xs
xsm
sm
md
lg

ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา : ประเด็นสำคัญอยู่ที่การรู้เขารู้เรา

เผยแพร่:   โดย: สุรพงษ์ ชัยนาม

เป็นที่น่ายินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาในยุครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาก้าวหน้าอย่างราบรื่นอย่างเป็นขั้นตอนบนพื้นฐานของการมีผลประโยชน์ร่วมกันและการมีความเข้าใจในกันและกัน โดยยึดความเป็นจริงในภาพรวมว่า ด้วยมิติด้านต่างๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นเครื่องชี้นำกำหนดพัฒนาการแห่งความสัมพันธ์ระหว่างกัน

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นที่เข้าใจชัดแจ้งในตัวอยู่แล้วว่า จะต้องเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ (ทวิภาคี) หรือระหว่างหลายประเทศด้วยกัน (พหุภาคี) มิฉะนั้นแล้วคำว่าความสัมพันธ์ย่อมปราศจากความหมายและความสำคัญทั้งสิ้น เพราะการตบมือข้างเดียวไม่มีทางดังได้

ในกรณีความสัมพันธ์สองฝ่าย (ทวิภาคี) ระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น จะมีลักษณะใกล้ชิด
แนบแน่น ก้าวหน้าหรือถอยหลัง ปกติหรือผิดปกติ เป็นประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ ราบรื่นหรือมีอุปสรรค ส่งเสริมความเป็นมิตรหรือความแตกแยก ตลอดจนสร้างสรรค์หรือไม่สร้างสรรค์ระหว่างกัน ขึ้นอยู่กับการรู้เขารู้เราเป็นสำคัญ และการรู้เขารู้เราอย่างถูกต้องอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลไทยยอมรับและยอมทำความเข้าใจกับข้อเท็จจริงขั้นพื้นฐานที่สำคัญดังต่อไปนี้

1. เรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติ

ผลประโยชน์แห่งชาติของทุกประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) มีหลายด้านและมีลักษณะ
ยืดหยุ่น ไม่คงที่ ไม่ตายตัว เปลี่ยนแปลงได้เสมอ ขึ้นอยู่โดยตรงกับหลายปัจจัย ทั้งที่ปรากฏภายในและภายนอกประเทศ ในแต่ละบริบท แต่ละห้วงเวลาของสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงภายในประเทศและระหว่างประเทศ มีผลประโยชน์แห่งชาติประการเดียวเท่านั้นที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง

นั่นคือ ผลประโยชน์แห่งชาติด้านความมั่นคงอยู่รอดของประเทศชาติ ที่เหลือล้วนเป็นผลประโยชน์ที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา สุดแต่ความสำคัญ ความจำเป็นเร่งด่วนและความเป็นไปได้ในแต่ละบริบท แต่ละห้วงเวลา ไม่มีสูตรสำเร็จรูปในเรื่องของการปกป้องรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติในหลายด้าน ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงทั้งหมดดังกล่าว

หากรัฐบาลไทยมีนโยบายและเป้าประสงค์แน่วแน่ที่มุ่งส่งเสริม ปกป้องรักษาผลประโยชน์ในด้านต่างๆ ของไทยไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีที่ปกติกับกัมพูชา ก็จำเป็นที่รัฐบาลพึงทำการศึกษาและทำความเข้าใจอย่างรอบด้านอย่างถูกต้องครบถ้วน เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ช่วง 50 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่สมัยเจ้าสีหนุ ยุคเขมรแดงของพอลพต จนยุคของนายกรัฐมนตรีฮุนเซนในปัจจุบัน) ว่าลักษณะด้านใดบ้างที่เปลี่ยนแปลงและที่ไม่เปลี่ยนแปลง

แต่รัฐบาลไทยจะทำความเข้าใจได้อย่างถูกต้องก็ต่อเมื่อหน่วยงานทั้งหลายของไทยที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศและความมั่นคงรู้จักศึกษา พิจารณา วิเคราะห์ และประเมินเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ในแต่ละบริบท แต่ละห้วงเวลาจากข้อเท็จจริงและจากความเป็นจริง ไม่ใช่จากที่ฝ่ายไทยอยากให้เป็นจริง (หรืออีกนัยหนึ่งคือ อย่านั่งเทียนสรุปเอาง่ายๆ ตามอำเภอใจ)

