xs
xsm
sm
md
lg

ขออำนาจการเมืองแบบพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกฯ เปิดงานวันนักข่าว หนุนสื่อดูแลกันเอง เผยมีแนวคิดให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นเจ้าภาพในการปฏิรูปการเมือง รับการเมืองไทยังวนไปวนมาเพราะยังมีองค์กรอิสระคอยแทรกแซง ต่อไปต้องให้ความสำคัญกับเสียงข้างมาก หากนักการเมืองทำผิดแม้แต่นิดเดียวก็จะลาออก การเมืองต้องมีความพอเพียง-รัฐบาลต้องมีขอบเขตของอำนาจ ประชาชนสามารถเข้ามาตัดสินใจนโยบายระดับชาติ แก้ปัญหาซื้อเสียงโดยไม่ต้องมี กกต.

วานนี้ (5 มี.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานฉลองวันนักข่าวประจำปี 2552 และปีนี้เป็นปีครบรอบ 54 ปีของสมาคมฯ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมกล่าว ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ปฏิรูปการเมือง” ณ ห้องบอลรูม ชั้น 6 โรงแรมอมารี วอเตอร์เกต
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอยืนยันจะสนับสนุนการทำงานของสื่อมวลชนเพื่อให้กำกับดูแลกันเอง เพื่อเป็นมาตรฐานวิชาชีพในการสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามการปาฐกถา เรื่อง “การปฏิรูปการเมือง”ตนตั้งใจจะมอบให้องค์กรที่เป็นกลางกำหนดเป็นนโยบายรัฐบาลในการตัดสินใจ ดังนั้นจึงได้เสนอให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นเจ้าภาพในการปฏิรูปการเมือง แต่นักนักการเมืองยังไม่เดินไปไหน อยากยืนยันว่าสภาพการเมืองติดกับดักอยู่ในวงจรที่น่าตกใจ ตลอด 20 ปีที่ลงเล่นการเมือง เห็นว่าทิศทางยังวนไปวนมา ยอมรับว่า การปฏิรูปการเมืองที่ผ่านมามีข้อจำกัดในหลายๆด้าน ในเรื่องของการแทรกแซงองค์กรอิสระ ใช้อำนาจโดยมิชอบ มีกลโกง ขณะเดียวกันตนได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องการปฏิรูปการเมืองกับหลายฝ่าย ซึ่งมีการเสนอวิธีต่างๆ โดยตนระบุว่า ความจริงเราได้ลองมาทุกอย่างแล้วทั้งการเลือกตั้ง หรือการมีองค์กรอิสระ แต่ระบบการเมืองยังไม่มีการตอบสนอง เหมือนกับการเมืองที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปการเมือง คือ การปฏิรูปรัฐธรรมนูญต้องใหญ่กว่าการปฏิรูปกฎหมาย จะต้องตีโจทย์อย่างหลากหลาย ซี่งสิ่งที่ต้องทำคิด ต้องทำให้นิ่ง มีความยอมรับในกระบวนการให้ได้เสียก่อน เพราะหากไม่ได้รับความไว้วางใจจากทั้ง 2 ฝ่ายก็จะเกิดปัญหา หากไม่ยอมรับก็เดินต่อไปไม่ได้
“ความวุ่นวายเกิดจากความไม่ไว้ใจกัน พอฝ่ายใดทำก็ไม่เกิดการยอมรับกันจนเป็นปมปัญหาใหม่ ช่วงแรกที่เข้ามาทำยอมรับว่าลำบากมาก ดังนั้นในวันจันทร์ที่ 9 มี.ค. นี้ ทางสถาบันพระปกเกล้าจะจัดประชุมดูว่าจะรับหรือไม่รับเป็นเจ้าภาพในการปฏิรูปการเมือง"

นักการเมืองผิดนิดเดียวต้องออก
