xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์ เตือนการเมืองป่วนฉุด “จีดีพี” ปี 52 ติดลบหนัก 4.9%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธนาคารโลกหั่นเป้า ศก.ไทยปีนี้ “จีดีพี” ติดลบ 2.7% ต่ำสุดในประเทศเพื่อนบ้าน จากเดิมคาดว่า จะโต 2% แนะจับตาหาก ศก.โลกไม่ฟื้น-การเมืองป่วน “จีดีพี” มีโอกาสติดลบถึง 4.9%

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ฉบับแรกในปี 2552 โดยระบุว่า การค้าโลกที่ถดถอยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ธนาคารโลกปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ลงมาอยู่ที่ติดลบร้อยละ 2.7 จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะเติบโตร้อยละ 2 และประเมินว่า หากกรณีเลวร้ายสุด หากเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัวและปัญหาการเมืองในประเทศ เศรษฐกิจจะติดลบถึงร้อยละ 4.9

น.ส.กิริฎา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยถือว่า ติดลบมากที่สุดในประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และถือเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ที่เศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 4-5 ทุกปี และหากเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 2550 ที่เติบโตร้อยละ 4.9 แต่ปีนี้ติดลบถึงร้อยละ 2.7 สะท้อนถึงความแตกต่างที่เศรษฐกิจไทยติดลบถึงร้อยละ 7.6

ทั้งนี้ คาดว่า การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก คาดว่า มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์หดตัวร้อยละ 17 รายได้การท่องเที่ยวก็ปรับลดลงเช่นกัน ขณะที่การลงทุนหดตัวลงร้อยละ 2.1 ซึ่งเป็นผลจากการที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นกับเหตุการณ์การเมือง การบริโภคขยายตัวเพียงร้อยละ 1.4 ส่วนการนำเข้าหดตัวร้อยละ 16.4 ตามภาวะอุปสงค์ในประเทศที่ไม่กระเตื้องขึ้น

สำหรับเม็ดเงินที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ธนาคารโลก เห็นว่า มีขนาดปานกลาง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และเห็นว่า รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินมาตรการในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึงร้อยละ 0.5-1.7 ต่อจีดีพี ส่วนแผนการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 1.56 ล้านล้านบาท หากเบิกจ่ายได้หมดตามแผนที่วางไว้ในระหว่างปี 2553-2555 จะช่วยเพิ่มการลงทุนภาครัฐ คือ ปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ต่อจีดีพี ปี 2554 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ต่อจีดีพี ปี 2555 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1 ต่อจีดีพี อย่างไรก็ตาม หากแผนการลงทุนล่าช้า ผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจจะล่าช้าตามไปด้วย

น.ส.กิริฎา กล่าวด้วยว่า ธนาคารโลกยังเป็นห่วงอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น และเส้นแบ่งความยากจนที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบและคนงานรับเหมาช่วงที่ไม่ได้รับสวัสดิการ ซึ่งแรงงานเหล่านี้มีความเปราะบางมาก และอาจจะไม่กลับเข้าสู่ภาคการเกษตร ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ควรให้ความสำคัญกับแรงงานกลุ่มนี้

อย่างไรก็ตาม ผลจากรายได้การจัดเก็บภาษีที่ลดลงอย่างมาก ทำให้งบประมาณของไทยอยู่ในฐานะการขาดดุลประมาณ 525,000 ล้านบาท รัฐบาลต้องหาแหล่งเงินกู้เพื่อมาสนับสนุนการลงทุนในโครงการพื้นฐาน ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องหาวิธีการลดการขาดดุลงบประมาณลงในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และให้เตรียมรับมือกับกระแสเงินทุนไหลเข้า ซึ่งจะมีผลทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้

“ส่วนการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่เสนอข่าวไปต่างประเทศจะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว แต่หากรุนแรง ถึงขั้นทำให้รัฐบาลไม่มั่นคง จะมีผลต่อเนื่องที่กระทบการลงทุน เพราะจะมีผลถึงนโยบายของรัฐบาล”

อย่างไรก็ตาม นายแมทธิว เวอร์กิส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเป็นบวกในปี 2553 เหมือนกับเศรษฐกิจโลก และจะขยายตัวถึงร้อยละ 4-5 ในปี 2556
กำลังโหลดความคิดเห็น