xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องบางเรื่องของ ฯพณฯ สมชาย

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ผมเพิ่งได้รับอีเมลเมื่อไม่นานมานี้ ผู้ส่งระบุว่า เมลดังกล่าวนำมาจากเว็บบล็อกของโอเคเนชั่นอีกทีหนึ่ง ในเมลนี้กล่าวถึงนักวิชาการ ซึ่งได้รับการอุปโลกน์เป็นคณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และตั้งตนเป็นกูรูแห่งมหาวิทยาลัยอันดำมืดแห่งหนึ่ง

และเป็นสมชายผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรฯ อย่างเผ็ดร้อนเสมอมา

บางคนพยายามเถียงแทนสมชายว่า เขาวิจารณ์พันธมิตรฯ ในฐานะนักวิชาการ และพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเขาว่า เคยวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณมาก่อน เพื่อจะการันตีว่า เขาเป็นกลาง แต่พอได้อ่านเนื้อหา ท่าทีและอารมณ์ผ่านตัวอักษรและการสัมภาษณ์ของเขาก็รู้ทันทีว่า ไม่ใช่

เพราะถ้าใช่ เขาคงมีทัศนคติต่อม็อบเสื้อแดงที่ยกพวกไปตี ไปฆ่า รื้อทำลายเวทีฝ่ายตรงข้ามอยู่บ้าง แต่เรากลับไม่เห็นเขาแสดงทัศนคติในท่วงทำนองเดียวกับที่วิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรฯ เลย

มันก็คงจะคล้ายกับเรื่องขำๆ ที่บทความในมติชนเอย คอลัมนิสต์ในมติชนเอย พยายามยกย่องให้ม็อบเสื้อแดงเป็นพลังประชาชนในระบอบประชาธิปไตย โดยแกล้งมองข้ามข้อเท็จจริงที่อยู่เบื้องหลัง และสำนึกที่แท้จริงที่พวกเขามารวมตัวกัน

ความเห็นที่กล่าวถึง ฯพณฯ สมชายที่ผมได้รับต่อมา ได้สะท้อนให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของนักวิชาการคนนี้ ในอีกแง่มุมหนึ่ง และอดไม่ได้ที่ผมจะขออนุญาตต่อผู้เขียนมา ณ ที่นี้เพื่อให้ผู้อ่านคอลัมน์ของผมที่ไม่มีโอกาสเข้าไปอ่านให้ได้ยินได้รับรู้พร้อมๆ กัน

ลองอ่านงานเขียนของบล็อกเกอร์ที่ใช้นามว่า “LVPELE” ดูนะครับ

.........

“สมชาย ปรีชาศิลปะกุล” ชื่อนี้ หลายต่อหลายคนอาจจะรู้จักในฐานะนักวิชาการ คณบดีคณะนิติศาสตร์ และมหา’ลัยเที่ยงคืน แห่ง “มช.” แต่สำหรับคนธรรมดาๆ อย่างดิฉันขอเรียนว่าไม่เคยรู้จักหรือคุ้นเคยกับชื่อนี้มาก่อน

สาเหตุที่ทำให้ต้องมาทำความรู้จักกับบุคคลชื่อนี้เกิดจากการที่ “เขา” ได้เขียนบทความชื่อ “ความปลอดภัยของสนามบินบนโวหาร” ซึ่งลงพิมพ์ในมติชนรายวัน ฉบับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา

บทความชิ้นนี้สรุปใจความได้ว่า ประเทศไทยมีกฎหมายที่สามารถเอาผิดกับบุคคลที่ทำการปิดยึดสนามบินได้โดยตรง คือ พ.ร.บ.ความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนัก ซึ่ง “เขา” ตั้งข้อสังเกตว่า น่าแปลกใจที่นายกรัฐมนตรีไม่รู้เรื่องนี้ แต่กลับพยายามผลักดันกฎหมายใหม่ที่มีโทษเบากว่า เพื่อปกป้องกลุ่มผู้ยึดสนามบิน

เมื่อผู้บริหารของหน่วยงานดิฉันได้อ่านบทความนี้ จึงได้สั่งการให้ดิฉันซึ่งรับผิดชอบด้านกฎหมาย ดำเนินการสรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการของหน่วยงานในกรณีนี้ เผื่อว่าต้องไปชี้แจงกับ “ผู้ใหญ่”

เมื่อ “งานเข้า” ดิฉันรับบทความดังกล่าวมานั่งอ่านอย่างละเอียด จึงเกิดความรู้สึกว่างานเขียนชิ้นนี้ไม่ได้มีเจตนาเขียนในเชิงวิชาการอย่างแท้จริง เนื่องจาก

1. อ้างแต่ตัวบทกฎหมายที่ “เขา” เห็นว่าน่าจะเกี่ยวข้อง โดยขาดการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายเยี่ยงนักวิชาการพึงกระทำ

2. มีถ้อยคำเชิงชี้นำ ตำหนิติเตียนรัฐบาล และตั้งข้อสังเกตอย่างไม่เป็นกลางว่าต้องการปกป้องผู้ยึดสนามบิน

