xs
xsm
sm
md
lg

โฟนอินทักษิณ : เพลงร้อยเนื้อหนึ่งทำนอง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ท่านผู้อ่านที่นิยมฟังเพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงไทยในยุคที่ไม่มีการแบ่งประเภทเป็นลูกทุ่งและลูกกรุง คงจะได้ยินคำวิจารณ์เพลงไทยที่ยกมาเป็นคำขยายเนื้อหาสาระจากการโฟนอินของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ว่าเป็นเพลงประเภทร้อยเนื้อหนึ่งทำนอง

โดยนัยแห่งคำวิจารณ์ที่ว่านี้ หมายถึงว่าเพลงไทยในยุคนั้นหลายๆ เพลงมีความต่างกันเพียงเนื้อร้อง แต่ทำนองดนตรีเป็นทำนองเดียวกัน อันหมายถึงไม่มีความก้าวหน้าในเรื่องของดนตรี ซึ่งในทางวรรณกรรมถือว่าเป็นภาษาสากล (Music is universal language) คือมีการแสดงออกถึงความโศกเศร้า ดีใจ เสียใจ ทำให้ผู้ฟังมีอารมณ์คล้อยตามจินตนาการแห่งกวีได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งๆ ที่ผู้ฟังและผู้ประพันธ์ใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนต่างกัน แต่ภาษาดนตรีสื่อความหมายได้ตรงกัน จึงถือว่าดนตรีเป็นภาษาสากล

ย้อนไปดูนัยแห่งคำพูดของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ครั้งแรกถึงครั้งสุดท้ายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จะพบว่าเนื้อหาของคำพูดจากการโฟนอินจำกัดวงอยู่ในประเด็นดังต่อไปนี้

1. พรรณนาถึงความยากลำบากที่ตนเองได้รับ และโยนความผิดให้กับคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ว่าเป็นเหตุที่ทำให้ตนเองได้รับความทุกข์ยากที่ว่านี้โดยไม่เป็นธรรม

2. พรรณนาคุณงามความดี ความเก่ง และความจงรักภักดีต่อสถาบัน รวมไปถึงแสดงเจตนาอย่างแรงกล้าว่าพร้อมที่จะกลับมาช่วยประเทศชาติแก้วิกฤตของประเทศ

3. พูดในทำนองพระเอกลิเกอ้วนแม่ยก เพื่อเรียกร้องให้คนซึ่งเคยรักและเคยนิยมชมชอบตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนระดับล่างของสังคม หรือที่เรียกว่ารากหญ้า ลุกขึ้นต่อสู้กับสิ่งที่ตนเองเรียกว่ากระบวนการยุติความเป็นธรรม แล้วเปิดทางให้ตนเองกลับประเทศเพื่อกลับคืนสู่ตำแหน่งที่กุมอำนาจรัฐ

โดยนัยแห่งเนื้อหา 3 ประเด็นดังกล่าวข้างต้น ถ้าเป็นเพลงแล้วก็เทียบได้กับประเภทบทประพันธ์ที่เรียก สัลลาปังคพิสัย คือพรรณนาให้เห็นความทุกข์ยาก และตัดพ้อต่อว่าคนที่ทำให้ตนเองเป็นทุกข์ โดยไม่เคยบอกตัวเองว่าที่ประสบภาวะเช่นนี้ส่วนหนึ่งมาจากความผิด และการกระทำของตนเอง และส่วนหนึ่งที่ว่านี้น่าจะเป็นส่วนหลักที่ทำให้ตนเองเป็นทุกข์ด้วย

อะไรคือเหตุให้ทักษิณต้องโฟนอิน และโฟนอินแล้วได้อะไร และจากได้แล้วเสียอะไรหรือไม่?

เพื่อให้ท่านผู้อ่านมองเห็นประเด็นแห่งปัญหาได้อย่างถูกต้อง และตรงไปตรงมาโดยไม่มีอคติ 4 คือ ลำเอียงเข้าข้างทักษิณหรือฝ่ายที่ตรงกันข้ามกับทักษิณ ไม่ว่าด้วยความรัก ความเกลียด ความหลง หรือความกลัวอย่างใดอย่างหนึ่งหลายๆ ข้อรวมกัน ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านมองย้อนไปถึงเส้นทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็จะพบว่าท่านผู้นี้มีจุดเริ่มต้นการเมืองที่ดี คือเลือกพรรคพลังธรรมภายใต้การนำของพล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งคนไทยให้การยอมรับนับถือในความเป็นคนสันโดษ และเล่นการเมืองเพื่อผดุงคุณธรรม

