xs
xsm
sm
md
lg

สภาไฟเขียว รัฐบาลกู้ 7 หมื่นล้านกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรณ์ จาติกวณิช
รัฐสภาไฟเขียวรัฐบาล กู้ 7 หมื่นล้าน “เพื่อแม้ว” ต้าน อ้างสร้างหนี้ หวั่นแบกดอกเบี้ยอ่วม ให้ลดค่าใช้จ่าย หั่นงบซื้ออาวุธ “กรณ์” รับ ศก.ทรุดหนัก ต้องพึ่งงบกระตุ้นสภาพคล่อง มั่นใจรัฐบาลรับมือไหว ทั้งต้นทั้งดอก ด้าน ส.ว.ประสานเสียงหนุน ชี้ ดบ.ไม่แพง ควรกู้มาสำรอง แก้วิกฤติ แนะดูสัญญาให้รอบคอบ

ในการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 24 มี.ค. ได้มีการพิจารณากรอบเจรจากู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่คณะรัฐมนตรีเสนอ โดยมีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม โดยนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ชี้แจงว่า วิกฤตการณ์ทางการเงินของโลกได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2551 ได้เพียงร้อยละ 2.6 ต่อปี ขณะที่เศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายหดตัวอย่างรุนแรงร้อยละ 4.3 เป็นการขยายตัวติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยเฉพาะภาคการส่งออกหลังจากเดือน พ.ย.2551 ขยายตัวติดลบถึงร้อยละ 26 ถือว่าต่ำสุดตั้งแต่ปี 2541

ทั้งนี้ การขอกู้เงินต่างประเทศครั้งนี้มีเหตุผลและความจำเป็นเนื่องจากการกู้เงินภายในประเทศมีข้อจำกัด ในเรื่องเพดานการกู้เงินที่ไม่สามารถกู้ได้เกินกรอบวงเงิน 441 ล้านบาท นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังคาดว่าในปี 2552 รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินของภาครัฐจะมีการกู้เงินเพิ่มขึ้น เพื่อบริหารสภาพคล่องและรองรับความผันผวนที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการเงินโลก และมีข้อจำกัดในการกู้เงินจากต่างประเทศทำให้ต้องหันมากู้เงินภายในประเทศมากขึ้น ทางรัฐบาลซึ่งมีต้นทุนที่ดีกว่าจึงเป็นผู้ไปกู้ต่างประเทศแทน

นายกรณ์กล่าวว่า สำหรับกรอบวงเงินที่จะขอกู้กู้เงินประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่ากับ 7 หมื่นล้านบาท โดยจะกู้จากธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ส่วนกรอบในการกู้เงินนั้นจะเจรจาให้ได้ต้นทุนเงินกู้ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะตลาด และมีระยะเวลาการกู้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลในอนาคตโดยมีระยะเงินกู้เฉลี่ยประมาณ 7-10 ปี นอกจากนี้ในการพิจารณาต้นทุนการกู้เงินจะใช้ต้นทุนที่ได้ทำการแปลงหนี้ต่างประเทศเป็นเงินบาท แล้วเปรียบเทียบกับต้นทุนการกู้เงินในประเทศของรัฐบาลด้วย

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบการกู้เงินในประเทศ โดยใช้ต้นทุนในการแปลงหนี้ต่างประเทศเป็นหนี้เงินบาท ยังพบว่าการกู้เงินจากแหล่งดังกล่าวมีต้นทุนการกู้เงินโดยเฉลี่ยต่ำกว่าการกู้เงินในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีต้นทุนการกู้เงินสำหรับการออกพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.50 ต่อปี โดยมีต้นทุนการกู้เงินต่างประเทศประมาณร้อยละ 2.53-3.79 ต่อปี ภายใต้ระยะเงินกู้เฉลี่ยประมาณ 7-10 ปี

“สำหรับการกู้เงินจากแหล่งดังกล่าวนั้นทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์เพราะประเทศไทยเป็นสมาชิกทำให้มีต้นทุนและเงื่อนไขการกู้เงินที่ดีกว่าการกู้จากตลาดการเงินระหว่างประเทศและการกู้เงินครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลมีแหล่งเงินทุนสำรองไว้เพื่อรองรับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง” รมว.คลัง กล่าว

หลังจากนั้น สมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยมีบางส่วนไม่เห็นด้วย โดยอ้างว่าการกู้เงินจากต่างประเทศจะเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้เรารอดพ้นจากวิกฤต และรัฐบาลนี้ยังจะมีโครงการจะกู้อีก 1.4 ล้านล้านบาท ในอนาคต ขอเสนอให้ใช้แนวทางอื่นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 3 ข้อ ดังนี้ 1.ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของภาครัฐ โดยเฉพาะการจัดซื้ออาวุธของกองทัพ 2.เร่งปฏิรูปการเมือง ฟื้นฟูประชาธิปไตยและหลักคุณธรรม ธรรมาภิบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และ 3.ไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินเพื่อส่งเสริมภาคส่งออก เพราะประเทศคู่ค้าเดิมก็ไม่มีเงินที่จะซื้อของ ขอเรียกร้องให้ทุ่มเทเงินในการพัฒนาคนเพื่อสร้างอาชีพให้กับประชาชน โดยเน้นการใช้ปัญญาและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

