xs
xsm
sm
md
lg

สงครามครั้งสุดท้าย บทเสนอเรื่อง “การเมืองใหม่” (ตอน 7)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

ช่วงที่ผ่านมา ไม่มีใครตั้งคำถามว่า การสร้างรัฐราชการขนาดใหญ่ กับแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย ไม่สามารถดำรงอยู่ และพัฒนาควบคู่กันได้

เหตุผลเพราะการสร้างรัฐขนาดใหญ่ (ใหญ่มาก) และเต็มไปด้วยระบบกฎหมาย กฎเกณฑ์มากมาย ที่แท้คือการสร้างอำนาจขนาดใหญ่ซึ่งทำหน้าที่ (ปกครอง) ครอบหัวประชาชน

หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ในสมัยนั้นเราคิดเพียงแต่ว่า การสร้างระบอบการเลือกตั้ง และสภา (สิ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตย) ขึ้นบนยอดของระบบการเมืองการปกครอง (ขนาดใหญ่) นี่ก็คือ การสร้างระบอบประชาธิปไตยแล้ว

เราลืมคิดไปว่า ระบอบประชาธิปไตย คือระบอบการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ระบอบประชาธิปไตยนี้จะก่อเกิดขึ้นได้ ต้องวางการสร้างประชาธิปไตยที่ฐานรากของระบบสังคมก่อน (ในระดับชุมชน และในระดับเมือง)

ถ้ารากฐานไม่เข้มแข็ง ประชาธิปไตยที่หัวหรือที่ยอดอย่างเดียวก็จะดำรงอยู่ไม่ได้


หลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ประชาธิปไตยที่ยอดระบบก็เริ่มสั่นคลอน รัฐราชการขนาดใหญ่นี้ก็พัฒนาไปสู่การเป็นรัฐราชการเผด็จอำนาจในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ความเป็นรัฐราชการ ทหาร และตำรวจ ขนาดใหญ่ จึงกลายเป็นพลังอำนาจที่กลางเมืองที่ขัดขวางพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ รัฐราชการดังกล่าวไม่ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบอำนาจทางการเมืองเท่านั้น หากยังทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบความมั่งคั่งเข้าสู่ศูนย์กลางด้วย

ตัวรัฐจึงเป็นศูนย์ของผลประโยชน์และรายได้ (พิเศษ) อย่างเช่น ทหารมีรายได้พิเศษจากงบราชการลับและการสั่งซื้ออาวุธ ตำรวจมีรายได้พิเศษจาการดูแลบ่อนเถื่อนและการค้าของเถื่อน กรมป่าไม้มีรายได้พิเศษจากการตัดไม้ทำลายป่า...เป็นต้น

ระบบราชการทั้งระบบจึงกลายเป็นระบบแสวงหาประโยชน์เพื่อความมั่งคั่งของบรรดาข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

ประเด็นที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือ รัฐราชการไทยดังกล่าวถือว่า เมืองหลวง หรือ กรุงเทพฯ เท่านั้นที่ศูนย์กลาง กรุงเทพฯ จึงพัฒนากลายเป็นศูนย์ของระบบราชการและระบบทหาร เป็นทั้งศูนย์ของเศรษฐกิจ ศูนย์ของวัฒนธรรม และศูนย์การศึกษา

พัฒนาการทุกอย่างได้รวมศูนย์อย่างยิ่ง หรือที่คนทั่วไปกล่าวกันว่า

ประเทศไทย คือ กรุงเทพฯ

ทุกอย่างขึ้นกับชนชั้นนำในกรุงเทพฯ และเจ้านายที่ส่งตรงจากกรุงเทพฯ ไปกินเมือง


ทรัพยากรที่มีค่าทุกอย่าง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จึงกลายเป็นของชนชั้นนำหรือของผู้มีอำนาจในกรุงเทพฯ ทั้งหมด

แม้กระทั่ง ชนชั้นนำใหม่ (พ่อค้าคนจีน) ที่ก่อเกิดขึ้นหรือจะร่ำรวยขึ้นได้ ก็ต้องรู้จักการทำมาหากินกับรัฐราชการ

รัฐราชการขนาดใหญ่และรวมศูนย์ ดังนั้นแทนที่จะพัฒนาเป็นรัฐรับใช้ประชาชน กลับกลายเป็น ไอ้ตัวกาฝาก โกงกิน และกลายเป็นศูนย์คอร์รัปชันใหญ่ที่สุด

นอกจากนี้ เมื่อรัฐทหารและข้าราชการมีขนาดใหญ่ มีจำนวนข้าราชการมาก รัฐราชการดังกล่าวก็กลายเป็นศูนย์บริโภคงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลโดยปริยาย

ทุกวันนี้ งบประมาณแผ่นดินกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ถูกใช้เพื่อเลี้ยงดูข้าราชการ

ความมั่งคั่งของชนชั้นนำไทย (นายทุนและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่) จึงพัฒนาไปพร้อมๆ กับการขยายตัวของคอร์รัปชัน การคอร์รัปชันจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเมืองไทย

