xs
xsm
sm
md
lg

จีนฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลก : เร่งกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เศรษฐกิจจีนชะลอตัวติดต่อกัน 4 ไตรมาสจนเหลือร้อยละ 6.8 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้ภาคส่งออกที่ซบเซา กดดันให้อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2551 เหลือร้อยละ 9 ต่ำสุดในรอบ 7 ปี โดยการส่งออกและนำเข้าของจีนมีอัตราขยายตัวติดลบตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551

สำหรับในปีนี้ การส่งออกของจีนในช่วง 2 เดือนแรกหดตัวเร่งขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 21 (yoy) และคาดว่าภาคส่งออกของจีนยังคงซบเซาต่อเนื่องในระยะข้างหน้าตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีสัญญาณว่าจะถึงจุดต่ำสุดและยังไม่ชัดเจนของระยะเวลาการฟื้นตัว โดยทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกอาจหดตัวในปีนี้

ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี ทำให้เศรษฐกิจจีนยังคงมีแนวโน้มต้องเผชิญกับภาวะชะลอลงอีกอย่างน้อยในอีก 2 ไตรมาสของปีนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนในปี 2552 มีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2551 โดยอาจอยู่ระหว่างร้อยละ 6.5-7.5 ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ

เศรษฐกิจจีนในปัจจุบันนอกจากจะเผชิญปัจจัยลบจากภาคส่งออกที่หดตัวรุนแรงตามภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาแล้ว ยังต้องประสบกับภาคการบริโภคในประเทศและการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างรวดเร็วจนมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด ซึ่งจะส่งผลกดดันให้ภาคการบริโภคอ่อนแรงลงไปอีก รวมถึงปัญหาการว่างงานที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นตามภาคส่งออกที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่เน้นรายจ่ายด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายการเงินผ่อนคลายได้ช่วยให้เศรษฐกิจภายในจีนปรับตัวดีขึ้น เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในเขตเมือง ยอดขายรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์กลับมาเติบโตด้วยเลข 2 หลัก และการใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนสินเชื่อใหม่และปริมาณเงินในระบบ (M2) ในเดือนกุมภาพันธ์ก็เติบโตในระดับสูงเช่นกัน

สะท้อนถึงแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจภายในน่าจะช่วยรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจจีนได้ระดับหนึ่ง แต่ความหวังที่แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจจีนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจไทยคงมีความเป็นไปได้น้อยในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญๆ อย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นล้วนเข้าสู่ภาวะถดถอย และยังไม่มีสัญญาณว่าจะถึงจุดต่ำสุด

ภาคส่งออกของจีนที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในปีนี้ถือเป็นปัจจัยถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ทำให้ความต้องการของจีนต่อสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของประเทศในเอเชียและไทยเพื่อใช้ผลิตส่งออกไปยังตลาดส่งออกหลักต้องอ่อนแรงตามไปด้วย

สำหรับผลต่อประเทศไทยนั้น เศรษฐกิจจีนที่ยังเติบโตต่อไปได้ในปีนี้จากแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจภายใน อาจจะไม่ได้ช่วยให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนจากประเทศในเอเชียและไทยเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากการนำเข้าของจีนจากประเทศในเอเชียและไทยโดยปกติเป็นการนำเข้าเพื่อผลิตสินค้าส่งออกเป็นส่วนใหญ่ ภาวะอุปสงค์ในตลาดโลกต่อสินค้าจีนที่อ่อนแรงลงในปัจจุบัน ทำให้ความต้องการสินค้านำเข้าเพื่อใช้ผลิตชะลอตามไปด้วย

ความหวังที่แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจจีนที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจไทยคงมีความเป็นไปได้น้อยในภาวะที่เศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ของโลกล้วนเข้าสู่ภาวะถดถอยในปัจจุบัน ทำให้ความต้องการของจีนต่อสินค้าในเอเชียเพื่อใช้ผลิตส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ต้องอ่อนแรงตามไปด้วย

การส่งออกของไทยไปจีนยังคงต้องเผชิญภาวะชะลอตัวรุนแรงในปีนี้ โดยคาดว่าการส่งออกของไทยไปจีนอาจจะหดตัวต่อเนื่องจนถึงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ จากที่มีอัตราการส่งออกติดลบเป็นเลข 2 หลักในอัตราร้อยละ 40 ติดต่อกันในเดือนธันวาคม 2551 และมกราคม 2552 เนื่องจากความต้องการสินค้านำเข้าวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนจากไทยเพื่อใช้ผลิตสินค้าส่งออกต้องเผชิญภาวะอุปสงค์ในตลาดโลกที่ซบเซารุนแรง

สินค้าส่งออกของไทยไปจีนที่ชะลอตัวรุนแรงในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขณะที่ความต้องการนำเข้าสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนที่ใช้สำหรับการผลิตและการลงทุนภายในจีนจากแรงขับเคลื่อนของการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐอาจจะไม่ช่วยให้การส่งออกไทยไปจีนปรับตัวดีขึ้นมากนัก

