xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องลึก"เพื่อนเนวิน"ตั้ง"ศรีสุข"มีใบสั่งเคลียร์ผลประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศรีสุข จันทรางศุ(ศรชี้)
ASTVผู้จัดการรายวัน - จับตา"โสภณ"ตั้ง"ศรีสุขCTX" นั่งประธานคณะทำงานฟื้นฟูการบิน แฉใบสั่งแก้ปัญหาสัมปทานในสุวรรณภูมิที่เข้าข่ายเอื้อเอกชน ลบข้อครหาจากบอร์ดชุด"สพรั่ง" ทั้งสัมปทานรถเข็น แท็กส์ สัญญายามของลอกซ์เล่ย์ ด้อยคุณภาพ เผยสายสัมพันธ์"ศรีสุข-กลุ่มเพื่อนเนวิน-คิงเพาเวอร์" จัดสรรผลประโยชน์ใน ทอท.,การบินไทย และเค้กก้อนโต สุวรรณภูมิ เฟส 2 มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาท

การเปลี่ยนขั้วแกนนำรัฐบาลจากพรรคพลังประชาชนมาเป็นประชาธิปัตย์ ส่งผลให้นายโสภณ ซารัมย์ กลุ่มเพื่อนเนวิน ที่เปลี่ยนใจมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาลได้ขยับจากรัฐมนตรีช่วยฯ ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ รัฐวิสาหกิจสำคัญ ทั้งบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. จากที่ก่อนหน้านี้แม้จะได้คุมทอท. แต่ก็ยังมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม กำกับอีกชั้นหนึ่ง

หลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และผ่านพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่ 2552 นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม พร้อมด้วย 2 รมช.คมนาคม นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ และนายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ประชุมมอบนโยบายแก่หน่วยงานในสังกัดทั้งหมด

นายนายโสภณได้ประกาศตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนใน 3 เรื่องหลัก และหนึ่งในนั้นคือคณะทำงานด้านการขนส่งทางอากาศ ซึ่งมีนายศรีสุข จันทรางศุ เป็นประธาน เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน โดยนายศรีสุขนั้นเป็นอดีตปลัดกระทรวงคมนาคม และประธานคณะกรรมการบริษัทการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) และเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา คดีทุจริตในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อาทิ ทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 ในสมัยที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรมว.คมนาคม ซึ่งขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล การทุจริตงานก่อสร้างระบบจ่ายไฟฟ้าและเครือข่ายท่อร้อยสายไฟฟ้า ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

การอนุมัติสัญญาสัมปทานบริหารพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสนามบินสุวรรณภูมิ ให้กับบริษัทคิงเพาเวอร์ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัทคิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด ซึ่งในสมัย รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นประธานคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ชี้ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ เพราะมูลค่าการลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ตามที่กฤษฎีกามีคำวินิจฉัย

ต่อมาเมื่อพรรคพลังประชาชนได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล กลุ่มเพื่อนเนวินได้เป็น รมต.กำกับดูแล ทอท. ได้มีการสรุปใหม่ว่า ทั้ง 2 สัญญา มีมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดยทอท.ได้จ้างที่ปรึกษาทางการเงิน 2 ราย คำนวณมูลค่าใหม่ยืนยัน ทำให้สัญญาสัมปทานคิงเพาเวอร์ กลับมาสู่สถานะเดิม

นอกจากนี้ สัญญาการดำเนินงานต่างๆ ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ ทอท.ทำกับเอกชน เช่น สัญญาการจัดหาและบริหารรถเข็นกระเป๋าภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัทไทย แอร์พอร์ต กราวด์ เซอรวิส จำกัด หรือ แท็กส์ ที่มีปัญหารถเข็นหายจนทำให้มีจำนวนไม่พอต่อการใช้งาน เพราะมีการล็อกสเปก

