xs
xsm
sm
md
lg

การเดินทางของมหาอำนาจ มังกรจีนยุคฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มังกรจีนมหาอำนาจเอเชียในช่วงทศวรรษนี้เป็นที่จับตามองของหลายประเทศทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม แต่การเติบโตด้านเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องที่มีการจับตามองกันอย่างกว้างขว้าง เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศจีนมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันยังนับเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญขในการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม วิกฤตเศรษบฐกิจโลกที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบไปถึงประเทศมหาอำนาจแห่งนี้ด้วยเช่นเดียวกับที่ประเทศไทยได้รับ โดยเศรษฐกิจจีนชะลอตัวติดต่อกันมานานถึง 4 ไตรมาสจนเหลือร้อยละ 6.8 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้ภาคส่งออกที่ซบเซา กดดันให้อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2551 เหลือร้อยละ 9 ต่ำสุดในรอบ 7 ปี

ทั้งนี้ จากสถาการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลจีนต้องหามาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในโลก โดยทางการจีนยังคงเป้าหมายให้เศรษฐกิจในปี 2552 เติบโตร้อยละ 8 ด้วยการวางแผนใช้เงิน 9.08 แสนล้านหยวน หรือ 1.32 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2552 โดยส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ทางการจีนใช้จ่ายเงินไปมูลค่า 130,000 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.3 ของงบประมาณใช้จ่ายที่ตั้งเป้าหมายไว้ในปีนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวรุนแรงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลประกอบการของภาคธุรกิจหดตัว จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้น และภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากและเน้นการส่งออกเป็นหลักต้องประสบปัญหารุนแรง **การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้คงต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนภายในในภาวะที่ภาคส่งออกต้องเผชิญกับภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่องตามเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักที่มีแนวโน้มยังไม่ฟื้นตัวในปีนี้ คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่มีเป้าหมายเพิ่มการจ้างงาน อาจช่วยบรรเทาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงได้ระดับหนึ่ง**

นอกจากนี้ เม็ดเงินมูลค่าสูงราว 1.5 ล้านล้านหยวนที่ทางการจีนทยอยใช้จ่ายในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้แก่ ที่อยู่อาศัยราคาต่ำ การศึกษา การสร้างทางรถไฟ และการบูรณะพื้นที่เสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว คาดว่าอาจจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรให้เติบโตได้ในระยะต่อไป และมีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนเติบโตดีขึ้นตามไปด้วย สาขาการผลิตที่คาดว่าจะได้รับผลดี ได้แก่ อุปกรณ์/วัสดุก่อสร้าง โดยมีการคาดการณ์ว่ายอดขายอุปกรณ์ก่อสร้างในจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ขณะที่มาตรการด้านภาษีเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจในประเทศและภาคส่งออก ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจภายในและบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวรุนแรงของภาคส่งออกตามเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม จีนอาจต้องเผชิญความเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะเงินฝืด อัตราเงินเฟ้อของจีนที่ติดลบอย่างรวดเร็วจะยิ่งส่งผลให้ความต้องการบริโภคลดลง ประชาชนใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้นและอาจเป็นปัจจัยลบที่ทำให้ภาคค้าปลีกอ่อนแรงลง แต่คาดว่าเม็ดเงินอัดฉีดเงินของทางการจีนที่มีแผนใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนน่าจะช่วยขับเคลื่อนอุปสงค์ในประเทศให้ปรับตัวดีขึ้นซึ่งคาดว่าจะค่อยๆ เห็นผลตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป นอกจากนี้ จีนอาจต้องเผชิญความเสี่ยงจากหนี้ด้อยคุณภาพและการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของการให้กู้ยืม รวมทั้งการกระจายเงินทุนอาจต้องเผชิญข้อจำกัดและอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะกระตุ้นภาคเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมีมุมมองเกี่ยวกับประเทศจีนในปี 2552 อีกว่า หลังจากที่รัฐบาลจีนมีการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นจะทำให้ดุลงบประมาณของจีนมีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้นในปีนี้ขณะที่รายรับที่ลดลงในปีนี้ตามผลประกอบการของภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจที่ชะลอตัว คาดว่าจะทำให้งบประมาณของจีนในปีนี้ขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 950 พันล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3 ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.4 ในปี 2551 นับว่าเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 60 ปี

