xs
xsm
sm
md
lg

.....อย่าเอาอย่างระบบอเมริกัน (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ประเทศที่พยายามลอกระบบอเมริกันมากกว่าเพื่อน ก็คือ ฟิลิปปินส์ ตอนแรกก็ดูเหมือนจะไปได้สวย แต่ก็มาพังอย่างยับเยินในสมัยประธานาธิบดีมาร์กอส (1917-1989) ที่อาศัยการเลือกตั้งไปผูกขาดอำนาจและธุรกิจเกือบทุกอย่างของประเทศ และทำลายกฎที่ห้ามประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งเกินสองเทอม (1965-1972) ด้วยการ “ชง” ประชามติอย่างล้นหลาม ในที่สุดก็โดนคลื่นประชาชนออกมาขับไล่ (1986) จนต้องไปลี้ภัยตายในต่างประเทศเดี๋ยวนี้ฟิลิปปินส์ยังไม่พ้นความล่มจมที่ต่อเนื่องมาจากยุคมาร์กอส หากจะเทียบฝีมือกันในเรื่องการหาเงินและใช้เงิน มาร์กอสเทียบทักษิณไม่ติด

ผมเองเคยอยู่ในฟิลิปปินส์หนึ่งปีในต้นยุคของประธานาธิบดีมาคาปะกัล บิดาของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งพ่ายแพ้มาร์กอสในเทอมที่ 2 สมัยนั้น ยังนำหน้าประเทศเอเชียเกือบทั้งหมดในด้านการศึกษาและความเจริญทันสมัย ไม่น่าเชื่อว่าการบริหารผิดพลาดของบุคคลเดียว จะทำให้ชาติล่มจมได้ถึงเพียงนี้

ผู้นำและนักวิชาการไทยจำนวนไม่น้อยเห่ออเมริกัน และติดวาทกรรมของลินคอล์น ซึ่งกล่าวถึง “รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” หลงใหลความมันของการเลือกตั้งในอเมริกา อีกพวกก็คือ ซ้ายอกหักกับนักวิชาการแค้นกษัตริย์ ที่หวังว่า เมื่อสถาบันกษัตริย์อ่อนแอลง โอกาสที่ตนจะโหนกระแสระบบประธานาธิบดีแบบอเมริกันย่อมมีทางเป็นไปได้

กว่า 40 ปีมาแล้ว เพื่อนรักของผมคือ ดร.กมล สมวิเชียร เสนอให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพื่อแก้ความอ่อนแอของฝ่ายบริหาร ประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหว ผมถือว่านั่นเป็นทัศนะบริสุทธิ์ที่ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง จึงรับฟังได้ แต่ไม่เห็นด้วย

ความอ่อนแอของระบบการเมืองไทยอยู่ที่เราไม่มีระบบพรรคการเมืองและระบบรัฐสภาอย่างแท้จริง เราไม่มีพรรคถาวรเป็นฐานระดมทรัพยากรบุคคลให้เข้ามาแข่งขันกันเป็นผู้นำ และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันรับผิดชอบตามอุดมการณ์ของพรรคอย่างแท้จริง เรามีแต่แก๊งเลือกตั้งซึ่งต่อรองผลประโยชน์กับหัวหน้าการเลือกประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีโดยตรง นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ยังขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีคุณูปการมากกว่าอีกด้วย

ผมเห็นว่าการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2548 มีหางเสียงเหมือนกับว่าเป็นการเลือกตั้งพ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีโดยตรง เมื่อไม่ได้ดั่งใจเพราะมีอุปสรรคตามกฎหมาย ก็เกิดวาทกรรมแห่งการแก้ตัว เรียกร้อง และแตกแยกกันทั่วประเทศ การเลือกตั้งในปี 2550 นอมินีของทักษิณขึ้นมาสืบทอดอำนาจ ก็เกิดผลอย่างเดียวกันแต่รุนแรงยิ่งขึ้น

