xs
xsm
sm
md
lg

กะโหลกกะลาของนักวิชาการ

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ตอนที่พวกเสื้อแดงออกมาอาละวาดทำร้ายทำลายความตรงข้ามอย่างไร้เหตุผลอยู่ในเวลานี้ ทำให้ผมอดคิดถึงนักวิชาการที่เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ และนักสันติวิธีที่พยายามพูดให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ก้าวพ้นหลักการของสันติอหิงสา

ตอนนี้กลุ่มเสื้อแดงใช้วิทยุชุมนุมปลุกระดมให้กลุ่มคนที่รักทักษิณออกมาทำร้ายทำลายและฆ่าฝ่ายตรงข้าม ผมกลับไม่เห็นนักวิชาการสื่อสารมวลชนที่ออกมาวิจารณ์พันธมิตรฯ และสื่อของพันธมิตรฯ ปริปากออกมาเลย

ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า การออกมาวิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรฯ ของบุคคลเหล่านั้นเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ หรือว่าแท้จริงแล้วเป็นเพียงทัศนคติอำพรางเพื่อทำลายความชอบธรรมของพันธมิตรฯ เท่านั้น

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า พันธมิตรฯ จะแตะต้องไม่ได้ วิจารณ์ไม่ได้ เพียงแต่คนวิจารณ์พันธมิตรฯ มักจะซ่อนเร้นตัวตนที่แท้จริงของตัวเองเอาไว้ ผมจึงเคารพนักวิชาการบางคนที่ประกาศตัวว่า สนับสนุนระบอบทักษิณแล้วออกมาปะฉะดะกับพันธมิตรฯมากกว่า นักวิชาการที่กระแดะว่า เป็นพวก 2 ไม่เอา ด่าพันธมิตรฯ แต่หันบั้นท้ายให้ระบอบทักษิณเสพสม

ถ้าเราย้อนกลับไปมองเหตุผลหลักข้อหนึ่งที่นักวิชาการที่วิจารณ์พันธมิตรฯ มักยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการทำลายความชอบธรรมของพันธมิตรฯ ในการลุกขึ้นสู้เพื่อขับไล่รัฐบาลนอมินีของทักษิณ ก็คือ การอ้างความชอบธรรมของรัฐบาลว่ามาจากการเลือกตั้ง

เหตุผลข้อนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ถ้ามองย้อนกลับไปหลังการเลือกตั้ง ก็จะพบว่า พันธมิตรฯ เองก็ไม่ได้คัดค้านรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชอย่างทันที และประกาศยอมรับการเข้ามาบริหารของรัฐบาลสมัครและยอมมองข้ามความเป็นนอมินีของทักษิณในตอนแรกด้วยซ้ำไป

ฝ่ายที่ต่อต้านพันธมิตรฯ พยายามบอกว่า เจตจำนงของประชาชนอยากให้พรรคพลังประชาชนมาเป็นรัฐบาล ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะประชาชนไม่ได้เลือกพรรคพลังประชาชนเข้ามาแบบถล่มทลายเหมือนยุคที่เลือกพรรคไทยรักไทยด้วยอาการเบื่อประชาธิปัตย์และหลงเชื่อว่า รวยแล้วไม่โกง เพียงแต่พรรคพลังประชาชนสามารถรวบรวมเสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาลได้ในช่วงแรกเท่านั้น

แต่สิ่งที่ฝ่ายต่อต้านพันธมิตรฯ ไม่ได้พูดก็คือ ใช่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วจะใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลเช่นไรก็ได้ และสิ่งที่พันธมิตรฯ ต่อสู้ก็คือ เรื่องการใช้อำนาจอย่างชอบธรรม ไม่ได้โต้เถียงว่า รัฐบาลพรรคพลังประชาชนขณะนั้นมาอย่างชอบธรรมหรือไม่

เมื่อรัฐบาลนอมินีใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมมีความพยายามผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเร่งรีบเพื่อฟอกผิดตัวเอง ปรับเปลี่ยนโยกย้ายรังแกข้าราชการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคดีทุจริตการเลือกตั้ง และคดีความของทักษิณและครอบครัว ฯลฯ พันธมิตรฯ ก็ย่อมที่จะมีมีสิทธิและเสรีภาพในการออกมาขับไล่รัฐบาลที่ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม

อย่าลืมว่า การลุกขึ้นสู้ของประชาชนในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลที่มีที่มาอย่างชอบธรรม (จากการเลือกตั้ง) ได้ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม

และต้องไม่ลืมเช่นเดียวกันว่า สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการขับไล่รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมก็คือความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน

จะอ้างตะบันว่า รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง โดยทำลายความชอบธรรมในหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างไร

แน่นอนว่า พันธมิตรฯ เองก็ตระหนักเช่นเดียวกันว่า ไม่อาจอ้างสิทธิเสรีภาพพร่ำเพรื่อโดยก้าวข้ามหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยได้

ปัญหาและคำถามต่อนักวิชาการบางกลุ่มที่ชิงชังพันธมิตรฯ ก็คือ พวกเขาได้อภิปรายพันธมิตรฯ อย่างมีหลักการทางทฤษฎีหรือด้วยอคติกันแน่

เราจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าใครจะมองว่า พันธมิตรฯ ถูกหรือระบอบทักษิณถูก แต่เราจะพบว่า คนที่เห็นว่า ระบอบทักษิณถูกมักไม่กล้าแสดงตัวออกมาอย่างเปิดเผย ส่วนใหญ่แสร้งทำเป็นว่า เป็นกลางหรือไม่เอาทั้งสองฝ่าย แต่เราไม่เคยได้ยินคนเหล่านั้นวิพากษ์วิจารณ์ระบอบทักษิณในเชิงลบเลย

นักวิชาการที่สนับสนุนระบอบทักษิณส่วนใหญ่มักจะอำพรางตัวเองทั้งนั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า พวกเขารู้อยู่แก่ใจว่า ระบอบทักษิณเป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะปิดบังอำพรางตัวตนไปทำไม

หรืออย่างเก่งนักวิชาการเหล่านั้น ก็มักจะมีข้ออ้างว่า พวกเขาเคยวิจารณ์ระบอบทักษิณมาก่อนที่พันธมิตรฯ จะออกมาเคลื่อนไหว เพื่อเป็นเกราะกำบังว่า พวกเขาไม่ได้มีอคติในการวิจารณ์พันธมิตรฯ เพื่อต้องการสะท้อนว่า เขามีความเป็นกลางทางวิชาการ แต่พวกเขามักจะยอกย้อนพวกเราที่ออกมาต่อสู้กับระบอบทักษิณว่า เป็นพวกที่เคยเชียร์ทักษิณมาก่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สนธิ ลิ้มทองกุล และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง มักถูกโจมตีเหน็บแหนมเสมอมาว่า เป็นกองเชียร์ทักษิณมาก่อน คล้ายกับว่า คนเคยเชียร์ทักษิณ ถ้าวันหนึ่งมองเห็นส่วนไม่ดีของระบอบทักษิณแล้วออกมาวิจารณ์ระบอบทักษิณในภายหลัง เป็นสิ่งที่ผิด ซึ่งเป็นตรรกะที่ตลกสิ้นดี

ตลกก็เพราะ พอเขาปกป้องตัวเองว่า เขาไม่มีอคติในการโต้ตอบพวกเรา เขาจะบอกว่า เขาเคยวิจารณ์ระบอบทักษิณมาก่อนพวกเรา แต่พอเขาจะกล่าวหาเราที่ออกมาโจมตีระบอบทักษิณ เขาจะเหน็บแหนมว่าพวกเราเป็นพวกปกป้องระบอบทักษิณมาก่อน

กลายเป็นทฤษฎีประหลักประเหลื่อว่า

นักวิชาการ →ปัจจุบันด่าพันธมิตรฯ -อดีตด่าระบอบทักษิณมาก่อน = ความชอบธรรม

พันธมิตรฯ →ปัจจุบันด่าระบอบทักษิณ -อดีตเคยชื่นชมระบอบทักษิณ = ความไม่ชอบธรรม

ตัวอย่างทฤษฎีที่ไร้ตรรกะนี้สะท้อนว่า ความผิดถูกของแต่ละฝ่ายและความพยายามหาเหตุผลมาอภิปรายของนักวิชาการนั้นเป็นเรื่องของอคติมากกว่าหลักการทางวิชาการ

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เพราะสามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้หลังการยุบพรรคพลังประชาชน สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เผชิญอย่างทันทีจากกลุ่มคนเสื้อแดงก็คือ การปลุกพลังประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาลประชาธิปัตย์

แต่เรากลับไม่ได้ยินนักวิชาการกลุ่มเดียวกันนั้นออกมาท้วงติงการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงเช่นเดียวกับที่ทำกับพันธมิตรฯ เลยว่า ต้องเคารพหลักการของระบอบประชาธิปไตย

เพราะพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาลด้วยความชอบธรรมเช่นเดียวกัน เรากลับไม่ได้ยินการอธิบายตรรกะและเหตุผลชุดเดียวกันนั้น จากนักวิชาการที่เคยตำหนิการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ เลย

ในขณะที่นักวิชาการบางกลุ่มกล่าวหาว่า พันธมิตรฯ ไม่ได้ยึดหลักการของสันติอหิงสา ทุกวันนี้ฝ่ายเสื้อแดงได้ยกกำลังไปปิดล้อมไล่ฆ่า ทำร้าย ทำลายการเปิดเวทีปราศรัยของพันธมิตรฯ โดยที่ไม่เคยได้ยินพันธมิตรฯ ไปรุกล้ำเวทีปราศรัยของฝ่ายเสื้อแดงเลย

ทั้งนี้การยกเหตุผลเสื้อแดงกับประชาธิปัตย์ขึ้นมาก็มิได้หมายความว่า พันธมิตรฯมีจุดยืนเดียวกับประชาธิปัตย์ เพราะถ้าประชาธิปัตย์ประพฤติมิชอบ พันธมิตรฯ ก็ต้องลุกขึ้นมาขับไล่เช่นเดียวกัน แต่ต้องการสะท้อนให้เห็นความจอมปลอมของนักวิชาการบางกลุ่มในบ้านเราเสียมากกว่า

นักวิชาการคนไหนไม่ชื่อว่าตัวเองจอมปลอมก็ให้เถียงมา


surawhisky@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น