3. บทความนี้ลงพิมพ์ในมติชนรายวัน ซึ่งก็เป็นที่ทราบๆ กันดีว่าอะไรคืออะไร

อย่ากระนั้นเลย ด้วยความที่ดิฉันคิดว่า “เขา” เป็นนักวิชาการ แถมยังเป็นครูบาอาจารย์ ซึ่งอาจจะมองในมุมมองทางวิชาการด้านเดียว (แต่ตอนหลังชักไม่แน่ใจ) ดิฉันจึงพยามยามหาเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกับ “เขา” เพื่อที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงในฐานะหน่วยงานเจ้าของกฎหมายโดยตรง ซึ่งคิดว่า “เขา” ต้องรับฟังและอาจได้แลกเปลี่ยนความเห็นกัน

เมื่อติดต่อกับ “เขา” ได้ทางโทรศัพท์ ดิฉันแนะนำตัวและแจ้งว่า โทร.จากหน่วยงานนี้นะคะ เห็นบทความของคุณที่ลงพิมพ์ในมติชน จึงขอชี้แจงว่าหน่วยงานกำลังดำเนินการเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงอยู่ ซึ่งเท่าที่ทราบ รัฐบาลก็ตั้ง คก.จากหลายหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการเรื่องนี้ ทั้ง สตช. กระทรวงยุติธรรม ฯลฯ ....

“เขา” ตอบกลับมาว่า ก็ดีแล้ว ที่ผมเขียนบทความนี้เพราะเห็นว่ารัฐบาลไม่เห็นทำอะไรกับเรื่องนี้ซักที ซึ่งจริงๆ น่าจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้แล้ว นี่ปาเข้าไปกี่เดือนแล้ว bla bla bla.....

เอ่อ อย่างนี้นะคะ ถ้าพูดเฉพาะในประเด็นกฎหมายตัวที่คุณเขียนบทความ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีโทษแรง ซึ่งต้องรวบรวมพยานหลักฐานข้อเท็จจริงจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งตำรวจเองก็ดี ซึ่งเราขอข้อมูลจากตำรวจ ตำรวจก็มาขอเรา ฯลฯ ….

ดิฉันพยายามอธิบายให้ “เขา” ฟังและพูดต่อไปว่า เมื่อได้ข้อเท็จจริงก็ต้องเอามาพิจารณาว่าจะเข้ากับองค์ประกอบกฎหมายหรือเปล่า (ซึ่งเรื่องนี้ “เขา” เป็นอาจารย์กฎหมายก็น่าจะเข้าใจดี) เพราะกฎหมายนี้เป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับการประทุษร้ายผู้อื่นในท่าอากาศยานจนเป็นเหตุให้หรือน่าจะเป็นเหตุให้ผู้อื่นนั้นรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย หรือการทำลาย หรือทำให้เสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าอากาศยานหรือต่ออากาศยานที่ไม่อยู่ในระหว่างบริการและอยู่ในท่าอากาศยานนั้น หรือทำให้การบริการของอากาศยานนั้นหยุดชะงักลง โดยใช้กลอุปกรณ์ วัตถุหรืออาวุธใดๆ และการกระทำนั้นเป็นอันตรายหรือน่าจะเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของท่าอากาศยานนั้น …ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี ฯลฯ....

ในระหว่างกำลังพูดอยู่ ไม่นึกไม่ฝันว่าผู้ที่เรียกตัวเองว่า “นักวิชาการ” และเป็น “ครูบาอาจารย์” จะเริ่มขึ้นเสียงแสดงความไม่พอใจ และน้ำเสียงแสดงความโมโห และหงุดหงิด พร้อมกับพูดโพล่งออกมาว่า “อะไรกันคุณ คุณว่าข้อเท็จจริงยังไม่ชัดอีกเหรอ คุณก็เห็นอยู่ว่าใครมันเป็นแกนนำ ใครมันขึ้นไปพูดบนเวที ปาว ๆ ........ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องมาพูดกันเลย”

เอ่อ (อึ้งเล็กน้อย) คือ งี้ค่ะ ดิฉันหมายถึงว่าข้อเท็จจริงว่ามีการทำร้ายผู้อื่น ทำลายเครื่องไม้เครื่องมือในสนามบิน.......ฮัลโหล... ฮัลโหล ..... ฮัลโหล ตู๊ด ตู๊ด........

ปรากฏว่า “เขา” วางหูใส่ดิฉันเสียฉิบ ซึ่งกำลังพยายามอธิบายข้อเท็จจริงทางปฏิบัติให้ “เขา” ฟัง

ดิฉันยังไม่จบ ต่อสายเข้าไปใหม่ภายในไม่ถึง 10 วินาที ปรากฏเป็นเสียงผู้อื่นรับ และบอกว่า “เขา” ออกไปข้างนอกแล้ว (ซึ่งน่าจะโกหก)

ดิฉันจึงบอกไปว่า ไม่เป็นไรค่ะ ฝากบอกคุณสมชายด้วยว่า “การวางหูโทรศัพท์ใส่ผู้หญิง เป็นการกระทำที่ไม่เป็นลูกผู้ชายเลยค่ะ” คนรับสายก็นิ่งไปชั่วครู่แล้วก็บอกว่าเอ่อจะเรียนอาจารย์ให้ค่ะ

...........

อ่านแล้วลองตัดสินกันเอาเองนะครับ ว่า เราจะนิยาม ฯพณฯ สมชาย ปรีชาศิลปกุล ซึ่งเป็นถึงคณบดีนิติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างไรดี

surawhisky@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น