ดังนั้น การเริ่มต้นในพรรคนี้ก็เท่ากับทำให้ภาพความเป็นนักการเมืองมีคุณธรรมตามรอยผู้นำพรรค ประกอบกับคนจำนวนไม่น้อยเชื่อคำพูดที่ว่ารวยแล้วไม่โกง แต่เล่นการเมืองเพื่อช่วยชาติ จึงทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว และกว้างขวางทั้งในหมู่ประชาชนคนทั่วไป และนักวิชาการ ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่ออกจากพรรคพลังธรรม และตั้งพรรคไทยรักไทย ปรากฏว่ามีทั้งนักการเมืองเก่า และนักการเมืองใหม่ต่างเข้ามาอยู่ในพรรคนี้อย่างคับคั่ง จึงทำให้การเลือกตั้งในปี 2544 ได้รับชัยชนะเหนือพรรคประชาธิปัตย์ และสามารถรวมพรรคการเมืองขนาดกลาง และขนาดเล็กเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล เหลือพรรคประชาธิปัตย์ไว้เป็นฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียว

ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลผสม พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะผู้นำรัฐบาลใน 2 ปีแรกก็ทำงานเข้าตาประชาชน เนื่องจากมีจุดเด่นเมื่อเทียบกับรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ คือ

กล้าคิด กล้าทำ และสามารถนำนโยบายประชานิยมที่หาเสียงไว้มาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทุนหมู่บ้าน และประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค

แต่ความเด่นที่ว่านี้ก็ค่อยๆ ริบหรี่ลงเมื่อ 2 ปีหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีสุดท้ายคือปี 2548 เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เริ่มดีแตกด้วยการตกเป็นข่าวมีการแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ ครอบงำสื่อ และที่สำคัญปล่อยให้มีการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างดาษดื่นและโจ่งแจ้ง ทั้งทางสื่อสิ่งพิมพ์ และอินเทอร์เน็ต

จนกระทั่งเมื่อปลายปี 2548 ประมาณเดือนกันยายน รัฐบาลทักษิณได้ประกาศปิดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ซึ่งดำเนินรายการโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล และคุณสโรชา พรอุดมศักดิ์ เนื่องจากรายการนี้ได้ตักเตือนรัฐบาลในหลายเรื่องที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง และไม่ชอบมาพากล นี่คือจุดเริ่มต้นของการแสดงพฤติกรรมทางการเมืองในทางลบที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ถูกจับตามองจากการเมืองภาคประชาชน และจากจุดนี้เองความขัดแย้งได้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนชาวไทย และทำให้เกิดความแตกแยกออกเป็น 2 ขั้ว คือ ขั้วที่หนุน พ.ต.ท.ทักษิณ และขั้วที่ต่อต้าน ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดง เป็นสัญลักษณ์ที่รู้กันทั่วไปว่า เสื้อเหลืองคือกลุ่มที่ต่อต้านทักษิณ ด้วยเหตุว่าไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมหลัก 2 ประการ คือ

1. ใช้อำนาจรัฐแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตัวเอง และพรรคพวกโดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมและจริยธรรม

2. มีพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงอันเป็นที่เคารพนับถือของปวงชนชาวไทย

ส่วนกลุ่มที่หนุนรัฐบาลทักษิณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนุนคุณทักษิณในฐานะเป็นปัจเจกบุคคลได้ใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์

จากความขัดแย้งของบุคคลในสังคม และรัฐบาลมีพฤติกรรมไม่ดีไม่งามดังกล่าวมาแล้ว จึงทำให้กองทัพออกมาโค่นล้มในวันที่ 19 กันยายน 2549 และนี่เองคือจุดจบทางการเมือง และจุดเริ่มต้นความเคียดแค้นที่อดีตนายกฯ นำมาเป็นเรื่องเป็นประเด็นในการโฟนอินทุกครั้ง

ส่วนประเด็นที่ว่า ทักษิณโฟนอินแล้วได้อะไร และเสียอะไรนั้น มองเห็นได้ไม่ยาก

เริ่มด้วยสิ่งที่ได้ ถ้ามองอย่างเป็นรูปธรรมก็พอจะอนุมานได้ดังนี้

1. ได้พูดในสิ่งที่ตนเองอยากพูด เป็นการระบายความแค้น

2. ได้ปลอบขวัญและปลุกระดมให้กลุ่มที่หนุนตนมีกำลังใจต่อสู้ต่อไป

สำหรับข้อเสีย ถ้าอนุมานโดยอาศัยปัจจัยทางตรรกศาสตร์ก็พอจะสรุปได้ดังนี้

1. ยิ่งพูดก็ยิ่งเปิดใจให้คนเห็นธาตุแท้ว่าคิดอย่างไร และจะทำอะไรต่อไป จึงเท่ากับปิดโอกาสที่ตนเองจะได้กลับเมืองไทยมากขึ้น

2. ยิ่งพาดพิงถึงบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเอง ก็เท่ากับใส่ร้ายป้ายสี ยิ่งจะทำให้ความเห็นใจที่คนบางคนบางกลุ่มเคยมีหมดไป จึงเท่ากับก่อศัตรูเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น