xs
xsm
sm
md
lg

14 ตุลาฯ 2516 – 6 ตุลาฯ 2519

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

เป็นกรณีที่น่า “เสียใจ” อย่างมากกับ “สังคมรุ่นใหม่” หรือแม้กระทั่ง “คนรุ่นเก่า” ที่อาจจะทั้งรู้และไม่รู้กับ “เหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย” เมื่อ “14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519”

ท่านผู้อ่านที่เกิดในยุคนั้น รับรองได้เลยว่าต้องเคยได้ยินคำว่า “วันมหาวิปโยค” ทั้งสองเหตุการณ์ ขอกล่าวอีกครั้งคือ “14 ต.ค.’16 – 6 ต.ค.’19” เป็นวันที่คนไทยทุกคนไม่ควรลืม ไม่ว่าจะเป็น “ชนชั้นระดับใด” และ “ภูมิภาคไหน” เนื่องด้วยเหตุการณ์ครั้งสำคัญทั้งสองเหตุการณ์นั้นเป็น “เหตุการณ์ประวัติศาสตร์” ของการเมืองไทย ที่มีการจารึกไว้ทั้งในความทรงจำของคนไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำราหนังสือ

อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า เป็นกรณีที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่คนไทยยุคปัจจุบัน ทั้งคนยุคสมัยนั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เด็กรุ่นใหม่” ต่างไม่รู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เลวร้ายไปมากกว่านั้นคือ บางคนบางกลุ่มรู้แต่ก็มิได้ให้ความสนใจแต่ประการใด แถมอาจเลยเถิดไปถึงการไม่แยแสอีกต่างหาก

เหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีประมาณ 5-6 ครั้งสำคัญเท่านั้น ถ้าคนไทยทั่วไปควร “เรียนรู้-รับรู้” โดยอาจไม่จำเป็นต้องลงลึกถึงรายละเอียดกล่าวคือ

หนึ่ง “การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พ.ศ.2475” จาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ระบอบประชาธิปไตย” โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สถาบันพระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งในครั้งนั้น “คุณูปการ” ของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองนั้น เกิดจาก “พระมหากรุณาธิคุณ” ของ “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7” ที่ทรงสละ “พระราชอำนาจ” เพื่อมอบให้แก่ปวงชนชาวไทยที่สมควรมีสิทธิเสรีภาพในการปกครองตนเอง

ในครั้งนั้นมี “คณะราษฎร” ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยร่วมตามแนวทางพระราชดำริของรัชกาลที่ 7 จนเกิดการ “พลิกแผ่นดิน” ก็ว่าได้สำหรับการเปลี่ยนแปลงในยุคนั้น ซึ่งเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ไทยที่เกิด “ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย” ขึ้น

สอง นับตั้งแต่ พ.ศ.2475 เป็นต้น ความจริงของระบอบการเมืองการปกครองไทยก่อให้เกิด “การแย่งชิงอำนาจ” จาก “สามฝ่าย” สำคัญ กล่าวคือ “คณะราษฎร” ที่เป็นกลุ่มบุคคลรุ่นใหม่ในยุคนั้น ที่ได้รับการศึกษาจากสังคมตะวันตก โดยเฉพาะจาก อังกฤษ และฝรั่งเศส จนร่วมกันกับรัชกาลที่ 7 ที่ต้องการให้ประเทศชาติเดินหน้าสู่ความทันสมัยเหมือนกับนานาอารยประเทศที่เจริญแล้ว ฝ่ายที่สอง คือ “ฝ่ายทหาร” ที่มีจอมพลแปลก พิบูลสงคราม โดยร่วมกับ กลุ่มทหารรุ่นใหม่ยุคนั้น ได้แก่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่อีกหลายนาย ที่ต้องการอำนาจทางการเมืองการปกครองเช่นเดียวกัน และฝ่ายสุดท้าย ที่ยังมีบทบาทสำคัญอยู่คือ สถาบันพระมหากษัตริย์และเหล่าขุนนางที่จงรักภักดีต่อสถาบัน