พล.อ.วินัย สมพงษ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นด้วยว่ารัฐบาลต้องกู้เงินจำนวน 7 หมื่นล้านบาท เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ อย่างไรก็ตามการกู้เงินที่จะเกิดขึ้นต้องเกิดประโยชน์สูงสุด โดยส่วนตัวเห็นว่าควรนำเงินจำนวนดังกล่าวไปลงทุนด้านคมนาคมโดยเฉพาะการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินไปที่เขตแจ้งวัฒนะซึ่งเป็นถนนที่เร่งด่วนที่สุด เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด รวมทั้งสนับสนุนการคมนาคมด้วย 4 ราง ทั้งทางภาคตะวันออก และ ตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นการสร้างประโยชน์สูงสุด

ส่วนนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ส.ส. แพร่ พรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะกู้เงินจากต่างประเทศโดยไม่บอกรายละเอียดกับประชาชนว่ารัฐบาลจะนำเงิน 7 หมื่นล้านไปทำโครงการอะไรบ้าง มีอัตราดอกเบี้ยเท่าใด กู้แล้วจะได้ประโยชน์อะไร ซึ่งหากไม่มีการระบุรายละเอียดชัดเจนก็เหมือนกับการปิดหูปิดตาประชาชนและอาจจะขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 190 ได้ อีกทั้งขณะนี้คนไทยทั้งประเทศไม่สบายใจกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้มากและกังวลว่าการกู้ดังกล่าวจะเป็นภาระทางการเงินต่อประชาชนได้

“วันนี้เหมือนรัฐบาลมาขอเช็คเปล่าจากรัฐสภา โดยไม่บอกว่าจะเอาไปทำอะไร ผมไม่อยากให้รัฐบาลเอาสภาไปเป็นทาสน้ำเงินของต่างชาติ เพราะเรามีบทเรียนที่เจ็บปวดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศมาแล้ว หากรัฐบาลยืนยันว่าจะต้องกู้ให้ได้รัฐบาลต้องรับประกันได้ว่า เมื่อกู้แล้วจะแก้ปัญหาการว่างงาน และจะไม่มีการรีดภาษีจากประชาชน การส่งออกจะเพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวจะดีขึ้น หากรัฐบาลทำไม่ได้ก็อย่าไปกู้” นายวรวัจน์

สำหรับ ส.ว.ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนกรอบเจรจากู้เงินของรัฐบาล เพราะเป็นวงเงินที่มีดอกเบี้ยไม่สูงมากนัก อีกทั้งวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้มีความรุนแรงมาก มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกู้เงินมาเก็บเป็นเงินสำรองของประเทศเอาไว้ แต่ก็แนะนำให้รัฐบาลพิจารณาสัญญาการกู้เงินด้วยความรอบคอบ ทั้งเรื่องพันธะสัญญาต่างๆ เรื่องระยะเวลาในการชำระ เรื่องอัตราดอกเบี้ย เรื่องค่าปรับหากมีการผิดสัญญา เป็นต้นทั้งนี้เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียเปรียบ อย่างไรก็ตามขอแนะนำให้รัฐบาลกู้เงินจากภายในประเทศด้วยซึ่งประเทศไทยยังมีเพดานในการกู้ได้ถึง 9 หมื่นล้านบาท เพราะการกู้เงินในประเทศจะไม่มีปัญหาเรื่องอัตราการแลกเปลี่ยน โดยรัฐบาลสามารถกู้ได้โดยตรงจากธนาคารแห่งประเทศไทย

ขณะที่นายกรณ์ลุกขึ้นชี้แจงอีกรอบว่า เหตุผลที่รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินนี้ เป็นเพราะว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มถดถอย ทุกๆ 1 จีดีพีที่ถดถอยจะกระทบต่อการจ้างงาน ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้เราต้องเพิ่มบทบาทในการแก้ไขเศรษฐกิจและขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ทั้งนี้รัฐบาลมองว่าเสถียรภาพการเงินการคลังของประเทศไทยสามารถรองรับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นได้และงบประมาณของประเทศสามารถรับภาระการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นได้ โดยอยู่ในกรอบงบประมาณประจำปี ถ้ามองในแง่เสถียรภาพมั่นใจว่าการกู้ยืมจะส่งประโยชน์ให้ประชาชน และอยู่ในภาระที่ประเทศรับได้และการกู้เงินก็ไม่ใช่ว่ารัฐบาลชุดนี้กู้ยืมเพียงรัฐบาลเดียว แต่มีการกู้ยืมมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 รถรางแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น