การหาเสียงในระบบอเมริกันนั้นจริงจังเผ็ดมันหาที่ใดเปรียบมิได้ พอเสร็จแล้วทั้งผู้ชนะผู้แพ้ก็หันมาจับมือกัน ร่วมงานกันไม่ถือสา แต่ในฟิลิปปินส์และประเทศในละตินอเมริกานั้นยกพวกตีกัน ฆ่ากันตายละเลงเลือด เมืองแล้วเมืองเล่านับเป็นร้อยเป็นพัน กลายเป็นศึกสายเลือดแบบบอลแพ้คนไม่แพ้ก็มี ของไทยเราเวลานี้ ในการเมืองท้องถิ่นก็มิใช่ย่อย เราอย่าเอาอย่างอเมริกันแต่เปลือกเลย

ท่านผู้อ่านสังเกตไหมว่า พอเปลี่ยนรัฐบาลทีไร ก็มีการปลดย้ายและสับเปลี่ยนตำแหน่งข้าราชการทหารตำรวจเป็นประจำทันที ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลสมัคร สมชาย หรืออภิสิทธิ์ ฝ่ายค้านก็จะเล่นงานรัฐบาลว่ากลั่นแกล้งใช้อำนาจล้างบาง ฝ่ายรัฐบาลก็แก้ตัวว่า ไม่ใช่ เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็ต้องตั้งคนใหม่ที่ตนเข้าใจใช้ได้เป็นธรรมดา ดูแต่อเมริกาซิ ประธานาธิบดีใหม่เข้ามาก็เปลี่ยนคนใหม่เรียบ นายสมัครก็อ้างอย่างนี้

นั่นเป็นการอ้างที่ไม่ผิด แต่ในการกระทำต่างหากที่ผิด เป็นการอ้างอเมริกัน แต่กลับทำแบบไทย คือการแต่งตั้งพรรคพวกตนเองเข้าดำรงตำแหน่งโดยไม่คำนึงคุณภาพ ความสามารถและจริยธรรม และไม่แยกแยะว่าอะไรเป็นตำแหน่งการเมือง อะไรเป็นข้าราชการพลเรือนหรือข้าราชการประจำ

อเมริกันและอังกฤษ แยกตำแหน่งการเมืองออกจากราชการประจำอย่างเด็ดขาด แต่อเมริกันนั้นมีตำแหน่งการเมืองจำนวนมากที่ดูคล้ายๆ กับตำแหน่งใน ก.พ.ของเรา แต่ความจริงไม่ใช่ ตัวอย่างเช่น ตำแหน่งในกระทรวงการต่างประเทศและทูต ซึ่งมีทั้งที่เป็นตำแหน่งอาชีพ (Career) และการแต่งตั้งทางการเมือง (political appointee) ดังจะเห็นได้ว่า พอเปลี่ยนประธานาธิบดี พวกเอกอัครราชทูตจะพากันยื่นใบลาออก เพื่อให้ประธานาธิบดีตั้งทูตใหม่ ซึ่งประธานาธิบดีอาจจะตั้งคนที่ไม่ใช่ทูตอาชีพ แต่เป็นคนนอกที่สนับสนุนพรรคหรือบริจาคเงินก้อนโตให้กับการหาเสียงก็ได้ โอบามาประกาศว่าเขาจะไม่เอาคนนอกเป็นทูต จะใช้มืออาชีพทั้งหมด เพราะในการหาเสียง โอบามามิได้เป็นหนี้บุญคุณนายทุนคนหนึ่งคนใดหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดแบบประธานาธิบดีในอดีต

ถึงแม้ประธานาธิบดีจะมีเอกสิทธิ์ในการแต่งตั้ง ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า เขาตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อเตรียมการเปลี่ยนแปลง (transition team) และแต่งตั้งบุคลากร โดยมีการกำหนดคุณภาพมาตรฐานและการตรวจสอบอย่างโปร่งใส ต่างกับของเราซึ่งอ้างความเหมาะสมลูกเดียว

ตามหลักการหรืออุดมคติ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องมีการแยกข้าราชการการเมืองกับข้าราชการประจำออกจากกันอย่างเด็ดขาด โดยการเมืองไม่มีสิทธิเข้าไปยุ่งหรือไม่มีอำนาจแต่งตั้งหรือไล่ออก (hire and fire) ข้าราชการเลยปล่อยให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการประจำ (civil commission)

