ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราพิธาน มหาวิทยาลัยรังสิต
รัฐบาลภายใต้การนำของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีภารกิจจะต้องการทำงานพัฒนา ฟื้นฟู และสะสางปัญหาที่ค้างคาอยู่จำนวนมาก
แต่การแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญ เกี่ยวข้องกับงานสำคัญ ในกระทรวงสำคัญบางกระทรวง กลับส่อว่าจะนำไปสู่ความยุ่งยาก ลดทอนความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นในความจริงใจที่จะสะสางปัญหาเสียเอง
กรณีที่ชัดเจนที่สุด คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายโสภณ ซารัมย์ (ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน) แต่งตั้งนายศรีสุข จันทรางศุ เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการฟื้นฟูพัฒนาโครงข่ายขนส่งทางอากาศ เนื่องจากนายศรีสุขเคยเป็นประธานคณะกรรมการบริษัทการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม. หรือสนามบินสุวรรณภูมิ) และมีข้อกล่าวหา ครหา เกี่ยวข้องกับปัญหาการกระทำผิดกฎหมาย หรือทุจริตประพฤติมิชอบในหลายโครงการภายในสนามบินสุวรรณภูมิ เช่น
1. กรณีสัญญาสัมปทานบริหารพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสนามบินสุวรรณภูมิ ให้กับบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด ในสมัยรัฐบาลทักษิณ โดยมีนายศรีสุข จันทรางศุ เป็นประธานบอร์ด ทอท.
กรณีดังกล่าว ซึ่งในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นประธานบอร์ด ทอท. ได้แต่งตั้งพลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการดำเนินงานของโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิฯ พบว่า การเข้าทำสัญญาผูกขาดการใช้พื้นที่ท่าอากาศยานของบริษัทคิงเพาเวอร์นั้น มีการกระทำผิดกฎหมาย จึงเสนอบอร์ด ทอท.จัดการทางกฎหมายผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ไล่ตั้งแต่ อดีตนายกรัฐมนตรี รมว.คมนาคม ตัวแทนจากคลัง บริษัทที่ปรึกษา ผู้บริหารบริษัทเอกชน และผู้บริหารทอท. ซึ่งรวมทั้งตัวนายศรีสุขด้วย
กล่าวคือ ในการให้บริษัทคิงเพาเวอร์เข้าประกอบกิจการ พบว่า มีการกระทำขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ที่วงเงินการลงทุนโครงการเกินกว่า 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการใช้พื้นที่เกินกว่าสัญญาที่ได้รับไป และมีการดำเนินการที่ขัดกับระเบียบและกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับ คณะกรรมการ ทอท. ยุคนั้น จึงมีมติว่า สัญญาระหว่าง ทอท.และบริษัทคิงเพาเวอร์ทั้ง 2 ส่วน คือ ร้านค้าปลอดภาษี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สุวรรณภูมิ มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ทั้ง 2 ส่วน และไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2535 มีผลให้สัญญาที่มีอยู่ เหมือนไม่มีมาตั้งแต่ต้น หรือเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น
แต่ต่อมา เมื่อพรรคพลังประชาชนได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล กลุ่มเพื่อนเนวินได้เป็นรัฐมนตรีกำกับดูแล ทอท. ได้มีการแก้ไขใหม่ว่า ทั้ง 2 สัญญา มีมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท เพื่อให้สัญญาสัมปทานบริษัทคิงเพาเวอร์ กลับมาสู่สถานะเดิม
2. กรณีอาคารซิตี้การ์เด้นท์
คณะกรรมการตรวจสอบฯ ชุดพลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ พบว่า บริษัทคิงเพาเวอร์เข้าไปก่อสร้างโครงการซิตี้การ์เด้นท์ เป็นอาคาร 2 ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่สวน 1,500 ตร.ม.ของสนามบินสุวรรณภูมิ ตัวอาคารมีพื้นที่ใช้สอย 2,500 ตร.ม. เป็นร้านค้าติดและเชื่อมต่ออาคารที่พักผู้โดยสาร โดยไม่ได้อยู่ในแผนและแบบการก่อสร้างของสุวรรณภูมิ ไม่ได้อยู่สัญญาสัมปทานของบริษัทคิงเพาเวอร์ ไม่มีการอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง มีแต่เพียงคณะอนุกรรมการฯ ชุดที่มีนายศรีสุข จันทรางศุ เป็นประธานฯ เป็นผู้อนุมัติไปโดยที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และไม่ได้จ่ายค่าเช่าพื้นที่ให้กับ ทอท.
3. คดีทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ในสมัยที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายศรีสุข จันทราศุ ก็เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการสำคัญ ซึ่งขณะนี้ คดีก็ยังอยู่ในชั้นศาล
4. ในสมัยที่นายศรีสุข จันทรางศุ เป็นประธานบอร์ด ทอท. บริษัทท่าอากาศยานไทยยังได้ให้เอกชนเข้ามาทำสัญญาร่วมหาผลประโยชน์ในสนามบินสุวรรณอีกหลายโครงการ ซึ่งเมื่อมีการตรวจสอบภายหลัง พบว่ามีปัญหาความไม่โปร่งใส หลายโครงการถูกกล่าวหาส่อไปในทางทุจริต เช่น สัญญาการจัดหาและบริหารรถเข็นกระเป๋าภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัทไทยแอร์พอร์ต กราวด์ เซอรวิส จำกัด หรือ แท็กส์, สัญญากับบริษัท เอเชียซิเคียวริตี้เมเนจเม้นท์ จำกัด (ASM) ซึ่งอยู่ในกลุ่มล็อกซเล่ย์-ไอ ซี ที เอส คอนซอร์เตียม ในการรักษาความปลอดภัยในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยาวนานถึง 10 ปี เป็นต้น
5. ระหว่างเร่งรีบก่อสร้างเพื่อให้สามารถเปิดสนามบินสุวรรณภูมิได้ทันกับที่นายทักษิณ ชินวัตร กำหนดวันเปิดสนามบิน 28 ก.ย. 2549 ทอท.สมัยนั้น มีนายศรีสุขเป็นประธานบอร์ดฯ ได้มีการจัดซื้อจัดจ้างโดยไม่มีการประมูล ไม่มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรที่ถูกต้องจำนวนมากกว่า 100 สัญญา มูลค่าที่เอกชนเรียกเก็บเงินในภายหลังมากกว่า 7,000 ล้านบาท จึงเป็นการดำเนินการที่น่าจะบกพร่อง อาจทำให้ราชการเสียหายได้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การแต่งตั้งนายศรีสุข จันทรางศุ เข้ามาดำรงตำแหน่งใดๆ อันอาจมีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ในสนามบินสุวรรณภูมินั้น มีความไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
แม้ว่าขณะนี้ นายศรีสุขจะไม่มีตำแหน่งในคณะบริหารของ ทอท. แต่ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูพัฒนาโครงข่ายขนส่งทางอากาศ ก็อาจทำให้เกิดประโยชน์ส่วนได้เสียในสนามบินสุวรรณภูมิอย่างสำคัญ ดังปรากฏว่า ล่าสุด นายศรีสุขได้เสนอให้ยกเลิกการใช้สนามบินดอนเมือง เพื่อไปใช้สนามบินสุวรรณภูมิเพียงแห่งเดียว ซึ่งจำนวนผู้โดยสารที่ย้ายไปสุวรรณภูมิ ก็หมายถึงผลประโยชน์ทางพาณิชย์ของร้านค้าและบริษัทคิงเพาเวอร์ที่ทำมาหากินอยู่ในสนามบินสุวรรณภูมินั่นเอง
รวมไปถึง ข้อครหาว่า การให้นายศรีสุขดำรงตำแหน่งสำคัญดังกล่าว ก็ทำให้ผู้ถูกกล่าวหามีอำนาจหน้าที่หรืออิทธิพล อันอาจถูกนำไปใช้ในทางหนึ่งทางใด หรือต่อรอง แลกเปลี่ยน กระทั่งทำให้เกิดการเคลื่อนย้าย ทำลายหลักฐาน หรือชี้นำ บิดเบือนการทำงานของสนามบินสุวรรณภูมิ จนอาจทำให้รัฐต้องสูญเสียผลประโยชน์ในโครงการที่กำลังมีการตรวจสอบสะสางกันอยู่ก็เป็นได้หรือไม่
เพื่อให้เกิดความสง่างาม มีธรรมาภิบาลและความโปร่งใส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (กลุ่มเพื่อนเนวิน) จึงไม่ควรให้นายศรีสุข จันทรางศุ เข้ามามีอำนาจหน้าที่หรือเกี่ยวข้องใดๆ กับการงานของรัฐในสนามบินสุวรรณภูมิเลย จนกว่าคดีความและข้อกล่าวหาต่างๆ จะได้ข้อยุติตามกระบวนการยุติธรรม
และเมื่อปัญหาเหล่านั้นได้ข้อยุติแล้ว หากนายศรีสุข พิสูจน์ตนเองได้ว่าสุจริต ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดใดๆ เมื่อนั้น นายศรีสุขก็ยังสามารถจะเข้ามาทำงานเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม
นอกจากกรณีของนายศรีสุขแล้ว การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้แต่งตั้งทนายความที่มีความสามารถ มีความหลักแหลม เฉียบคม และมีประวัติการทำงานในคดีที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม รวมถึงคดีความของคนในพรรคประชาธิปัตย์มายาวนาน เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี มีปัญหาอยู่ว่า บุคคลดังกล่าวได้เคยเข้าไปเป็นทนายความให้กับบริษัทคิงเพาเวอร์ และดำเนินการฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐ เรียกค่าเสียหายจากรัฐมูลค่าเกือบ 70,000 ล้านบาท แม้ต่อมา จะได้การยอมความในศาล และเรื่องในศาลได้ยุติไปแล้วในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน แต่ก็อาจจะเกิดข้อสงสัยค้างคาอยู่ว่า ในฐานะที่เคยเป็นทนายความให้บริษัทคิงเพาเวอร์ เคยสู้คดีเพื่อผลประโยชน์ให้เอกชน โดยมีคู่กรณีเป็นหน่วยงานของรัฐ ในอนาคต รัฐอาจจะฟ้องร้องคิงเพาเวอร์ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ เป็นปัญหาที่สามารถทำให้เกิดความกระจ่างชัดได้ไม่ยาก เพียงแต่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีคนดังกล่าวประกาศยุติบทบาทการเป็นทนายให้กับบริษัทคิงเพาเวอร์-คู่กรณีของรัฐโดยเด็ดขาด จากนั้น ใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่เต็มเปี่ยม แสดงออกผ่านผลงานในการทำหน้าที่พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของรัฐอย่างแท้จริง
รัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่ควรปล่อยให้สังคมคลางแคลงสงสัย หรือคลายความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวรัฐบาลจากประเด็นเหล่านี้