xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” ไม่เชื่อ ศก.ไทย Q1 ถึงจุดต่ำสุด เร่งแก้ปมรายได้พลาดเป้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรณ์ จาติกวณิช
รมว.คลัง ไม่มั่นใจ ศก.ไทยถึงจุดต่ำสุด แต่เริ่มเห็นสัญญาณ ศก.หลายตัวเริ่มออกมาดี ทั้งออเดอร์ส่งออกที่เริ่มมีเข้ามา และตัวเลขการเลิกจ้างที่เริ่มชะลอตัว พร้อมเป็นห่วงการจัดเก็บรายได้ต่ำเป้า 3 แสนล้าน อาจทำให้การบริหารงบประมาณ เพื่ออัดฉีดเงินแก้ปัญหา ศก.ยากขึ้น แม้จะมีตัวเลขการขาดดุลงบต่ำเพียง 5% ของจีดีพี

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายมองว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2552 ถึงจุดต่ำสุดแล้ว โดยระบุว่า ตนเองยังไม่มั่นใจนักว่าจะถึงจุดต่ำสุดจริงเพราะยังมีอีกหลายตัวแปรที่น่าเป็นห่วง ทั้งตัวเลขการจัดเก็บรายได้ การส่งออก และการท่องเที่ยว

“ส่วนตัวยังมองสรุปไม่ได้ 100% ว่า ไตรมาส 1 ปีนี้เศรษฐกิจจะเป็นจุดต่ำสุดหรือไม่ เพราะยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเศรษฐกิจโลกจะถึงจุดต่ำสุดเมื่อไร แต่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ มองว่าตอนนี้มีสัญญาณที่ดีที่การเลิกจ้างชะลอตัวลงแล้ว”

นายกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 1.56 ล้านล้านบาท ในระยะ 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเม็ดเงินลงทุนดังกล่าวคิดเป็น 7-8% ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เชื่อว่า จะทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น ภาคเอกชนจะมีการขยายการลงทุนตาม และส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะดำเนินนโยบายในเชิงรุกในการเดินหน้าโครงการลงทุนดังกล่าว แม้ปัญหาหลักของโครงการลงทุนภาครัฐมักจะถูกตั้งคำถามว่าจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ หลังจากหลายโครงการเกิดความล่าช้า และมักจะโยนความรับผิดชอบกันระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการ จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายของรัฐบาลที่ต้องเดินหน้าเรื่องนี้ให้ได้

ทั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพราะการลงทุนภาครัฐมีเพียง 20% ที่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ 80% ต้องอาศัยการลงทุนจากภาคเอกชนเป็นหลัก

ก่อนหน้านี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ออกมาระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จีดีพีจะติดลบประมาณ 5% และคาดว่า จะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ ทำให้มองกันว่า ไตรมาสถัดไป อาจมีสัญญาณการฟื้นตัว

สำหรับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2552 รมว.คลัง ระบุว่า มีแนวโน้มจะต่ำกว่าเป้าหมายถึง 3 แสนล้านบาท จากประมาณการรายได้ที่ตั้งไว้ที่ 1.5 ล้านล้านบาท โดยช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าแล้วกว่า 50,000 ล้านบาท

“การจัดเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าประมาณการมากขึ้น ยอมรับว่า จะส่งผลกระทบต่อการขาดดุลงบประมาณมากขึ้นตาม และมีผลต่อเงินงบประมาณที่รัฐบาลจะนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ”

อย่างไรก็ตาม การขาดดุลงบประมาณของไทย อยู่ที่ระดับ 5% ของจีดีพี ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เมื่อเทียบต่างประเทศ

นอกจากนั้น อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศที่ยังอยู่ระดับที่ดีและมีสภาพคล่องในประเทศระดับสูง เอื้อต่อการที่รัฐบาลจะระดมเงินมาใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินกู้จากต่างประเทศ

“ด้านการเงินการคลังของเรายังอยู่ระดับดูหากเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งสภาพคล่องเรายังมีอยู่สูง ถือเป็นความได้เปรียบกว่าหลายประเทศ ไทยขาดดุลงบประมาณแค่ 5% หากเทียบต่างประเทศ เช่นอังกฤษ ขาดดุลงบประมาณสูงถึง 12% ของจีดีพี เพราะเค้าต้องใช้งบประมาณไปเพิ่มทุนให้สถาบันการเงิน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแต่ละประเทศ ของเราขาดดุลระดับน่าไม่น่าเป็นห่วง”

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะมีปัญหาในการจัดเก็บรายได้ แต่ก็ยังไม่มีนโยบายที่จะเพิ่มการจัดเก็บภาษี ทั้งการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือการขยายฐานภาษี โดยการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภาษีทรัพย์สิน)เ นื่องจากยังไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสม แตก็ยอมรับว่าการปรับขึ้น VAT ทุก 1% จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 50,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลได้ลดอัตรา VAT จาก 10% เหลือ 7% มาหลายปีแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น