xs
xsm
sm
md
lg

อำมาตยาธิปไตยและประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

อำมาตยาธิปไตย มีบทบาทในทางการเมืองก็เนื่องจากเหตุผลหลายประการ คือ ประวัติความเป็นมาและขนบธรรมเนียมประเพณี อำมาตยาธิปัตย์คือผู้ใช้อำนาจรัฐและปกครองแผ่นดิน บางครั้งก็ท้าทายอำนาจพระมหากษัตริย์โดยทำการยึดอำนาจ และสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์แทน เช่น พระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นสมุหพระกลาโหมมาก่อน หลังจาก 24 มิถุนายน 2475 เมืองไทยก็อยู่ภายใต้อำมาตยาธิปัตย์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2500 เป็นเวลา 25 ปี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี 14 ปีครึ่ง พระยาพหลพลพยุหเสนา ประมาณ 5 ปี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ประมาณ 1 ปี ใน 25 ปีนี้ 21 ปีมีนายกรัฐมนตรีที่มีภูมิหลังเป็นทหาร ส่วนที่เหลือก็มาจากข้าราชการพลเรือน

หลังการปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 และ 20 ตุลาคม 2501 มาจนถึง 14 ตุลาคม 2516 เป็นการปกครองโดยรัฐบาลทหาร จะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างเป็นช่วงสั้นๆ แต่ก็มีทหารเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุด สรุปแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ถึง 14 ตุลาคม 2516 สี่ศตวรรษเต็มการเมืองไทยอยู่ภายใต้อำมาตยาธิปัตย์มาตลอด โดยอำนาจทางการเมืองอยู่ภายใต้ทหาร ส่วนการบริหารอยู่ภายใต้ข้าราชการพลเรือนในกระทรวงต่างๆ ซึ่งยังมีความคิดแบบเดิมคือเจ้าขุนมูลนาย

วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นการบ่งบอกถึงการสูญเสียอำนาจของอำมาตยาธิปัตย์ เพราะสังคมไทยเริ่มเปลี่ยนไปสู่สังคมกึ่งเกษตรกึ่งอุตสาหกรรม ความพยายามจะดึงอำนาจกลับมาโดยกลุ่มอำมาตยาธิปัตย์ก็คือเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และก็เกิดการปฏิวัติขึ้นอีกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 จากสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมทำให้ต้องมีการปรับตัว อำมาตยาธิปัตย์ซึ่งเป็นกลุ่มพลังอำนาจกลุ่มเดิมจึงต้องร่วมกับกลุ่มพลังกลุ่มใหม่อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยกลุ่มพลังกลุ่มใหม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและวุฒิสมาชิกยังผูกขาดโดยกลุ่มอำมาตยาธิปัตย์ ระบบดังกล่าวคือประชาธิปไตยครึ่งใบ

การปฏิวัติโดย รสช. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 คือความพยายามของกลุ่มอำมาตยาธิปัตย์ที่จะเข้ามาครองอำนาจการเมืองโดยวิธีการแบบเดิมแต่ก็เกิดการต่อต้านในปี 2535 ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่งคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภาต้องมาจากประธานสภาผู้แทนราษฎร

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มุ่งเน้นให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการบริหารประเทศซึ่งไม่สามารถจะกล่าวรายละเอียดในที่นี้ แต่น่าเสียดายที่นำไปสู่การทำลายระบบโดยการลุแก่อำนาจเพราะการขาดอุดมการณ์และจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งอำนาจระดับสูงสุด

การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 กระทำในลักษณะที่ฝืนต่อแนวโน้มโลก ขณะเดียวกันอำมาตยาธิปัตย์ก็เริ่มมีช่องห่างจากความเป็นจริงทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ อันได้แก่ยุคโลกาภิวัตน์ทำให้การปฏิบัติการ การวางตัว ไม่สอดคล้องกับสังคมยุคใหม่

และนี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ขณะที่อำมาตยาธิปัตย์สูญเสียสมรรถนะในทางการเมืองและการบริหาร ในทางการเมืองเองก็ไม่สามารถจะพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงข่าวสารข้อมูลและเข้าใจข่าวสารข้อมูลอย่างถ่องแท้ จึงทำให้เกิดความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มประกอบการทางธุรกิจ และกลุ่มอาชีพที่มีความรู้แบบสมัยใหม่ กับกลุ่มคนที่เรียกว่ากลุ่มรากหญ้า ความแตกต่างและช่องว่างนี้นำไปสู่ความไม่ราบเรียบของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เกิดความขัดแย้งอย่างหนักระหว่างสองกลุ่ม ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม แต่มีจุดดีก็คือ จุดยืนที่ต่างกันนี้มิได้อยู่บนฐานของศาสนา เชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์ แต่อยู่ที่จุดยืนทางการเมือง นโยบายการบริหารประเทศ ขณะเดียวกันก็บ่งบอกถึงความตื่นตัวในการเรียกร้องสิทธิอันเป็นผลมาจากการปลุกเร้าโดยผู้นำทางการเมืองทั้งสองฝ่าย และเครื่องไม้เครื่องมือของการสื่อสารสมัยใหม่

แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งมี 2 ประการ คือ

1. ยังมองไม่เห็นทางออกอย่างชัดเจนว่าจะลงเอยได้อย่างไรโดยสามารถจะธำรงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีความชอบธรรมเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ที่จะปฏิบัติตามกติกาจากการเลือกตั้งเพื่อจะให้โอกาสของผู้บริหารประเทศทำงานไปได้โดยปราศจากอุปสรรคอย่างหนัก แก้ไขปัญหาของสังคมและบ้านเมือง ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ต่อเนื่องและยั่งยืนสามารถจัดตั้งสถาบันขึ้นได้

2. เริ่มมีคนบางกลุ่มมีความคิดที่แตกต่างไปจากระบบการปกครองที่เป็นอยู่ปัจจุบันอันกำหนดไว้แน่ชัดใน มาตราที่ 1-3 ของรัฐธรรมนูญ คือ

มาตราที่ 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้

มาตราที่ 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มาตราที่ 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

อำมาตยาธิปไตยไม่สามารถดำรงอยู่ได้ถาวร แต่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งเป็นส่วนของการเมืองนั้นไม่สามารถจะดำเนินการได้ถ้าไม่มีการบริหารประเทศจากข้าราชการประจำ ประเด็นสำคัญก็คือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้ระบบการบริหารประกอบด้วยบุคคลที่เป็นมืออาชีพ เป็นกลางทางการเมือง ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันทางฝ่ายการเมืองก็ต้องไม่แทรกแซงทางฝ่ายข้าราชการประจำจนเกิดความปั่นป่วนขององค์กรและกระบวนการบริหาร ดังนั้น การพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจึงต้องไปพร้อมๆ กับการกำหนดขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารซึ่งเป็นข้าราชการประจำ

ขณะเดียวกันภาคเอกชนอันได้แก่สื่อมวลชนและประชาชนก็ต้องมีส่วนร่วมในลักษณะที่เดินตามกติกาของระบบ มีใจนักกีฬา และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก มากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มหรือของพรรคการเมือง หรือของภูมิภาค เพราะประชาธิปไตยคือการปกครองเพื่อคนทั้งประเทศ นายกรัฐมนตรีคือนายกรัฐมนตรีของคนทั้งประเทศไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่ง หรือภาคใดภาคหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ชาติและสังคมต้องมาก่อน ผู้ใช้อำนาจรัฐคือนักการเมืองและข้าราชการต้องทำเพื่อชาติและสังคมเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น