xs
xsm
sm
md
lg

ผวาจีดีพียังไม่ต่ำสุด กรณ์เตือนอย่ามั่นใจ ต้องลุ้นปัจจัย ตปท. นายกฯกู้เต็มเพดาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "กรณ์" ไม่มั่นใจเศรษฐกิจไทยแตะจุดต่ำสุดใน Q1/52 เพราะยังขึ้นอยู่กับปัจจัยเศรษฐกิจโลก แต่เริ่มเห็นสัญญาณดีจากการเลิกจ้างที่ชะลอตัวลง พร้อมยอมรับรายได้รัฐหลุดเป้า 3 แสนล้าน แต่ยังไม่ถึงขั้นขึ้นVAT-เก็บภาษีที่ดิน นายกฯ ยอมรับสภาพพิษเศรษฐกิจต้องกู้เงินเต็มเพดาน 60%ของจีดีพี เชื่อต่างชาติยอมรับได้ เผยแหล่งเงินกู้ในประเทศล้น 8 แสนล้าน รัฐบาลกู้ได้โดยไม่กระทบสภาพคล่อง 

กรณีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 1/52 จะติดลบถึง 5% c]tเป็นจุดต่ำสุดของปี นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้หรือไม่ เพราะยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเศรษฐกิจโลกจะถึงจุดต่ำสุดเมื่อไร แต่ในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจเมื่อวันพุธที่ผ่านมาเห็นว่าขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากตัวเลขการเลิกจ้างที่ชะลอตัวลง

ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 1.56 ล้านล้านบาทในระยะ 3 ปีข้างหน้า เน้นโครงการลงทุนเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน ส่วนใหญ่เป็นระบบน้ำระบบชลประทาน และมีโครงการเล็กๆ เช่น ถนนปลอดฝุ่น ระบบคมนาคมขนส่ง เชื่อว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น ภาคเอกชนจะมีการขยายการลงทุนตาม และส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

"เม็ดเงินลงทุนดังกล่าวคิดเป็น 7-8% ของจีดีพี ปัญหาหลักของการลงทุนคือเมื่อมีนโยบายแล้วทำได้จริงหรือไม่ เพราะมีการพูดมาหลายปีแล้ว ยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้า ปัญหาอยู่ที่การบริการจัดการ มักจะโทษกันไปมา ข้าราชการก็จะโทษว่าเพราะนักการเมือง นักการเมืองก็โทษข้าราชการ ก็เป็นความท้าทาย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพราะการลงทุนภาครัฐมีเพียง 20% ที่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ 80% ต้องอาศัยการลงทุนจากภาคเอกชนเป็นหลัก

รมว.คลัง ยังกล่าวถึง ปัญหาการชะลอตัวของสินเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่เฉพาะไทย รัฐบาลมีหลายแนวทางที่จะกระตุ้นให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบมากขึ้น ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยววงเงิน 5,000 ล้านบาท และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)ก็จะค้ำประกันสินเชื่อให้ภาคเอกชนกู้เงินเพื่อชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกลางปี เพื่อช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่อง

ยังไม่ขึ้น VAT-เก็บภาษีที่ดิน

รมว.คลังยอมรับว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 52 มีแนวโน้มจะต่ำกว่าเป้าหมายถึง 3 แสนล้านบาท จากประมาณการรายได้ที่ตั้งไว้ที่ 1.5 ล้านล้านบาท โดยช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 52 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าแล้วกว่า 50,000 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อการขาดดุลงบประมาณ และมีผลต่อเงินงบประมาณที่รัฐบาลจะนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การขาดดุลงบประมาณของไทยที่ 5% ของจีดีพี เมื่อเทียบต่างประเทศถือว่าอยู่ระดับต่ำมาก หากเทียบต่างประเทศ เช่นอังกฤษ ขาดดุลงบประมาณสูงถึง 12% ของจีดีพี เพราะเค้าต้องใช้งบประมาณไปเพิ่มทุนให้สถาบันการเงิน และอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศที่ยังอยู่ระดับที่ดีและมีสภาพคล่องในประเทศระดับสูง เอื้อต่อการที่รัฐบาลจะระดมเงินมาใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินกู้จากต่างประเทศ

"หากเทียบกับต่างประเทศ การเงินการคลังของเรายังดูดี สภาพคล่องเรายังมีอยู่สูง ถือเป็นความได้เปรียบกว่าหลายประเทศ ของเราขาดดุลระดับน่าไม่น่าเป็นห่วง" นายกรณ์กล่าวและว่า แม้รัฐบาลจะมีปัญหาในการจัดเก็บรายได้ แต่ก็ยังไม่มีนโยบายที่จะเพิ่มการจัดเก็บภาษี ทั้งการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือการขยายฐานภาษี โดยการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภาษีทรัพย์สิน) เนื่องจากยังไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสม แตก็ยอมรับว่าการปรับขึ้น VAT ทุก 1% จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 50,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลได้ลดอัตรา VAT จาก 10% เหลือ 7% มาหลายปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตรัฐบาลจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบอย่างแน่นอน เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี เนื่องจากปัจจุบันมีภาคแรงงานกว่า 30 ล้านคน แต่มีการเสียภาษีเงินได้แค่ 5 ล้านคน ขณะที่รัฐบาลจะเพิ่มโอกาสในการหารายได้ภาครัฐ นอกเหนือจากการเก็บภาษี เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจหรือการพัฒนาที่ราชพัสดุ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางทรัพย์สินของรัฐ