เนื่องจากความต้องการของจีนในขณะนี้คงเน้นช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในเป็นหลักก่อน สำหรับแนวโน้มที่ทางการจีนอาจจะดำเนินนโยบายช่วยเหลือภาคส่งออกจีนโดยการลดอัตราภาษีส่งออกทั้งหมดให้เหลือร้อยละ 0 จากก่อนหน้านี้ที่ทางการจีนได้ทยอยปรับเพิ่มอัตราภาษีคืนแก่สินค้าส่งออก (Export Tax Rebates) อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551

โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสำเร็จรูป สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รองเท้า และของเล่น เป็นต้น และมีแนวโน้มว่าทางการจีนจะขยายสินค้าที่ได้รับการปรับเพิ่มอัตราภาษีคืนการส่งออก เช่น ผลิตภัณฑ์เหล็ก ตามการร้องขอจากผู้ประกอบการเหล็กในจีน หลังจากที่การส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กในเดือนกุมภาพันธ์ลดลงถึงร้อยละ 62 ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 52 เดือน ซึ่งทำให้สินค้าส่งออกของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นกับสินค้าส่งออกของจีนที่มีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นในตลาดโลกด้วย

ทางการจีนคงรอประเมินผลของการเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้ดำเนินการไปแล้ว สถานการณ์ของภาคส่งออกและภาวะเศรษฐกิจโลก หากมีความจำเป็นคาดว่าทางการจีนคงจะเพิ่มงบรายจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากการขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพีของจีนแม้ว่าจะสูงขึ้นในปีนี้ แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ทำให้จีนยังสามารถเพิ่มการขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกเพื่อให้เศรษฐกิจจีนในปีนี้เติบโตได้ร้อยละ 8 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

ขณะที่นักวิเคราะห์ต่างคาดว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 8 ในปีนี้ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตร้อยละ 6.7 ขณะที่ Consensus Forecast คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวร้อยละ 7 ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ร้อยละ 8 ตามที่ทางการจีนตั้งเป้าไว้ แต่ก็ยังถือว่าชะลอตัวต่อเนื่องจากที่เติบโตได้ร้อยละ 9 ในปี 2551

หากเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว เศรษฐกิจจีนในปีนี้น่าจะยังเติบโตได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแรงส่งของภาครัฐที่สนับสนุนการใช้จ่ายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในและมาตรการการเงินที่ผ่อนคลายที่ช่วยให้ภาคธุรกิจเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้นและมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงที่น่าจะช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ ประกอบกับข้อได้เปรียบด้านเงินสำรองต่างประเทศของจีนที่สูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลก

ความสามารถในการใช้จ่ายด้านการคลังของจีนยังอยู่ในระดับสูง และตลาดภายในขนาดใหญ่ คาดว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนจากภาวะชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และสามารถประคับประคองเศรษฐกิจจีนให้ขยายตัวต่อไปได้ ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียไม่ให้ถลำลึกลงไปมากจนเกินไป

การใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่เน้นรายจ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภายในเป็นหลัก โดยเฉพาะภาคก่อสร้าง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เหล็ก และทองแดง ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกในระยะต่อไป ขณะที่ผลดีของการใช้จ่ายของทางการจีนด้านการกระตุ้นการบริโภคในภาคการผลิตสินค้าในโรงงานต่างๆ ยังค่อนข้างน้อย

ความหวังที่แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจจีนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจไทยจากความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนที่เพิ่มขึ้นนั้น จึงมีความเป็นไปได้ไม่มากนัก โดยเฉพาะท่ามกลางภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญๆ อย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นล้วนเข้าสู่ภาวะถดถอย และยังไม่มีสัญญาณว่าจะถึงจุดต่ำสุด

ซึ่งภาคส่งออกของจีนที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในปีนี้ถือเป็นปัจจัยถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ทำให้ความต้องการของจีนต่อสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของประเทศในเอเชียและไทยเพื่อใช้ผลิตส่งออกไปยังตลาดส่งออกหลักต้องอ่อนแรงตามไปด้วย การส่งออกของไทยไปจีนยังคงต้องเผชิญภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้

ขณะเดียวกันสินค้าส่งออกของไทยต้องเผชิญกับแข่งขันกับสินค้าส่งออกจีนที่มีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นในตลาดโลกด้วย เนื่องจากทางการจีนมีแนวโน้มที่จะช่วยภาคส่งออกของจีนโดยการปรับลดอัตราภาษีส่งออกทั้งหมด จากก่อนหน้านี้ที่ทางการจีนได้ช่วยภาคส่งออกโดยทยอยปรับเพิ่มอัตราภาษีคืนแก่ภาคส่งออก (Export Tax Rebates) ไปก่อนหน้านี้แล้ว

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น