สัญญากับบริษัทเอเชีย ซิเคียวริตี้ เมเนจเม้นท์ จำกัด (ASM) ซึ่งอยู่ในกลุ่มล็อกซเล่ย์-ไอ ซี ที เอส คอนซอร์เตียม ในการเป็นผู้ให้บริการรักษาความปลอดภัยในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งถูกบอร์ดทอท.ยุคพล.อ.สพรั่ง สั่งตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งพบว่า มีปัญหาและสั่งลดสัญญาจาก 10 ปีเหลือ 5 ปี โดยล็อกซเล่ย์ ได้ทำหนังสือขอให้ทบทวนมติบอร์ด ทอท.ยุคพล.อ.สพรั่ง กรณีที่จะมีการปรับลดอายุสัญญาลงเหลือ 5 ปี ซึ่งได้รับการตอบสนองว่า จะดูแลให้ความเป็นธรรมจากรมช.คมนาคม กลุ่มเพื่อนเนวินในขณะนี้ ทำให้จนถึงวันนี้ ล็อกซเล่ย์ ก็ยังคงถือสัญญาเดิมที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยสนามบินสุวรรณภูมิ ยาวนานถึง 10 ปี ในขณะที่สัญญาที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยระดับสากล จะไม่ทำกับรายใดรายหนึ่งนาน ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นในยุคที่นายศรีสุข นั่งเป็นประธานบอร์ดบทม. ทั้งสิ้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นายศรีสุข เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านอุตสาหกรรมการบินสูงคนหนึ่งในประเทศไทย และน่าจะนำความรู้ความสามารถ เข้ามาช่วยแก้วิกฤติของทั้งทอท.และการบินไทยได้ในยามนี้ แต่ปัญหาการทำงานและข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตในอดีตหลายเรื่อง ซึ่งกระบวนการสอบสวนยังไม่ยุตินั้น ทำให้สังคมเกิดความแคลงใจว่า การแต่งตั้งให้นายศรีสุข เป็นประธานคณะทำงานด้านการขนส่งทางอากาศ เพื่อแก้ปัญหาและฟื้นฟูการบินของไทย ทั้งบริษัทการบินไทย และทอท.นั้น เหมาะสมหรือไม่ หรือมีวัตถุประสงค์อื่นแฝงอยู่

อีกนัยหนึ่ง การตั้งนายศรีสุข เป็นประธานคณะทำงานแก้ปัญหาการขนส่งทางอากาศ เพราะไม่สามารถตั้งให้นายศรีสุข กลับเข้ามาเป็นประธานบอร์ดทอท.หรือ การบินไทยได้ เนื่องจากจะมีปัญหาเรื่องอายุเกิน 65 ปี ขัดต่อระเบียบ จึงใช้วิธีนี้และให้นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ เป็นประธานบอร์ด ทอท.ต่อไป

แหล่งข่าวกล่าวว่า ทอท.อยู่ระหว่างการเสนอเพื่อดำเนินโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมูลค่า 73,000 ล้านบาท ซึ่งอาจถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ต้องใช้คนที่ใกล้ชิด และไว้ใจได้มาขับเคลื่อนเพื่อจัดการเม็ดเงินและผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนี้อีกด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่า นายศรีสุข ถูกส่งตรงมาจากโรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ ที่ตั้งบริษัทคิงเพาเวอร์ ซึ่งเป็นแหล่งเก็บตัว ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน ช่วงชิงตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ สายสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่าง นายศรีสุข กับคิงเพาเวอร์ กลุ่มเพื่อนเนวิน กับคิงเพาเวอร์ น่าจะเกิดความชัดเจนว่า การกลับมาครั้งนี้ของนายศรีสุข เพื่ออะไร และใครคือผู้กำกับ ผู้ออกคำสั่ง ตัวจริงหลังจากนี้

