xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:ความท้าทายของธุรกิจอากาศยานไทย

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

ประเทศไทยได้ให้ความสนใจกับอุตสาหกรรมอากาศยานมาตั้งแต่ในอดีต แต่ปัญหาในปัจจุบัน คือ อุตสาหกรรมอากาศยานของไทยนับว่าก้าวหน้าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น นับเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องเร่งแก้ไข

อุตสาหกรรมการบินได้เริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อกระทรวงกลาโหมได้ส่งบุคลากรไปศึกษาวิชาการบินและการช่างอากาศที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 2454 และได้เดินทางกลับประเทศไทยภายหลังสิ้นสุดการศึกษา พร้อมกับเครื่องบินที่กระทรวงกลาโหมได้สั่งซื้อไว้ จากนั้นนักบินไทยดังกล่าวได้ใช้เครื่องบินที่เป็นสมบัติของชาติไทย แสดงการบินถวายหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2456 ดังนั้น ประเทศไทยจึงได้กำหนดให้วันที่ 13 มกราคมของทุกปีเป็น “วันการบินแห่งชาติ”

ต่อมาเมื่อปี 2470 ประเทศไทยสามารถวิจัยและพัฒนาผลิตเครื่องบินเป็นผลสำเร็จ โดยตั้งชื่อว่าเครื่องบินบริพัตร นับเป็นเครื่องบินแบบแรกที่ออกแบบและสร้างขึ้นโดยคนไทย และอีก 10 ปีต่อมา คือ วันที่ 9 เมษายน 2480 กระทรวงกลาโหมก็ได้ยกฐานะกรมทหารอากาศขึ้นเป็นกองทัพอากาศ

สำหรับในด้านอุตสาหกรรมการบินของภาคพลเรือนนั้น เดิมศูนย์ซ่อมของการบินไทยมีความสามารถในการซ่อมย่อยหรือซ่อมขั้นลานจอดหรือ Line/Light Maintenance เท่านั้น ขณะที่การซ่อมใหญ่ต้องบินไปซ่อมที่ต่างประเทศ ต่อมาในปี 2525 การบินไทยได้ลงทุนก่อสร้างอาคารและติดตั้งเครื่องจักรเพื่อขยายขีดความสามารถในการซ่อมใหญ่สำหรับเครื่องบินระดับลำตัวกว้างขึ้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ทำให้สามารถยกระดับจนสามารถซ่อมใหญ่ระดับ C-Check และ D-Check ได้เป็นผลสำเร็จนับตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญและกลายเป็นศูนย์ซ่อมระดับแนวหน้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายช่างของการบินไทยในช่วงนั้นยังมีแผนจะผลิตชิ้นส่วนอากาศยานเพื่อป้อนให้แก่บริษัท GE เพื่อหารายได้เสริม โดยกำหนดเริ่มต้นจากชิ้นส่วนง่ายๆ ก่อน โดยบริษัท GE สัญญาว่าจะรับซื้อชิ้นส่วนอย่างต่ำปีละ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ รวม 5 ปี เป็นเงิน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ หากสามารถผลิตได้ดี ราคาถูก จะสั่งซื้อเพิ่มเติมในอนาคต อย่างไรก็ตาม ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารฝ่ายช่างของบริษัทการบินไทย คือ กัปตันชูศักดิ์ พาชัยยุทธ ทำให้โครงการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานต้องหยุดชะงักลงและล้มเลิกในเวลาต่อมา

ภายหลังการบินไทยก่อตั้งศูนย์ซ่อมใหญ่ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองแล้วเสร็จ แต่ไม่มีพื้นที่เพียงพอที่จะขยายโครงการ ดังนั้น บริษัทการบินไทยจึงได้ลงทุนเป็นเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อก่อตั้งศูนย์ซ่อมที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งมุ่งเน้นเฉพาะการซ่อมใหญ่ระดับ C-Check และ D-Check เท่านั้น ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2542 ต่อมาได้ก่อสร้างศูนย์ซ่อมแห่งที่ 3 ขึ้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นับว่ามีขนาดกว้างใหญ่มาก สามารถจอดเครื่องบินโบอิ้ง 747 ได้พร้อมกันมากถึง 5 ลำ หรือหากเป็นเครื่องบินแอร์บัส A380 ซึ่งเป็นเครื่องบินโดยสารใหญ่ที่สุดในโลก จะสามารถจอดได้พร้อมกันมากถึง 3 ลำ

ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญแก่อุตสาหกรรมการบินอย่างต่อเนื่อง เป็นต้นว่า รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 ว่าจะพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูมิภาค และอุตสาหกรรมการบินของไทย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าทางอากาศชั้นนำของเอเชียและโลก

