายทหารนอกราชการ เขามีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ “นายพล ซ.โซ่” ของกัมพูชา เขาก็ติดต่อกับผู้ค้าอาวุธในกัมพูชา ผ่านนายพล ซ.โซ่ นอกจากนั้นน้องชายของ พล.อ.พ.พาน คือ “พล.ท. ต.เต่า” ซึ่งยังรับราชการทหารอยู่ ก็ไปร่วมลงทุนกับนายพล ซ.โซ่ ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และบ่อนการพนันในกัมพูชาด้วย
อาวุธสงครามที่คนมีสีพวกนี้นำเข้ามาก็จะมีทั้งอาก้า , M16 , M79 แล้วก็มีลูกน้องที่เป็นนายทหารคอยจัดส่งสินค้า สังเกตได้ว่าเวลามีการจับกุมอาวุธสงครามจะมีทหารระดับปลายแถวเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอ บางทีก็เป็นคนติดต่อจัดหารอาวุธ บางทีก็เป็นคนขับรถ ส่วน M79 ที่ใช้ก่อความวุ่นวายในช่วงที่ผ่านมาก็มาจากเขมรนี่แหละ การจะเอาปืนออกมาจากกองทัพนั้นเป็นไปได้เลย แต่ถ้าหากเป็นเครื่องกระสุนนี่ สามารถเอาออกมาได้ ทั้งกระสุน M16 , ลูกระเบิด M79 โดยจะเอาออกมาในช่วงที่มีการซ้อมยิง เช่น ทำเรื่องเบิกออกมา 100 นัด อาจใช้จริงแค่ 50 นัด ที่เหลือก็เอาออกมาขาย”
สนนราคา
สำหรับสนนราคาของอาวุธสงครามที่มีการซื้อขายในปัจจุบันนั้นสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เนื่องจากปริมาณสินค้าเริ่มขาดแคลน โดยเมื่อ 4-5 ปีก่อนนั้น ปืนอาก้า และปืน M16 ที่ขายตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ราคาเพียงกระบอกละ 5,000 -6,000 บาทเท่านั้น แต่ปัจจุบัน อาก้า ราคาขึ้นไปถึง กระบอกละ 10,000 -12,000 บาท ส่วน M16 ราคาอยู่ที่ 10,000 -15,000 แต่หากอาวุธถูกขนส่งเข้ามาขายในตลาดมืดของไทย อาก้า ราคาจะขึ้นไปที่ 15,000-17,000 บาท ส่วน M16 ขยับไปถึง 20,000 บาท
ส่วน M79 ที่ซื้อขายกันปัจุบันมีอยู่ 2 รุ่น คือ 1) M 203 ซึ่งเป็นการนำปืน M16 A1 มาประกอบกับเครื่องยิง M 79 โดยรุ่นนี้ใช้ยิงได้ทั้งลูกกระสุนของ M16 และลูกระเบิดของ M79 สนนราคาอยู่ที่ 25,000 บาท และ 2) M79 ซึ่งเป็นเครื่องยิงระเบิด M79 ราคาที่ขายตามแนวชายแดนอยู่ที่ 10,000 บาท แต่หากนำเข้ามาขายในประเทศจะอยู่ที่กระบอกละ 15,000 บาท
เรื่อง จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
หมายเหตุ : ขอขอบคุณ ข้อมูลบางส่วนจากบทความ ‘เปิดใจมือปืน’ จากบล็อกโอเคเนชั่น