ของเรามิเพียงแต่จะคาบลูกคาบดอกเท่านั้น แต่มีการแทรกแซงล้วงลูกกันทุกระดับ จนข้าราชการกลายเป็นลูกไก่ในกำมือของนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพลเรือน ทหารหรือตำรวจ หรือบางครั้งแม้กระทั่งศาล 5-6 ปีที่รัฐบาลทักษิณและบริวารอยู่ในอำนาจ อาจเรียกได้ว่าโครงสร้าง องค์ประกอบและพฤติกรรมของระบบราชการได้แหลกเหลวกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจทางการเมืองโดยสิ้นเชิง

หากต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยและข้าราชการกลับไปเป็นกลางอีกครั้ง รัฐบาลจะต้องกล้ายอมรับปัญหา และกล้ารื้อถอนปลดย้ายทหารตำรวจ และข้าราชการตั้งแต่ตำแหน่งปลัดกระทรวงลงมา โดยไม่คำนึงว่าใครเป็นคนแต่งตั้ง แต่ตรวจสอบให้ได้ชัดว่าใครมีพฤติกรรมรับใช้นักการเมืองโดยไม่ยึดถือกฎระเบียบและความเป็นกลางในทางการเมือง แต่ทำตนเสมือนทาสรับใช้สนองคุณนักการเมือง

รัฐบาลจะต้องมีกึ๊นพอ หรืออาศัยภาคประชาชนคอยกระตุ้น

ในบ้านเรา มีคนพวกหนึ่งที่เอะอะอะไรก็อ้างการเลือกตั้ง เอะอะอะไรก็อ้างว่าตนเป็นประชาธิปไตยเพราะว่ามาจากการเลือกตั้ง จนเลยเถิดไปว่า อะไรที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง ก็เลยไม่มีค่า ขาดความชอบธรรม

ผมเองไม่เห็นด้วยการเลือกตั้งบางอย่างในประเทศไทย เช่น การเลือกตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัย เป็นต้น ผมไม่ทราบว่าเราไปเอาธรรมเนียมมาจากที่ไหน คงไม่ใช่อเมริกาแน่ ทั้งๆ ที่อเมริกาเกือบจะถือการเลือกตั้งเป็นสรณะ ตำแหน่งเล็กตำแหน่งน้อยก็เลือกตั้งหมดจนจาระไนไม่ไหว

ผมไม่เห็นด้วยการลากตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งตั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ยกเว้นที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงหรือทางอ้อมภายในองค์การหรือสมาคมอาชีพที่เป็นหลักเป็นฐาน ผมไม่เห็นด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ผมเห็นว่าเราควรจะค่อยๆ เกลื่อนกลืนให้ตำแหน่งหายไปเมื่อท้องถิ่นเจริญขึ้นจนเป็นเทศบาลได้หมดทั้งพื้นที่ เมื่อนั้น ผู้ว่าราชการก็อาจจะกลายเป็นข้าหลวงตรวจการที่เป็นตัวแทนของส่วนกลางได้ แต่มิใช่ผู้ที่เป็นประมุขฝ่ายบริหารของจังหวัดต่อไป

ผมเคยปรารภกับพี่ๆ น้องๆ ที่เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ปลัดพิศาล มูลศาสตร์สาทร ลงมาถึงชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ว่า ให้ระวังการลุกคืบทางการเมืองที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งเล็กๆ น้อยๆ ซ้ำซ้อนและคาบพื้นที่กันระหว่าง อบจ. อบต.กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน การเลือกตั้งระดับรากหญ้าในสังคมและวัฒนธรรมไทย เพื่อสนองนโยบายฝ่ายการเมืองที่ต้องการจะสร้างฐานและเป็นที่รองรับงบประมาณจากส่วนกลาง จะเป็นต้นเหตุแห่งความร้าวฉานและคอร์รัปชันคดโกงไปทั่วหัวระแหงทั้งเมืองไทย และจะฉุดรั้งการพัฒนาประชาธิปไตยที่แท้จริง

ประชาธิปไตยและระบบอเมริกันจะถูกอ้าง เพื่อจะสร้างฐานันดรใหม่และเกาะกินเงินงบประมาณให้สะดวกเท่านั้นเอง

การตามก้นอเมริกันโดยไม่รู้จักคิดก็แย่อยู่แล้ว แต่คิดจนเกินตัวอย่างหรือขี้ก้อนใหญ่กว่าช้างก็ยิ่งจะทำให้บ้านเมืองฉิบหายหนักเข้าไปอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น