xs
xsm
sm
md
lg

จับตาซ่อนปมโกงชาติ!

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

รัฐบาลได้มีหนังสือลงวันที่ 10 มีนาคม 2552 เสนอต่อประธานรัฐสภาให้บรรจุวาระขอความเห็นชอบกรอบการเจรจากู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งขณะนี้รัฐสภาอาจจะลงมติเห็นชอบแล้วหรือไม่ก็ไม่รู้

เพราะทำบทความนี้ไว้ล่วงหน้า เนื่องจากจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปต่างประเทศ ดังนั้นจึงขอให้ติดตามกันเองว่ารัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบกรอบการเจรจากู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้วหรือไม่

เพราะมันมีเงื่อนงำบางประการที่ส่อว่ามีการเปิดช่องโหว่เอาไว้ในกรอบการเจรจาดังกล่าว และช่องโหว่นี่แหละจะก่อให้เกิดการฉ้อฉลปล้นชาติเป็นจำนวนเงินมหาศาล ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญได้วางบทบัญญัติให้รัฐสภาได้ตรวจสอบเสียก่อนแล้ว แต่จะมีใครสักกี่คนเล่าที่สนใจและเจาะลึกลงไปถึงรายละเอียดนั้น

เรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้ทำ แต่เป็นเรื่องข้าราชการประจำเขาทำกันมา เพราะเป็นวัวเคยขาม้าเคยขี่ในการใช้วิธีการแบบนี้มาช้านานแล้ว รัฐบาลท่านมานั่งบริหารบ้านเมืองใหม่ๆ อะไรๆ ก็ผ่านไปตามที่ฝ่ายข้าราชการประจำเขาเสนอมา

จึงเป็นเหตุให้เรื่องนี้ต้องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยที่ยังมีปัญหาซ่อนเร้นอยู่

เหตุที่รัฐบาลจะต้องเสนอกรอบการเจรจากู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อรัฐสภาเพราะมีความจำเป็นอยู่สองประการ

ประการแรก รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสามารถกู้เงินจากต่างประเทศได้ตามมาตรา 22 ของกฎหมายบริหารหนี้สาธารณะ ในวงเงินไม่เกิน 183,500 ล้านบาท และขณะนี้มีวงเงินเหลือที่อาจกู้ได้อยู่ประมาณ 145,437 ล้านบาท

ต้องขอสะกิดเตือนใจเอาไว้ตรงนี้ว่ากระทรวงคมนาคมได้ผลักดันโครงการปรับปรุงพัฒนาฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานครั้งมโหฬารเป็นประวัติการณ์ในประวัติศาสตร์ด้วยงบประมาณถึง 1.4 ล้านล้านบาท และที่จำเป็นจะต้องกู้กันนี้ก็เป็นเพียงส่วนเดียวเสี้ยวเดียวเท่านั้น วันหนึ่งข้างหน้ายังจะต้องหาเงินมาทำโครงการกันต่อไปอีก

โดยไม่ต้องคำนึงว่าชาติบ้านเมืองจะล่มจมหรือเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวประการใดอีกต่อไป เพราะบรรดา ฯพณฯ หัวเจ้าท่านเหล่านั้นมีพระคุณต่อประเทศไทยและคนไทยที่ทำให้ตั้งรัฐบาลปัจจุบันได้ จึงต้องตอบสนองคุณท่านให้สุดลิ่มทิ่มประตูไปชั่วกาลนานตลอดกัลปาวสาน

ประการที่สอง การกู้เงินจากต่างประเทศมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลต้องนำเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน

ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องเสนอกรอบในการเจรจากู้เงินจากต่างประเทศต่อรัฐสภา และทำให้เกิดความจำเป็นต้องมาทำความเข้าใจกันในวันนี้

เพราะกรอบการเจรจาซึ่งรัฐบาลได้เสนอต่อรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัตินั้นมีช่องโหว่อยู่ 2 ข้อ และแต่ละเรื่องก็เปิดช่องให้ฉ้อฉลปล้นชาติกันได้ไม่มีข้อจำกัด

ข้อแรก
ปรากฏอยู่ในกรอบการเจรจาที่เสนอต่อรัฐสภาในข้อ 5.2 ซึ่งกำหนดกรอบไว้ว่าจะกู้เงินจากสถาบันการเงินเพียง 3 แห่งเท่านั้น คือธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นหรือไจก้า