“การแก่งแย่งชิงอำนาจ” ในยุคหลัง 2475 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนานนับทศวรรษก็ว่าได้ ที่มี “การพลิกอำนาจ” สลับกันไปมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กลุ่มฝ่ายทหาร” ด้วยกันเอง ทั้งนี้ “ฝ่ายคณะราษฎร” และ “ฝ่ายขุนนาง” ไม่มีอำนาจมากมายนัก เนื่องด้วย “พลังเกื้อหนุน” ทั้งทางด้าน บุคลากร และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

ดังนั้น “การแก่งแย่งชิงอำนาจ” หรือพูดง่ายๆ คือ การชิงไหวชิงพริบระหว่างกลุ่มนายทหารกันเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองการปกครองทั้งๆ ที่ก่อกำเนิดมาจากศูนย์อำนาจเดียวกัน

ช่วงตั้งแต่ 2475-2500 เป็นระยะเวลา 25 ปี ที่ทั้งฝ่ายตำรวจและฝ่ายทหารต่างมีบทบาทสำคัญมากกับระบอบการเมืองการปกครองไทย ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายข้าราชการพลเรือน ที่ร่วมขบวนการด้วย จึงเป็นที่มาของคำว่า “ระบอบอำมาตยาธิปไตย” ที่แปลว่า “ระบบการปกครองโดยอำมาตย์ขุนนาง” หรือเรียกง่ายๆ ก็หมายความว่า “ข้าราชการเป็นใหญ่!” ที่เป็น “ระบบศักดินา” เช่นเดียวกัน แต่แปลงจาก “ระบบกษัตริย์” มาสู่ “ระบบราชการ”

“รัฐราชการ” จึงเป็นอีกหนึ่งคำสำคัญทางวิชารัฐศาสตร์ที่คนรุ่นใหม่อาจไม่เคยได้ยิน หรือแม้กระทั่ง “ปัญญาชน” ที่ไม่เคยเรียนวิชารัฐศาสตร์กับประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็อาจไม่เคยได้ยินเช่นเดียวกัน!

ว่าไปแล้ว “การแย่งชิงอำนาจ” ในลักษณะ “ฤทธิ์มีดสั้น!” ที่แอบแทงกันข้างหลัง เหมือนนิยายจีน “โกวเล้ง!” ก็ไม่ผิดที่ปราศจาก “ความจริงใจ” ระหว่างเพื่อนสนิทกับกลุ่มที่ก่อการปฏิวัติมาด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงษ์ ทอดยาวมาจนถึงยุคของ จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร

ยุคนั้นเป็นยุคของการแย่งชิงอำนาจอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กลุ่มทหาร” และ “กลุ่มข้าราชการพลเรือน-มหาดไทย” มีบทบาทมากที่สุดกับระบอบการเมืองการปกครองไทย และที่สำคัญคือ “การยึดอำนาจ-รัฐประหาร” เกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก เรียกว่า “ปีละครั้ง” ก็ว่าได้!

“ระบบอำมาตยาธิปไตย” ถือว่าเป็น “ระบบศักดินา” ที่ต่อยอดมาจากยุคระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ความจริงเราต้องยอมรับคือ “ระบบขุนนาง” เป็นใหญ่เช่นเดียวกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็หมายความว่า “โครงสร้างอำนาจการปกครอง” สูงสุดคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมี “โครงสร้างย่อย-ระบบอำนาจ” ต่อท่อมาสู่ “ระบบอำมาตย์” ดังนั้น “ระบบอำมาตยาธิปไตย-ระบบราชการ” จึงฝังรากลึกมาอย่างยาวนานนับหลายร้อยปี

จนในที่สุด “ระบบอำนาจการเมืองการปกครอง” ที่ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอดด้วยความเพียรพยายามสร้าง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มาถึงยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร เมื่อเกิดเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” โดยมี “ขบวนการนักศึกษา-นักวิชาการ-ประชาชน” ส่วนหนึ่งที่เคลื่อนไหวเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย

แต่เหตุการณ์จริงๆ ที่เกิดขึ้นช่วงนั้น มิได้เคยถูกจารึกในประวัติศาสตร์ แต่เป็นที่เล่าขานวิพากษ์วิจารณ์ว่าเกิดจาก “การแย่งชิงอำนาจ” เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วงการสีเขียว!”