นายอภิสิทธิกล่าวว่า การวางระบบการเมืองจะต้องทำความเข้าใจในวิถีของประชาธิปไตย ซึ่งเชื่อว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นหลักใหญ่ โดยต้องกำหนดให้มีขอบเขตอำนาจจำกัด ซึ่งถือเป็นหัวใจ ต้องรู้ว่าแค่ไหนเป็นการเมือง แค่ไหนนอกเหนือการใช้อำนาจการเมือง ซึ่งในระบบประชาธิปไตยนักการเมืองเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น ปัญหาที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นเพราะทุกคนนำปัญหาไปกองกับนักการเมือง คิดว่าหัวหน้ารัฐบาลต้องทำได้ทุกสิ่งทุกอย่าง จนแต่ละฝ่ายทำให้เกิดความขัดแย้ง เพราะถูกกำหนดมาว่าฝ่ายที่ได้เสียงข้างมากทำได้ทุกอย่าง โดยบอกเพียงว่าคนที่ชนะแล้วก็จะได้อำนาจ ขณะเดียวกัน การใช้อำนาจจะต้องฝ่ายที่จะตรวจสอบประกอบกันไปด้วย แต่ก็ไม่รู้ว่าฝ่ายที่ตรวจสอบจะมีที่มาอย่างไร ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้งเท่านั้น ต้องมีกลไกที่มาตรวจสอบ หัวใจคือจะต้องหาเส้นแบ่งนี้ให้เป็นประชาธิปไตยอย่างไร
นายกฯ ยังยกต้นแบบประชาธิปไตยในประเทศอังกฤษ และประเทศญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับเสียงข้างมาก หากมีความผิดแม้แต่นิดเดียวก็จะลาออกไม่ให้เป็นภาระกับสังคม เพราะมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดีรองรับอยู่ ไม่ต้องออกมาไล่กันทุกวัน หรือมีความขัดแย้งอย่างรุนแรง ดังนั้นการกำหนดขอบเขตให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับหลักเสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนรัฐบาลจะต้องมีอำนาจขอบเขตที่จำกัด
“ผมขอเสนอระบบอำนาจการเมืองด้วยความพอเพียง หรือมีภูมิคุ้มกันอย่าเอาประเทศไปเสี่ยง ถ้าทำเช่นนี้เราก็จะไม่เจอกับปัญหาสับสนวุ่นวายเกี่ยวกับการเมืองแบบนี้ ไม่ว่าเราจะออกแบบรัฐธรรมนูญอย่างไร แต่ก็ไม่มีหลักประกันได้ว่าการเมืองของเราจะพัฒนาต่อไปได้ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเมือง เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ประชาชนสามารถที่จะเข้ามาตัดสินใจในเรื่องนโยบายระดับชาติ และเลือกผู้นำ ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้โดยไม่ต้องมี กกต. ซึ่งผู้เลือกตั้งเองก็จะต้องมีพัฒนาการ รวมถึงสื่อมวลชนเองก็มีบทบาทที่สำคัญที่จะสร้างวัฒนธรรมการเมือง ถ้าสื่อกระพือค่านิยมที่ผิด ก็ไม่ต้องคิดว่าบ้านเมืองจะดีขึ้น หรือได้การเมืองอย่างที่เราต้องการ” นายอภิสิทธิกล่าวเชื่อว่าความสำเร็จของระบบประชาธิปไตยสามารถทำขึ้นได้ เพราะกระบวนการตรงนี้ทุกฝ่ายต้องเข้ามาร่วมมือกัน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง อาจมีปัญหาขลุกขลักบ้าง แต่สุดท้ายเชื่อว่าจะสำเร็จ ซึ่งตนจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ อย่างน้อย ไม่กลับไปสู่ความรุนแรง หรือช่วยประสานบาดแผลของประเทศที่ผ่านมาได้
ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงระยะเวลาที่จะทำให้การเมืองนิ่ง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คำว่านิ่งคงไม่ใช่ว่าราบเรียบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะนิ่งมากๆก็เน่า อาจมีแรกกระเพื่อมบ้าง แต่อย่างให้ถึงขั้นพายุ หรือสึนามิ 2 เดือนที่ผ่านมาตนเชื่อว่าคนสัมผัสได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลง ตนมีผู้ชุมนุมชุมนุมหน้าทำเนียบตลอด และเชื่อว่าจะกลับมาอีกหลายกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มต้าน แต่เชื่อว่าถ้าเราไม่มีความรุนแรง ไม่ไปทะเลาะเบาะแว้ง เชื่อว่าไปได้ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการความรุนแรง
