xs
xsm
sm
md
lg

“กอร์ปศักดิ์” สอนมวย “แม้ว” เปรียบกู้นอก-ผลประโยชน์ทับซ้อน ใครนำชาติลงนรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กอร์ปศักดิ์” แจงการกู้เงินต่างประเทศ เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ถือเป็นการบริหารเครดิตประเทศ เพราะแสดงถึงสถานะความมั่นคงด้านการเงิน ไม่ใช่การนำประเทศไปลงนรก ตามที่มีการเป่าหูเสื้อแดงในวิดีโอลิงก์วันเสาร์ ยันผู้นำที่ดี ควรห่วงแนวทางใช้เงินให้เกิดประสิทธิภาพ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และการทุจริตโกงกิน มากกว่า

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการที่ฝ่ายค้านจ้องโจมตีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเตรียมกู้เงินต่างประเทศ เพื่อนำมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยระบุว่า ประเด็นสำคัญของการกู้เงินจากต่างประเทศ น่าจะอยู่ที่การกู้เงินแล้ว นำมาใช้เพื่อประโยชน์ในด้านใดมากกว่าที่จะมาคิดว่า การกู้เงินจำนวนมากจะทำให้ประเทศชาติเสียหาย ซึ่งเป็นการมองเพียงด้านเดียว และพูดข้อมูลไม่หมด อาจทำให้ประชาชนที่รับข่าวสารเกิดความสับสนได้

นายกอร์ปศักดิ์ ระบุเสริมว่า สิ่งสำคัญของการจะกู้เงินได้ คือ การที่ประเทศมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากเพียงพอที่จะชำระคืนเงินกู้ได้ ซึ่งนั่นหมายถึงประเทศไทยยังมีเครดิตที่ดีพอ

“ประเด็นมันอยู่ที่ว่าถ้าไปกู้แล้วไม่มีเงินทุนสำรองและเราไปกู้ เราไม่มีเครดิต ตรงนั้นต่างหากที่เป็นประเด็นว่าเราจะไปกู้ไม่ได้ แต่วันนี้เครดิตเราดี และเราไปกู้ได้ นี่เป็นเรื่องปกติ เงินกู้ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญ แต่สำคัญว่ากู้เอาไปทำอะไร ที่นายกรัฐมนตรี พูดว่ารัฐบาลนี้จะกู้ แต่กู้แล้วไม่โกง ไม่เอาเงินไปโกง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน นี่เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการกู้”

โดยเมื่อคืนวันที่ 28 มีนาคม 2552 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านวิดีโอลิงก์มายังที่ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง โดยแสดงความเป็นห่วงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะแก้ไขกฎหมายเพื่อขยายเพดานการกู้เงิน และขยายกรอบหนี้สาธารณะ 60% ของจีดีพี รวมทั้งการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณของประเทศ ซึ่งเห็นว่าการกู้เงินจำนวนมากเท่ากับพาให้ประเทศลงนรก

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแก้กฎหมายเพื่อขยายเพดานการกู้เงิน คงยังไม่สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ในเร็วๆ นี้ เพราะขณะนี้ยังต้องรอการพิจารณาคัดเลือกโครงการต่างๆ ที่จะได้รับงบประมาณภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ช่วงปีงบประมาณ 2553-2555 จำนวน 1.56 ล้านล้านบาทก่อน ว่า ตัวเลขที่แท้จริงจะมีมูลค่าโครงการที่ต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาลเท่าใด และหากไม่เพียงพอจำเป็นต้องกู้จากต่างประเทศอีกเท่าใด จากนั้นจึงจะค่อยพิจารณาความจำเป็นในการกู้เงิน

“ครม.เศรษฐกิจได้ให้ความเห็นชอบการใช้เงินปีละประมาณ 5 แสนล้านบาท เราต้องดูแหล่งเงิน รมว.คลัง จะไปดู ตราบใดที่ยังไม่ดูแพ็คเกจที่ว่าเราจำเป็นจะต้องขยับตรงไหนบ้างนั้น ก็ยังไม่ชัด พอเราไปดูตรงนั้นจะรู้ว่าวงเงินงบประมาณที่จะใช้สักแสนแปดได้ไหม เราจะเหลืออีกสามแสน จะมาจากแหล่งเงินกู้เท่าไร ถ้าไม่พอ ต้องกู้เพิ่ม เราติดเพดานไหนบ้าง ตรงนี้ถึงจะกลับเข้ามาเป็นแพ็คเกจเสนอสภา เพื่อดูว่า ตรงไหนต้องทำอย่างไร คงอีกสักระยะ แต่ต้องเร็ว ต้องเสร็จภายในหนึ่งเดือน”
กำลังโหลดความคิดเห็น