อีกทั้งจำเป็นต้องทำความเข้าใจโดยตระหนักให้ดีไว้ตลอดเวลาด้วยว่าในยุคโลกาภิวัตน์นั้น นโยบายต่างประเทศของทุกประเทศถือเป็นส่วนขยาย (extension) ของนโยบายภายในประเทศ หมายความว่านโยบายต่างประเทศต้องพยายามตอบสนองความต้องการของประชาชนในประเทศให้มากที่สุด และจำต้องสะท้อนจุดยืน ค่านิยม หลักการ ประเพณี วัฒนธรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ (เช่น ประเทศไทยเป็นสังคมเปิด มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เนื้อหาของนโยบายต่างประเทศของไทยก็จำต้องสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นประชาธิปไตยของไทย ไม่ใช่สะท้อนแต่รูปแบบอย่างที่เป็นมาตลอด 8 ปี ของยุคระบอบทักษิณ)

2.ประเภทของระบอบการเมือง (regime type)

เป็นที่ยอมรับทั่วไปอยู่แล้วว่าประเภทของระบอบการเมืองของแต่ละประเทศ (รวมทั้งของ
ไทยและกัมพูชาด้วย) มีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมของผู้นำประเทศของรัฐบาล ของนักการเมือง และพรรคการเมือง ตลอดจนมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และท่าทีของรัฐบาลต่อแต่ละปัญหาระหว่างประเทศ และต่อการแก้ปัญหาระหว่างประเทศ รวมทั้งต่อการกำหนดผลประโยชน์แห่งชาติ และการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติในด้านต่างๆ ตัวอย่างเช่น

ความคิดและพฤติกรรมผู้นำรัฐบาลของประเทศที่มีระบอบการเมืองการปกครองที่เป็นเผด็จการ (ไม่ว่าทหาร พลเรือน หรือโดยพรรค) ย่อมแตกต่างจากผู้นำรัฐบาลของประเทศที่มีระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย โครงสร้างอำนาจการเมืองของระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย บทบาทและความสำคัญของการเมืองภาคประชาชนในระบอบเผด็จการ (อำนาจนิยม) ย่อมไม่มีหรือมีน้อยมากและอยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงของระบอบเผด็จการ (อำนาจนิยม) ในขณะที่การเมืองภาคประชาชนในระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยย่อมมีมากและกว้างขวาง รัฐบาลย่อมต้องให้ความสำคัญและฟังเสียงของประชาชน

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง อย่ารีบด่วนสรุปหรือเหมาโมเมเอาเองว่าฝ่ายกัมพูชาคิดเหมือนฝ่ายไทย มีผลประโยชน์อย่างเดียวกับไทย มีนโยบาย ท่าทีและเป้าประสงค์ต่อแต่ละเรื่อง แต่ละปัญหาเหมือนกัน เพราะหากฝ่ายไทยยังปักใจหลงเชื่อเอาเองว่าประเทศต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กับไทยจะคิดเหมือนไทย มีผลประโยชน์ทุกๆ ด้านเหมือนกับของไทย โดยมองข้ามความจริงและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของแต่ละประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทย

(ในกรณีนี้คือกัมพูชา) มองข้ามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของกัมพูชา ไม่พยายามอ่านสถานการณ์การเมืองในกัมพูชาและอิทธิพลของปัจจัยต่างๆ ทั้งที่มีขึ้นภายในและภายนอกกัมพูชาว่ามีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายและท่าทีของฝ่ายกัมพูชาต่อไทยมากน้อยเพียงใด แต่กลับเหมาเอาเองว่าฝ่ายกัมพูชาไม่ได้แตกต่างจากไทย หากฝ่ายไทยยังคิดง่ายๆ และตื้นเขินแบบนี้ การรู้เขารู้เราย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในทางเป็นจริง เพราะนี่คือลักษณะของโรคเรื้อรังของนโยบายต่างประเทศและการทูตไทยที่มีต่อประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่มีมาเป็นเวลาช้านานแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของรัฐบาลไทยรักไทยและรัฐบาลพรรคนอมินีของไทยรักไทย นายกรัฐมนตรีฮุนเซนรู้จักแยกแยะว่าอะไรคือรูปแบบ อะไรคือเนื้อหา อะไรคือภาพจริง อะไรคือภาพลวงตา และผลประโยชน์แห่งชาติของกัมพูชาในแต่ละบริบท แต่ละห้วงเวลาคืออะไร ในขณะที่รัฐบาลไทย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลไทยในยุคของระบอบทักษิณ) จะรู้ก็แต่ในเรื่องของผลประโยชน์ของพรรคและพวก และเหมาหรือสรุปโดยพลการเอาเองว่าเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นการแสวงผลประโยชน์ของพรรคและพวกโดยหากินกับสิ่งที่เรียกว่าผลประโยชน์แห่งชาติ