มาร์คจำนนพิษ ศก.กู้เงินเต็มเพดาน

วันเดียวกัน ที่สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อาคารพญาไท พลาซ่า เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (30 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการบรรยายเรื่อง "แนวนโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และสังคม" ตอนหนึ่งว่า การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจจะวางหลักใหญ่ๆ สำคัญคือ จุดแข็งของประเทศอยู่ที่การวางแผนด้านการเกษตร การผลิตอาหาร และพลังงานทดแทนเป็นทิศทางสำคัญ อีกทั้งเพิ่มผลผลิต และประสิทธิภาพทางการเกษตร รวมไปถึงการกระจายแหล่งน้ำ อันดับสองคือ ภาคอุตสาหกรรมด้านยานยนต์ให้สนับสนุนพลังงานทดแทน และอิเล็กทรอนิคในบางส่วน สิ่งสำคัญสนับสนุนเศรษฐกิจ อิงความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นอีกทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มผสานต้นทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า โดยสนับสนุนด้านการศึกษาวิจัยและมีระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา  ในด้านการภาคบริการมีศักยภาพเติบโตมากรวมไปถึงการท่องเที่ยวอีกด้วย จะต้องมีการปรับโครงสร้างการลงทุน

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐบาลได้รวบรวมแผนการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 จำนวน 1.5 ล้านล้านบาท ในปลายปีข้างหน้าซึ่งเริ่มต้นได้ในปีนี้ทั้งแหล่งน้ำ ระบบโลจิสติก ระบบรถไฟรางคู่ สาธารณูปโภคพื้นฐาน  ในด้านการศึกษารัฐบาลต้องปรับปรุงคุณภาพ ในด้านสาธารณสุขจะยกระดับคุณภาพของสถานีอนามัยตำบลให้เป็นโรงพยาบาล สร้างเสริมสุขภาพระดับตำบล ขณะเดียวกันโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง เป็นเหตุสำคัญที่คนไทยเสียชีวิต เช่นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต  และเบาหวาน  เป็นเรื่องที่จะต้องมีการลงทุน  รวมไปถึงการทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งหลายประเทศกำลังรณรงค์อยู่ในการกระตุ้นและปรับโครงสร้างพร้อมๆ กัน ในด้านการพัฒนา 3 และ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องมีการยกระดับรายได้ขึ้นมาอย่างชัดเจนเพื่อช่วยเหลือเรื่องการแก้ไขปัญหาความไม่สงบด้วย

ประเด็นปัญหาคือ เรื่องตัวเลขในการจัดเก็บภาษีปีงบประมาณปัจจุบันจัดเก็บต่ำกว่าเป้าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านแน่นอน สำหรับงบประมาณปี 53 ต้องมีงบน้อยกว่าปี 52 งบประมาณต้องลดลง ถ้าเราจะต้องขาดดุลอยู่ในระดับที่กำหนดในกฎหมาย งบต้องลดลง อย่าว่างบประมาณที่ใครหวังว่าจะได้งบประมาณมากกว่าเดิม จะมากกว่าปีที่แล้วก็ไม่ได้ หรือได้เท่าปีปัจจุบันก็ไม่ได้ หมายความว่า ถ้าหักงบประจำหรืองบผูกผัน ก็แทบจะไม่มีโครงการใหม่เลยในงบปี 53  นี่คือข้อจำกัด ในแง่ของการบริหารงบ 1.5 ล้านล้าน ต้องแบ่งเบาโดยให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ โดยพีพีพีในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง  และการกู้เงินในต่างประเทศ ทั้งไอเอ็มเอฟ และเวิลด์แบงก์ในขณะนี้เปิดรูปแบบเงินกู้ใหม่ทั้งสิ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหากระตุ้นเศรษฐกิจ ทุกประเทศเห็นพ้องต้องกันมากว่าต้องกู้เงิน เพื่อลงทุนและรักษาฐานทางเศรษฐกิจของตัวเอง

ส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 40 ของจีดีพี จะพุ่งสูงถึงร้อยละ 60 ใกล้เคียงกับวิกฤติเศรษฐกิจรอบที่แล้วที่พุ่งสูงถึงร้อยละ 65  เป็นตัวเลขที่ทั่วโลกยอมรับได้ ไม่น่าตกใจว่าจะกระทบต่อเสถียรภาพ ส่วนการกู้เงินในประเทศ สามารถทำได้โดยไม่กระทบ เพราะในระบบสถาบันการเงินมีเงินเยอะ

"รัฐบาลพยายามอย่างมากทั้งนโยบายดอกเบี้ยชัดเจน ตามหลักเกณฑ์ปัจจุบันสถาบันทางการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ เพราะไม่มั่นใจกลัวความเสี่ยง ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นมีการประเมินว่ามีถึง 8 แสนล้าน ฉะนั้นการที่รัฐบาลจะกู้เงินในประเทศดึงสภาพคล่องออกมาถือว่าทำได้"

ทีรัฐสภา นายกฯ กล่าวถึงการกู้เงินว่า วันที่ 6 พ.ค.จะสรุปการใช้เงินปี 52 และต่อเนื่องอีก 2 ปี จะดูตามรัฐธรรมนูญว่าตรงไหนควรออกเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ.และยืนยันว่าจะไม่รอให้ปิดสมัยประชุม ที่ผ่านมา พ.ร.ก.ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังในการกู้เงิน ในอดีตจะออกเป็น พ.ร.ก.ทั้งหมด โดยครั้งสุดท้ายปี 2545.
กำลังโหลดความคิดเห็น