ในขณะที่ นายโสภณ กล่าวถึงนโยบายในส่วนของบริษัท การบินไทยว่า จะต้องเร่งปรับปรุงแผนการดำเนินงาน ปรับลดค่าใช้จ่ายลง เช่น สิทธิพิเศษของทั้งคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) และพนักงานลง และการหารายได้เพิ่มจากธุรกิจอื่นๆ รวมถึงกระบวนการบริหารที่เป็นปัญหา เช่น ระบบการขายตั๋วผ่านเอเย่นต์ หากไม่มีประสิทธิภาพก็ควรยกเลิกให้เป็นระบบขายตรงแทน

ทั้งนี้ จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (work shop) เพื่อแก้ปัญหาของการบินไทย วันที่ 15 ม.ค.52 และประชุมเชิงปฏิบัติการ (work shop) เพื่อแก้ปัญหาของบริษัท ท่าอากากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ในวันที่ 12 ม.ค.นี้

ในส่วนของการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจต่างๆนั้น นายโสภณ ยืนยันว่า ไม่ได้บีบให้บอร์ดรัฐวิสาหกิจใดลาออก แต่หลักในการทำงานของบอร์ดทุกคน คือ ต้องเสียสละ ทุ่มเทการทำงาน ไม่ใช่มาเป็นเพราะตำแหน่ง แต่ไม่มีเวลาพอ ดังนั้นก็ต้องหาคนที่มีเวลา และมีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม ดังนั้นบอร์ดก็ต้องดูว่า สามารถทำงานตามนโยบายที่มีได้หรือไม่ ไม่ได้ก็ต้องพิจารณาและประเมินตัวเอง

**ศรีสุข รับใช้นักการเมืองทุกยุค

นายศรีสุข จันทรางศุ มีชีวิตการเติบโตในสายงานข้าราชการแบบก้าวกระโดด และทำงานรับใช้นักการเมืองมากหน้าหลายตา ก้าวขึ้นรับตำแหน่งอธิบดีกรมการบินพาณิชย์ ด้วยวัยเพียง 44 ปี เมื่อปี 2531 หลังจากเป็นรองปลัดกระทรวงได้ประมาณ 1 ปี ในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็น รมว.คมนาคม ทำงานใกล้ชิดนายบรรหารโดยเฉพาะการติดต่อกับต่างประเทศ แต่ถูกโยกย้ายมาเป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคมอีกครั้งในปี 2535 สมัยนายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นรมว.คมนาคม ด้วยเหตุว่า ไม่ต้องการให้นายศรีสุข เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ที่หนองงูเห่า (ในขณะนั้น)

แต่เพียงปีเดียว นายศรีสุข ก็ได้กลับมาเป็นอธิบดีกรมการบินพาณิชย์อีกครั้งในสมัยนายทวี ไกรคุปต์ เป็นรมช.คมนาคม เพราะมีสายสัมพันธ์ เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้นายศรีสุข ได้กลับมาสานต่อการเริ่มต้นงานโครงการสนามบินหนองงูเห่าอีกครั้ง พร้อมทั้งได้เข้าไปเป็นกรรมการในบริษัทการบินไทยอีกด้วย

นายศรีสุขเป็นประธานคัดเลือก กลุ่มบริษัท เมอรืฟี่ จาห์น ที่ปรึกษาออกแบบอาคารผู้โดยสารของสนามบินหนองงูเห่า

ต่อมาในยุค นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรมว.คมนาคม ก็ให้ความไว้วางใจนายศรีสุข อย่างมาก ผ่านสายสัมพันธ์ทางครอบครัวของนายสุวัจน์ ที่ทำธุรกิจด้านรับเหมาก่อสร้าง และนายศรีสุข เคยเป็นอิธิบดีกรมทางหลวง จึงมอบหมายให้ดูแลงานด้านการสื่อสาร ในตำแหน่งประธานคณะกรรมการการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ให้เพิ่มอีก ก่อนที่จะขยับไปเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม
กำลังโหลดความคิดเห็น