ในเมื่อข้อเท็จจริงทั้งหมดดังกล่าวข้างต้นบ่งชี้และยืนยันให้เห็นได้อย่างปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นว่าการทำความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับประเภทระบอบการเมืองของแต่ละประเทศ (ในกรณีของบทความนี้คือประเทศกัมพูชา) เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง การให้น้ำหนักกับเรื่องความสัมพันธ์และความสนิทสนมส่วนตัวระหว่างผู้นำของไทยกับกัมพูชา (หรือระหว่างผู้นำไทยกับผู้นำประเทศต่างๆ) จึงเป็นเรื่องเสี่ยงไม่คุ้มค่าด้วยเกี่ยวข้องกับรูปแบบมากกว่าเนื้อหา ภาพลวงตามากกว่าภาพที่เป็นจริง มีผลด้านการสร้างภาพมากกว่าผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและมีสารัตถะ

จริงอยู่การที่บุคคลระดับผู้นำของแต่ละประเทศมีความสนิทสนมชิดเชื้อเป็นอย่างดีย่อมมีส่วนดีและช่วยให้การเจรจาหารือดำเนินไปภายใต้บรรยากาศที่เป็นมิตร แต่จำเป็นต้องตระหนักไว้เสมอว่า ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัจจัยชี้ขาดอยู่ที่ผลประโยชน์แห่งชาติ ไม่ใช่ความสนิทสนมส่วนตัวระหว่างผู้นำประเทศ เพราะไม่มีผู้นำประเทศใดที่จะยอมเอาเรื่องของความสนิทสนมส่วนตัวมามีอิทธิพลเหนือผลประโยชน์แห่งชาติ (จะมีก็ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย) ความสนิทสนมส่วนตัวระหว่างผู้นำประเทศจะมีผลดีก็ในด้านของการสร้างภาพสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรมากกว่าอื่นใด

3.ลักษณะของนโยบายต่างประเทศกัมพูชาที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง

กล่าวได้ว่า นโยบายต่างประเทศของกัมพูชาตั้งแต่สมัยเจ้าสีหนุ สมัยช่วงเขมรแดง(พ.ศ. 2518 – 2521) มาจนถึงสมัยนายกรัฐมนตรีฮุนเซนในปัจจุบัน มีด้านที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องมาตลอด 50 ปีที่ผ่านมา พอสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

3.1 นโยบายพึ่งการถ่วงดุลอำนาจ

ด้วยเหตุผลด้านภูมิรัฐศาสตร์ (กัมพูชาเป็นประเทศเล็กที่แวดล้อมด้วยประเทศที่ใหญ่กว่า และมีประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งระหว่างกันยาวนาน) เป็นผลทำให้นโยบายต่างประเทศของกัมพูชาช่วง 50 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน หันมาพึ่งระบบการถ่วงดุลแห่งอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งของนโยบายต่างประเทศกัมพูชา เพื่อเป้าประสงค์หลักในการธำรงรักษาเอกราชและอธิปไตยของกัมพูชา

เช่น ในอดีตเจ้าสีหนุได้ดึงอิทธิพลของจีนมาถ่วงอิทธิพลของเวียดนามและไทย หรือในช่วงที่เวียดนามรุกรานและยึดครองกัมพูชา พ.ศ. 2521 – 2532 รัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตยซึ่งรวมเขมร 3 ฝ่ายที่ต่อต้านการยึดครองกัมพูชาของเวียดนามก็ได้เชื้อเชิญให้อาเซียนและสหประชาชาติเข้ามาสนับสนุนรัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตย หรือ CGDK ทำการต่อสู้กับเวียดนามทางการเมืองและการทูต)

และล่าสุดกรณีความขัดแย้งกับไทยในเรื่องเขตแดนและการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ก็ได้หวนกลับมาใช้การพึ่งพานโยบายถ่วงดุลอำนาจอย่างชัดเจน โดยฝ่ายกัมพูชาได้พยายามทำให้ปัญหาขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาแปรสภาพจากการเป็นปัญหาทวิภาคีมาเป็นปัญหาของประชาคมระหว่างประเทศอีกด้วย (internationalize bilateral problem) โดยการเปิดเวทีความขัดแย้งที่มีกับไทยให้ขยายกว้างออกไปด้วยการนำประเด็นขัดแย้งที่มีกับไทยไปเสนอต่อเวทีการประชุมระดับโลกและระดับภูมิภาค (เช่น เวทีของการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเวทีการประชุมขององค์การอาเซียน) เพื่อหวังให้ประชาคมระหว่างประเทศเข้าข้างและเห็นใจกัมพูชา อันถือได้ว่าเป็นการสร้างแนวร่วมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อมากดดันประเทศไทยทางการเมือง และเพื่อเป็นเกราะคุ้มกันให้กัมพูชาในกรณีฝ่ายไทยใช้วิธีการแก้ปัญหานอกกรอบของการเจรจา ก็จะมีผลทำให้ประชาคมโลกมองว่าฝ่ายไทยเป็นฝ่ายรังแกกัมพูชา ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ฝ่ายไทยต้องตระหนักไว้เสมอ