ส่วนรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ว่าจะพัฒนาท่าอากาศยานสากล ท่าอากาศยานภูมิภาค และอุตสาหกรรมการบินของไทย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน การท่องเที่ยว และการขนส่งทางอากาศชั้นนำของเอเชียและของโลก

ล่าสุดรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 กำหนดพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน เช่น ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าทางอากาศชั้นนำของทวีปเอเชีย

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยกลับไม่เติบโตอย่างที่รัฐบาลกำหนดนโยบายเอาไว้ กล่าวคือ ได้เติบโตอย่างไม่สมดุล มีการขยายตัวอย่างมากเฉพาะธุรกิจสายการบินและท่าอากาศยานเท่านั้น ขณะที่ธุรกิจผลิตและซ่อมบำรุงอากาศยานและชิ้นส่วนยังไม่เติบโตเท่าที่ควร มีธุรกิจขนาดใหญ่เฉพาะศูนย์ซ่อมของการบินไทยเท่านั้น

จากเหตุผลดังกล่าว ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินของไทยตามหลังสิงคโปร์และมาเลเซียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะตามหลังสิงคโปร์อย่างไม่เห็นฝุ่น ทั้งนี้ ปัจจุบันสิงคโปร์นับเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอากาศยานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ปัจจุบันมีบริษัททำธุรกิจในด้านนี้ในสิงคโปร์มากกว่า 100 บริษัท จ้างงานมากถึง 18,000 คน และมีรายได้รวมกันเป็นเงินสูงถึง 200,000 ล้านบาท/ปี ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วบุคลากรในธุรกิจอากาศยานของสิงคโปร์บางส่วนเป็นคนไทยที่ไปทำงานในสิงคโปร์

สิงคโปร์นับว่าเด่นมากในธุรกิจด้านซ่อมบำรุงอากาศยานและชิ้นส่วน (MRO) โดยมีส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคเอเชียเป็นสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 4 ของธุรกิจ ประกอบด้วยธุรกิจในด้านต่างๆ เป็นต้นว่า การซ่อมบำรุงเครื่องบิน การซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ การซ่อมบำรุงระบบไฮดรอลิก ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของเครื่องบิน (Avionics) ระบบ Landing Gears ของเครื่องบิน ฯลฯ

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้สิงคโปร์จะประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นในธุรกิจสาขานี้ แต่รัฐบาลสิงคโปร์ยังไม่นิ่งนอนใจแต่อย่างใด โดยล่าสุดได้ประกาศเมื่อต้นปี 2552 ในการลดอัตราภาษีการขายสินค้าและบริการ (GST) เหลือศูนย์ สำหรับธุรกิจซ่อมบำรุงเครื่องบินและชิ้นส่วน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้เพิ่มมากขึ้นไปอีก

แม้ปัจจุบันคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้กำหนดให้อุตสาหกรรมผลิตและซ่อมอากาศยานและชิ้นส่วนเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้ได้รับสิทธิและประโยชน์สูงสุด แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้น ทิศทางการแข่งขันของประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมอากาศยานในอนาคต จะต้องเร่งดำเนินการหลายประการ

ประการแรก ต้องเร่งรัดแก้ไขปัญหาความยุ่งยากและความล่าช้าของการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่เป็นชิ้นส่วนอากาศยาน เนื่องจากธุรกิจประเภทนี้ต้องการความเร่งด่วนในการซ่อมเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ธุรกิจการซ่อมมีหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ ต้องซ่อมให้เสร็จภายในเวลาและคุณภาพต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เมื่อผ่าน 2 ข้อนี้แล้ว จึงค่อยมาคุยกันเกี่ยวกับเรื่องราคา ไม่ใช่ราคาต่ำแล้วจะมีลูกค้ามาหาเสมอไป สำหรับจุดเด่นสำคัญของสิงคโปร์ คือ ความรวดเร็วในด้านพิธีการศุลกากร ทำให้สามารถลด Turnaround Time ตั้งแต่รับอะไหล่ การซ่อม จนถึงส่งขึ้นเครื่องบิน ลดลงเหลือเพียงแค่ 3 ชั่วโมง

ประการที่สอง ต้องแก้ไขปัญหาความยุ่งยากในการขอใช้พื้นที่ในท่าอากาศยานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยิ่งไปกว่านั้น หน่วยราชการที่เป็นเจ้าของพื้นที่ของไทยมักมีทัศนคติว่าจะต้องพยายามหารายได้เข้ารัฐมากกว่าจะมีมุมมองเชิงยุทธศาสตร์เกี่ยวกับพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ก่อให้เกิดความยุ่งยาก ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วประเทศไทยมีสนามบินมากกว่าของประเทศเพื่อนบ้านด้วยซ้ำ และพื้นที่ภายในสนามบินจำนวนมากได้ถูกทิ้งร้างโดยไม่ใช้ประโยชน์ กลายเป็นสนามบินร้าง ดังนั้น ความจริงแล้วน่าจะง่ายกว่าประเทศอื่นๆ ด้วยซ้ำในการอนุมัติให้ใช้พื้นที่