“ผมต้องขอบคุณที่ก่อนหน้านี้ฝ่ายค้านมีการมาพูดคุยด้วย มาตกลงกระบวนการ และมีการเปิดกว้างกันให้มากที่สุด ส่วนข้างนอกจะเคลื่อนไหวก็มีสิทธิ แต่ที่สุดแล้วเชื่อว่าคนจะมองว่า แล้วทำไมไม่มาอยู่ในกลไกตรงนี้ แม้จะเป็นคู่ขัดแย้ง แต่ก็อยู่ในสภา เรื่องนี้ผมก็ต้องบอกไว้เลยว่า เขาคิดมาแล้วมันก็ไม่ถูกใจผมหรอก แต่มันต้องเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ยืนยันว่าคงใช้เวลาไม่ให้ถึง 3 ปี เพราะสังคมรอไม่ได้ แต่ถ้าสั้นเกินไปแล้วคนออกไปประท้วงตามถนน ก็อย่าทำดีกว่า ส่วนอายุรัฐบาลคงประมาณ 3 ปี หรือเกือบ 3 ปี แต่ถ้าบอกว่าทำงานเสร็จแล้วรัฐบาลต้องพ้นไป มันไม่ใช่เงื่อนไข ที่ทำอยู่วันนี้ก็เพื่อไม่ให้คนออกมาบนถนนอีก”นายกฯกล่าว
เมื่อถามว่า นายกฯเห็นอย่างไรกับข้อเรียกร้องให้แก้มาตรา 237 และ 190 รวมถึงการออกกฎหมายนิรโทษกรรม นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนิรโทษกรรม หลักธรรมาภิบาลคืออย่าทำอะไรที่เอื้อต่อตัวเอง ตนไม่เคยเชื่อเรื่องความปรองดองด้วยการลืมและลบทุกอย่าง ปรองดองน่าจะเป็นเรื่องเข้าใจกัน ให้อภัยกันมากกว่า ไม่นั้นสังคมเดินไปไม่ได้ โดยมาตรา 237 ตอนร่าง เราบอกว่าไม่เห็นด้วย เพราะมันล่อแหลมมาก ทำผิดคนเดียวยุบพรรค แต่เมื่อคุณยอมรับกติกานี้ เมื่อลงเลือกตั้งก็ต้องยอมรับ และถ้าทำผิด ก็ต้องยอมรับผิด ดังนั้นเมื่อเสนอแก้ มันจึงถูกตีความว่าแก้เพื่อตัวเอง ดังนั้นถ้ามีองค์กรกลางที่ไม่มีส่วนได้เสียไปทำ ตนรับได้ แต่ถ้าให้ตนไปทำกันเอง รับยาก เพราะนักการเมืองกันเองจะไปทำเพื่อพวกกันเองมากกว่าหลักการ ตนเคยพูดกับส.ส.ฝ่ายค้านว่า ที่ท่านพูดมีเหตุผล แต่สังคมไม่เอาด้วย มันจะอยู่บนพื้นฐานความระแวงความไม่เชื่อใจกัน หลักการอาจหาส่วนตรงกลาง อาจไม่ใช่แก้แบบตัดทิ้งไป อาจจะมีกลไกที่ไม่ให้มีคนไปทำผิด
ส่วนมาตรา 190 หลายประเทศมีการเอาสัญญาไปให้สภาดูก่อน อย่างสหรัฐฯก็ทำ มันอยู่ที่ฝ่ายบริหารฉลาดใช้หรือไม่ แต่ของไทยมีปัญหาตรงที่บานปลายง่าย เพราะไม่มีหลักเกณฑ์ว่าเรื่องไหนต้องเข้าสภา และไม่มีใครรู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญคิดอย่างไร และไม่มีทางรู้จนกว่าจะเกิดเรื่อง จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความเสร็จ แล้วมันก็จะเดินหน้าต่อในเรื่องของการถอดถอน ตอนนี้อย่างเรื่องการไปกู้เงินต่างประเทศ ตนให้กระทรวงการคลังไปทำกรอบการเจรจาเลย เพื่อเข้าสภา ไม่ให้เป็นปัญหา และได้ให้ทุกหน่อยงานไปสำรวจตัวเอง ว่าต้องเจรจาในเรื่องใดบ้าง แต่บางกรณีที่ตนเห็นใจ เช่นกองทัพ การซื้ออาวุธแบบรัฐต่อรัฐ จะให้มีการเปิดเผยว่าซื้อกับประเทศไหน ชนิดไหนคงไม่ได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น