ด้วยเหตุผลสำคัญ กล่าวคือ ยุทธศาสตร์ทางการเมืองของกัมพูชาในเรื่องนี้คือ การยั่วยุให้ไทยคิดหาทางออกด้วยการออกนอกกรอบของการเจรจา (militarization of foreign policy) ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ย่อมจะทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบทางการเมืองและการทูตทันที ไทยจะรักษาผลประโยชน์แห่งชาติได้จำเป็นต้องควบคุมให้ปัญหาขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาอยู่ในกรอบของการเจรจาระดับทวิภาคี (สองฝ่าย) เป็นสำคัญ ไม่ปล่อยให้บานปลายกลายเป็นปัญหาระดับสากล เพราะโดยธาตุแท้แล้ว ปัญหาเขตแดนและการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเป็นปัญหาทวิภาคี ไม่ใช่พหุภาคี

4.การพึ่งปัจจัยชาตินิยม

ปัจจัยเรื่องของชาตินิยมเป็นเครื่องมือนโยบายต่างประเทศของทุกประเทศ ส่วนจะนำมาใช้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเงื่อนไข บริบทและศักยภาพของแต่ละประเทศในแต่ละยุคสมัย แต่ละห้วงเวลา แต่กล่าวโดยทั่วไปได้ว่า ช่วง 40 ปีแรกของยุคสงครามเย็น ปัจจัยชาตินิยมได้กลายเป็นอาวุธสำคัญและทรงอานุภาพสูงของกลุ่มประเทศอดีตเมืองขึ้นในทวีปเอเชียและแอฟริกาที่ทำการต่อสู้กับฝ่ายประเทศตะวันตกเจ้าอาณานิคมเพื่อเรียกร้องเอกราชและอธิปไตย และปัจจัยชาตินิยมได้กลับมามีอิทธิพลสูงอีกครั้งในยุคโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือที่ด้อยพัฒนาที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงจากพลังโลกาภิวัตน์ในด้านต่างๆ

ในส่วนที่เกี่ยวกับกัมพูชานั้น ปัจจัยชาตินิยมนับว่ามีอิทธิพลต่อการกำหนดและการดำเนินนโยบายต่างประเทศของกัมพูชาอย่างมากมาตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ทั้งในแง่ของการเมืองภายในกัมพูชาและการเมืองระหว่างประเทศ ดังเป็นที่ประจักษ์ตลอดมาว่าทุกครั้งที่มีการหาเสียงช่วงฤดูการเลือกตั้งในกัมพูชาทุกพรรคการเมืองจะแข่งขันแสดงความเป็นชาตินิยมเหนือพรรคคู่แข่ง รวมทั้งนำเรื่องของความเจริญรุ่งโรจน์ของอาณาจักรขอมในอดีตมาเป็นเครื่องมือหาเสียง โดยปลุกระดมประชาชนให้เกิดความรักชาติและความหวังที่จะทำให้กัมพูชากลับมาเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีต

(ในประเด็นนี้สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงพนมเปญถูกเผาเมื่อ 5 ปีก่อน คือตัวอย่างของการตกเป็นเหยื่อของพิษร้ายของปัจจัยชาตินิยม และความขัดแย้งภายในการเมืองของกัมพูชา) และสำหรับความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ครั้งล่าสุดนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ฝ่ายกัมพูชาใช้ปัจจัยชาตินิยมช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง และช่วงมีปัญหาเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารแต่ฝ่ายเดียวของกัมพูชา อันเป็นเครื่องมือสำคัญที่ฝ่ายรัฐบาลกัมพูชาใช้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนกัมพูชาที่มีต่อปัญหาต่างๆ ภายในประเทศไปสู่ภายนอกประเทศ

สรุป

นโยบายต่างประเทศจะสามารถสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นนโยบายต่างประเทศที่รู้เขารู้เราอย่างแท้จริงได้ อย่างน้อยที่สุดจำต้องนำความจริงและข้อเท็จจริงที่ปรากฏในข้อ 1 – 4 ข้างต้น มาประกอบการพิจารณาอย่างจริงจัง จึงจะเป็นนโยบายต่างประเทศที่สามารถปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติได้
กำลังโหลดความคิดเห็น