ทำไมจะต้องผูกมัดอยู่กับสถาบันการเงินทั้ง 3 แห่งนี้เท่านั้น? นี่มิใช่การฮั้วอย่างหนึ่งดอกหรือ? เพราะถ้าในการจัดซื้อจัดจ้างใดๆ หากมีการกำหนดตัวคู่สัญญาไว้อย่างนี้ ก็ต้องถือว่าขัดกฎหมายฮั้ว

โลกมีแหล่งการเงินมากมาย เอากันแค่ใกล้ๆ นี้ก็มีแหล่งเงินกู้จากจีน หรือจากตะวันออกกลาง หรือจากชาติอื่นๆ แต่ทำไมจึงไม่เปิดแหล่งเงินกู้ให้กว้างไว้ กลับมาจำกัดเอาเฉพาะ 3 แหล่งนี้

ก็เพราะว่า 3 แหล่งนี้เป็นแหล่งการเงินแบบวัวเคยขาม้าเคยขี่ที่ร่วมทำมาหากินกันมาช้านานแล้ว เป็น 3 แหล่งที่อยู่ภายใต้การครอบงำจัดการของญี่ปุ่นเป็นหลักและมีข่าวคาวฉาวโฉ่เกี่ยวกับการวางเครือข่ายฉ้อฉลปล้นชาติของผู้กู้ ดังเช่นกรณีการร่วมกันฉ้อฉลเงินกู้ในการก่อสร้างอุโมงค์ที่ให้กู้แก่เวียดนามและไทยเป็นต้น

โลกมีแหล่งเงินมากมาย แต่มาจำกัดอยู่เฉพาะ 3 แหล่งซึ่งเคยเป็นวัวเคยขาม้าเคยขี่ จึงมีเหตุอันควรที่ประชาชนอย่างเราท่านจะตั้งข้อสังเกตและตั้งข้อสงสัยได้ไม่ใช่หรือ?

และหากมีสมาชิกรัฐสภาหรือผู้เห็นแก่ชาติบ้านเมืองใดสนใจในเรื่องนี้หรือเอาใจใส่ในเรื่องนี้ก็ควรต้องติดตามสอดส่องหรือไม่ก็ต้องผลักดันให้มีการแก้ไขกรอบการเจรจา ไม่ให้จำกัดอยู่เฉพาะ 3 แหล่งการเงินดังกล่าวเท่านั้น

ข้อสอง มีการเปิดช่องโหว่ไว้ในข้อ 5.3 และข้อ 5.4 คือเรื่องกรอบต้นทุนและกรอบในการจัดซื้อจัดจ้างที่เปิดโอกาสให้ต้องจ่ายค่าที่ปรึกษา ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยในอัตราที่สูง และอาจมีข้อบังคับให้ต้องเลือกบริษัทที่ปรึกษาตามที่ผู้ให้กู้ต้องการ หรือกำหนดให้ต้องซื้อสินค้าจากบริษัทซึ่งผู้ให้กู้กำหนดหรือต้องว่าจ้างเหมากับบริษัทที่ผู้ให้กู้กำหนดด้วย กระทั่งเปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงในการประมูลและในการรับมอบงานอีกด้วย

เงื่อนไขที่กำหนดไว้นั้นจึงเท่ากับยกความเป็นเอกราชของชาติให้กับผู้ให้กู้ไปแล้ว

มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วโดยอาศัยช่องโหว่แบบนี้ ดังเช่น

ข้อแรก ก่อให้เกิดสภาพบังคับที่รัฐบาลไทยจะต้องว่าจ้างที่ปรึกษาซึ่งผู้ให้กู้เห็นชอบด้วยค่าจ้างอันสูงลิ่ว ในอัตรา 5-12% ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าส่วนหนึ่งของเงินดังกล่าวคือเงินค่าใต้โต๊ะที่นำไปแบ่งสรรปันกันในระหว่างผู้เกี่ยวข้อง

ข้อสอง ก่อให้เกิดเงื่อนไขในการคิดค่าธรรมเนียมเงินกู้ในอัตราที่สูง คือถ้าไม่มีใครแข่งขันก็อาจกำหนดถึงระดับ 3% ของวงเงินกู้ แต่ถ้ามีใครเสนอแข่งขันก็จะลดลงมาเหลือ 1% ครั้นได้รับอนุมัติแล้วก็จะมีการไปปรับส่วนที่ขาดลงไปในค่าที่ปรึกษา