กรณีของประเทศไทยจึงนับว่าแตกต่างจากกรณีของประเทศเพื่อนบ้านที่อำนวยความสะดวกในการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ภายในท่าอากาศยานอย่างเต็มที่เพื่อเป็นมาตรการหนึ่งในการชักจูงการลงทุน เป็นต้นว่า รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้ก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม Seletar Aerospace Park (SAP) ขนาดพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ ติดกับสนามบิน Seletar Airport ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ แล้วเสร็จเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งนอกจากก่อสร้างเพื่อให้รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตและซ่อมบำรุงอากาศยานแล้ว ยังกำหนดเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาสำหรับนักบินและช่างเทคนิคในด้านอากาศยาน

ส่วนรัฐบาลมาเลเซียได้สนับสนุนการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมในนาม Malaysia International Aerospace Centre (MIAC) ขึ้นที่ท่าอากาศยาน Sultan Abdul Aziz Shah (SAAS) ซึ่งเป็นท่าอากาศยานแห่งเดิมของกรุงกัวลาลัมเปอร์ก่อนจะย้ายไปตั้งในสถานที่แห่งใหม่ นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ได้เปิดดำเนินการแล้วเมื่อปี 2548 โครงการประกอบด้วยการซ่อมบำรุงและยกเครื่องเครื่องบินทหารและพลเรือน ศูนย์เครื่องบินเช่าเหมาลำและเครื่องบินส่วนตัว สำนักงานขายในภูมิภาคสำหรับผู้ผลิตเฮลิคอปเตอร์ ศูนย์ฝึกอบรมในด้านการบิน และศูนย์ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้านการบิน (Avionics)

อนึ่ง กรมการขนส่งทางอากาศได้ศึกษาในการจัดหาพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมการบินของไทยในอนาคต โดยมีการประชุมหารือมาตั้งแต่ปี 2549 เกี่ยวกับการพัฒนาท่าอากาศดอนเมืองเพื่อให้เป็นศูนย์อุตสาหกรรมการบินของประเทศ ซึ่งการพิจารณาเบื้องต้นมีความเห็นว่าควรดัดแปลงอาคารคลังสินค้าให้เป็นพื้นที่ผลิตและซ่อมชิ้นส่วนอากาศยาน ทั้งนี้หากดำเนินการสำเร็จ จะเป็นประโยชน์อย่างมาก

ประการที่สาม รัฐบาลควรมีมาตรการเชิงรุกในการชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งต้องครอบคลุมไม่เฉพาะอุตสาหกรรมอากาศยานเท่านั้น แต่รวมถึงธุรกิจต่อเนื่อง เป็นต้นว่า การส่งเสริมให้ต่างชาติมาตั้งศูนย์อะไหล่อากาศยานสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในไทย ซึ่งจะส่งผลดีทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจประเภทนี้ของไทยไม่ต้องเสียเวลาไปสั่งซื้อจากศูนย์อะไหล่ในสิงคโปร์

ขณะที่ประเทศอื่นๆ ต้อนรับการลงทุนของต่างประเทศอย่างเต็มที่ในอุตสาหกรรมการบิน กรณีของประเทศไทยกลับตรงกันข้าม ได้มีการออกกฎหมาย คือ พ.ร.บ.การเดินอากาศ ฉบับที่ 11 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การขนส่งทางอากาศ พ.ศ.2497 มีบทบัญญัติจำกัดการลงทุนจากต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการกำหนดให้กิจการผลิตอากาศยาน ผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน (ปัจจุบันกำหนด 2 ประเภท คือ เครื่องยนต์และใบพัด) และโรงซ่อมบำรุงอากาศยาน ต้องมีหุ้นไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 และอำนาจการบริหารกิจการต้องอยู่ภายใต้การควบคุมโดยบุคคลสัญชาติไทย

กฎหมายข้างต้นนับว่าส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาพลักษณ์ของไทยในอุตสาหกรรมการบิน เนื่องจากเท่ากับเป็นการประกาศว่าประเทศไทยไม่ต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น จำเป็นต้องรีบเร่งทบทวนแก้ไขกฎหมายก่อนที่จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมการบินของไทยในอนาคต

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น