เหตุการณ์ในครั้งนั้น ถามว่า มีนักศึกษาเสียชีวิตหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามี ถามว่ามีนักศึกษาบาดเจ็บหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามี ถามว่าประชาชนหมดความอดทนหรือไม่และให้การสนับสนุนนักศึกษาหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามี เช่นเดียวกัน เพียงแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ นั้น มิได้รุนแรงเท่ากับ “เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519”

สาม
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจการเมืองการปกครองครั้งสำคัญในครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เนื่องด้วย “ประชาธิปไตยเบ่งบานเต็มที่” ตลอด 3 ปี 2516-2519 จนในที่สุด “อะไรที่เกินขอบเขต” ก็มีอันต้อง “ล้มครืน-มีอันเป็นไป!”

ตลอดระยะเวลา “การแย่งชิงอำนาจ 2475-2519” ยาวนานถึง 44 ปี มีอันต้องพังพาบไปกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ขบวนนักศึกษาต้องถูก “ปิดล้อม-สกัดกั้น” ในรั้วของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” และการซ่องสุมกำลังภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์บ้าง ชาวเวียดนามเหนือบ้าง

สี่ “6 ตุลาฯ 19” เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ “ความจริง” ได้ประจักษ์แก่คนไทยในยุคนั้น และได้มีการจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วย “คำบอกกล่าว-คำสอน-รูปภาพ” ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่า “โหดเหี้ยม-รุนแรงที่สุด” จนมีการเรียกขานกันว่า “วันมหาวิปโยค” เนื่องด้วยมีนักศึกษาบาดเจ็บและถูกจับกุมเกือบ 4,000-5,000 คน และที่สำคัญมากกว่านั้นคือ “ตายเกือบ 50 คน”

ถามว่า บรรดาพ่อแม่ ญาติมิตร ของผู้ตายหลายสิบคน ยังมีตัวตนอยู่หรือไม่ และพร้อมแสดงหลักฐานของ “การล้มหายตายจาก” จนบัดนี้ยังมีหลายรายที่ไม่ได้มีโอกาสทำบุญสวดศพให้กับผู้ตายบางรายเลย

เหตุการณ์สำคัญทั้งสองครั้ง ขอย้ำว่ามีการจารึกไว้ในความทรงจำของคนไทยและได้มีการเล่าขานสอนในบทเรียน และคงไม่สำคัญเท่ากับว่า เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป “การรำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ’16 – 6 ตุลาฯ ‘19” นั้น ค่อยๆ เลือนรางออกไปจาก “ความทรงจำ” ของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักศึกษาในยุคนั้น หรือแม้แต่กระทั่งคนรุ่นใหม่ ที่อย่าว่าแต่ไม่รู้เรื่องรู้ราวเลย ทั้งๆ ที่รู้แต่ก็ไม่สนใจ

กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการตอบข้อซักถามของนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ว่ามีผู้ตายเพียง 1 คน กำลังเป็น “ประเด็นร้อนทางการเมือง” ที่ต้องขอขอบคุณ คุณอดิศร เพียงเกษ คุณสุธรรม แสงประทุม และคุณจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ร่วมรับรู้กับเหตุการณ์ในครั้งนั้น ได้ออกมาเล่าความจริงให้สังคมได้รับทราบ

อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ที่ “จุดประกายความทรงจำ” ให้แก่สังคมไทยยุคปัจจุบัน ในการ “ย้อนอดีต” กับเหตุการณ์ครั้งสำคัญทางการเมืองที่มิควรลืม พร้อมทั้ง “กระตุก-กระตุ้น” กลุ่มการเมืองสำคัญกับพรรคการเมืองใหญ่ที่ทยอยออกมาเตือนความทรงจำ

แต่ก็ยังมีอดีตแกนนำนักศึกษาบางคนที่ยังกลืนอุดมการณ์และคาวเลือดของเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้อย่างหน้าชื่นตาบาน!
.....................
กำลังโหลดความคิดเห็น