ตามกรอบดังกล่าวนี้ได้มีการประมาณต้นทุนการกู้เงินไว้ที่ระดับต่ำสุด 2.53% และสูงสุดถึง 3.79% ในขณะที่คนไทยฝากเงินกับธนาคารจะได้รับดอกเบี้ยเพียงไม่ถึง 1% เท่านั้น

ข้อสาม มีการกำหนดเงื่อนไขให้ต้องว่าจ้างหรือซื้อสินค้าจากบริษัทที่ผู้ให้กู้เห็นชอบ เท่ากับเป็นการล็อกสเป็กหรือฮั้วอย่างเด็ดขาด และเป็นที่แน่นอนว่าเมื่อล็อกสเป็กได้อย่างนี้ราคาก็ต้องสูงกว่าปกติซึ่งทำให้ประเทศไทยเสียหาย

ข้อสี่ มีการกำหนดเงื่อนไขให้ต้องว่าจ้างผู้ตรวจสอบงานที่ผู้ให้กู้ให้ความเห็นชอบ ซึ่งก่อให้เกิดภาระแก่รัฐบาลไทย และเปิดช่องให้สมคบกันรับมอบงานโดยผิดข้อตกลงหรือได้รับงานที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ดังที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายอีกด้วย

เหล่านี้คือช่องโหว่ใหญ่ที่เปิดไว้ในกรอบการเจรจากู้เงินดังกล่าว

หากเป็นโชคดีของประเทศไทยและคนไทยก็อาจเกิดกรณีที่รัฐบาลหรือสมาชิกรัฐสภาได้ร่วมกันแก้ไขช่องโหว่ดังกล่าวเสียก่อนที่รัฐสภาจะให้ความเห็นชอบ

แต่ถ้าหากเป็นโชคร้าย รัฐสภาอาจให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจากู้เงินดังกล่าวโดยที่ไม่มีใครมองเห็นหรือท้วงติงได้ทัน และถ้าเป็นเช่นนั้นกระบวนการจากนี้ไปก็จะไปสู่กระบวนการเจรจากู้เงินกับนายเงินทั้ง 3 แหล่งดังกล่าว

ซึ่งมีการกำหนดแผนการกันไว้แล้วว่าในทันทีที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบ กระทรวงการคลังโดยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการเจรจากับแหล่งเงินกู้ตามที่ได้รับอนุมัติ

แล้วยังมีแผนการก้าวหน้าไปกว่านั้น เพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าการนำเสนอกรอบให้รัฐสภาเห็นชอบนั้นมีคนเห็นว่าเป็นแค่พิธีกรรมพิธีการ ซึ่งบรรดาท่านผู้ทรงเกียรติทั้งหลายอาจไม่มีเวลาหรือไม่สามารถสังเกตพบช่องโหว่ดังกล่าว กรอบนี้ก็จะผ่านการพิจารณาอย่างง่ายดาย

ดังนั้นจึงมีการวางแผนการไว้ล่วงหน้าแล้วว่าในเดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายน 2552 จะสรุปผลการเจรจาพร้อมร่างสัญญาเงินกู้ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ จากนั้นก็จะเสนอรัฐสภาอนุมัติอีกครั้งหนึ่ง

แต่ทว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 นั้น ยอมรับและเคารพในอำนาจอธิปไตยของประชาชน ดังนั้นถึงแม้จะมีการเจรจากันประการใด ประชาชนซึ่งอาจได้รับผลกระทบสามารถที่จะออกความเห็นท้วงติงหรือวิพากษ์วิจารณ์หรือคัดค้านได้ ซึ่งจะต้องคอยติดตามดูกันว่าจะมีการนำเสนอเรื่องราวดังกล่าวให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรต่อไป

แต่ในชั้นนี้ขอถือเอาบทความเรื่องนี้เป็นข้อคิดเห็นแห่งประชาพิจารณ์ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญต่อกระทรวงการคลังและต่อคณะรัฐมนตรี ให้พิจารณาทบทวนช่องโหว่และผลกระทบที่จะบังเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ เพื่อแก้ไขเสียให้ถูกต้องต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น