อย่างไรก็ตาม**ข้อได้เปรียบของจีนจากการมีเงินสำรองต่างประเทศมูลค่า 1.95 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ขณะที่หนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีที่ร้อยละ 10 ยังถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทำให้จีนยังมีความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับตลาดภายในขนาดใหญ่และยังมีศักยภาพที่เติบโตได้ ทำให้คาดว่าแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มาจากภาคเศรษฐกิจภายในจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจโลก** และประคับประคองเศรษฐกิจจีนให้ขยายตัวต่อไปได้ระดับหนึ่ง แต่จีนยังคงต้องเผชิญปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มหดตัวรุนแรงในปีนี้ ถือเป็นปัจจัยถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจจีน และปัญหาการว่างงานยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงตามภาคส่งออกที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งอาจกดดันต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของจีนตามมาด้วย แม้การใช้จ่ายของภาครัฐจะช่วยเพิ่มการจ้างงานในประเทศได้บ้างก็ตาม

จากปัจจัยที่กล่าวถึงข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มีการคาดการณ์ว่า ทางการจีนน่าจะคงรอประเมินผลของการเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้ดำเนินการไปแล้ว สถานการณ์ของภาคส่งออกและภาวะเศรษฐกิจโลก และหากมีความจำเป็นเชื่อว่าทางการจีนคงจะเพิ่มงบรายจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากการขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพีของจีนแม้ว่าจะสูงขึ้นในปีนี้ แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ทำให้จีนยังสามารถเพิ่มการขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก เพื่อให้เศรษฐกิจจีนในปีนี้เติบโตได้ร้อยละ 8 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ขณะที่นักวิเคราะห์ต่างคาดว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 8 ในปีนี้ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตร้อยละ 6.7 ขณะที่ Consensus Forecast คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวร้อยละ 7 ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ร้อยละ 8 ตามที่ทางการจีนตั้งเป้าไว้ แต่ก็ยังถือว่าชะลอตัวต่อเนื่องจากที่เติบโตได้ร้อยละ 9 ในปี 2551

โดย**หากเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว เศรษฐกิจจีนในปีนี้น่าจะยังเติบโตได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแรงส่งของภาครัฐที่สนับสนุนการใช้จ่ายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในและมาตรการการเงินที่ผ่อนคลายที่ช่วยให้ภาคธุรกิจเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้นและมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงที่น่าจะช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้** ประกอบกับข้อได้เปรียบด้านเงินสำรองต่างประเทศของจีนที่สูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ความสามารถในการใช้จ่ายด้านการคลังของจีนยังอยู่ในระดับสูง และตลาดภายในขนาดใหญ่ คาดว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนจากภาวะชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และสามารถประคับประคองเศรษฐกิจจีนให้ขยายตัวต่อไปได้ ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียไม่ให้ถลำลึกลงไปมากจนเกินไป

การใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่เน้นรายจ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภายในเป็นหลัก โดยเฉพาะภาคก่อสร้าง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เหล็ก และทองแดง ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกในระยะต่อไป ขณะที่ผลดีของการใช้จ่ายของทางการจีนด้านการกระตุ้นการบริโภคในภาคการผลิตสินค้าในโรงงานต่างๆ ยังค่อนข้างน้อย ความหวังที่แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจจีนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจไทยจากความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนที่เพิ่มขึ้นนั้น จึงมีความเป็นไปได้ไม่มากนัก โดยเฉพาะท่ามกลางภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญๆ อย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นล้วนเข้าสู่ภาวะถดถอย และยังไม่มีสัญญาณว่าจะถึงจุดต่ำสุด ซึ่งภาคส่งออกของจีนที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในปีนี้ถือเป็นปัจจัยถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ทำให้ความต้องการของจีนต่อสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของประเทศในเอเชียและไทยเพื่อใช้ผลิตส่งออกไปยังตลาดส่งออกหลักต้องอ่อนแรงตามไปด้วย การส่งออกของไทยไปจีนยังคงต้องเผชิญภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ขณะเดียวกันสินค้าส่งออกของไทยต้องเผชิญกับแข่งขันกับสินค้าส่งออกจีนที่มีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นในตลาดโลกด้วย เนื่องจากทางการจีนมีแนวโน้มที่จะช่วยภาคส่งออกของจีนโดยการปรับลดอัตราภาษีส่งออกทั้งหมด จากก่อนหน้านี้ที่ทางการจีนได้ช่วยภาคส่งออกโดยทยอยปรับเพิ่มอัตราภาษีคืนแก่ภาคส่งออก (Export Tax Rebates) ไปก่อนหน้านี้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น