ที่ผ่านมา แม้จะมีการนำเสนอแนวคิดปฏิรูประบบราชการครั้งแล้วครั้งเล่า ผลการปฏิรูปคือ ความล้มเหลว

เมื่อระบบราชการทั้งระบบคอร์รัปชัน ชนชั้นนายทุนและบรรดานักการเมืองก็เติบโตขึ้นมาด้วย วัฒนธรรมคอร์รัปชัน ดังนั้น ศูนย์กลางของรัฐราชการ หรือระบบรัฐบาล และระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง (ถ้าช่วงนั้นมีการเลือกตั้ง) ก็พลอยพัฒนากลายเป็นศูนย์ใหญ่ของการคอร์รัปชันไปด้วย

ไม่เพียงแต่เรื่อง การโกงกิน (งบประมาณ) เท่านั้น ยังมีการค้ายาเสพติดและค้าของเถื่อนตามมาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา การเมืองไทยในระดับศูนย์กลางได้พลิกผันหรือก้าวเข้าสู่ยุคระบบรัฐสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่วัฒนธรรมคอร์รัปชันกลับแพร่ระบาดไปทั่วระบอบการเมืองที่เรียกว่า ระบอบรัฐบาล และรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

ส่วนหนึ่งเนื่องจาก ชนชั้นนายทุน และ ชนชั้นกลางที่เข้ามาสู่การเลือกตั้ง เรียนรู้วัฒนธรรมคอร์รัปชันมาตั้งแต่ช่วงที่ทำมาหากินกับระบบรัฐราชการ

อีกส่วนหนึ่ง ทุนนิยมไทย ไม่มีคำว่า ‘ผลประโยชน์ร่วม’ หรือ ‘ผลประโยชน์ระยะยาว’

ทุนนิยมแบบไทยๆ จึงเป็นที่มาของลัทธิ ‘มือใครยาว สาวได้สาวเอา’


ชนชั้นนายทุนไทยไม่สามารถพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า ผลประโยชน์ระยะยาว หรือผลประโยชน์ร่วมขึ้นมาได้

ประเทศไทยในยุคทุนนิยมและประชาธิปไตยเลือกตั้ง บรรดานักการเมืองที่สนใจการเมืองจึงมุ่งเข้ามาเพื่อหาอำนาจและหาประโยชน์เท่านั้น เรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองและการทำเพื่อประเทศชาติจริงจึงเป็นเพียงเรื่องไร้สาระ

ผลที่ตามมา ตัวรัฐบาลกลายเป็นศูนย์กลางในการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินขนาดใหญ่ ทำให้ศูนย์กลางของรัฐเองกลายเป็นศูนย์กลางคอร์รัปชัน อำนาจในการจัดสรรดังกล่าวได้กลายเป็นรายได้พิเศษของนักการเมือง

งบประมาณแผ่นดินอย่างน้อยประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ บรรดาคณะรัฐมนตรีb>bและนักการเมืองทั้งหมดต้องได้รับ พรรคการเมืองและนักการเมืองจึงแปรสภาพเป็นนักกินเมือง

หลังเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ พฤษภาคมปี 35 ได้มีความพยายามที่จะตรวจสอบและควบคุมการเมืองด้วยการสร้างองค์กรอิสระขึ้น ความพยายามดังกล่าวถือว่า ‘ล้มเหลว’ เพราะในช่วงนี้ระบบการเมืองไทยได้ก้าวสู่การเมืองยุคโลกไร้พรมแดน

เพื่อนคนหนึ่งที่ร่วมในวงสนทนาได้ชิงถามผมก่อนที่ผมจะพูดต่อ เขาสวนขึ้นว่า

“ก่อนจะพูดเรื่องยุคไร้พรมแดน ผมสงสัยประเด็นที่ว่า ทำไมชนชั้นนายทุนไทยและนักการเมืองไทยจึงคิดได้แค่ผลประโยชน์ส่วนตัว ทำไม...นายทุนต่างประเทศหรือชนชั้นนำต่างประเทศจึงสามารถคิดถึงผลประโยชน์ระยะยาวร่วมกันได้”

ผมหันไปตอบเขาว่า

ชีวิตการเมืองตะวันตกยาวกว่าชีวิตการเมืองไทยมากๆ พวกเขาผ่านการต่อสู้มาหลายยุคหลายสมัย จนก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ลัทธิอุดมการณ์ ขึ้น อย่างเช่น ลัทธิสังคมนิยม การเมืองสีเขียว

ลัทธิอุดมการณ์เหล่านี้มีส่วนทำให้ชีวิตการเมืองตะวันตกมีแนวคิดเรื่องผลประโยชน์ร่วมระยะยาว

ส่วนบรรดาประเทศโลกที่สามที่เคยเป็นเมืองขึ้น ผู้นำหรือนักการเมืองต้องต่อสู้เพื่อเอกราช บางประเทศต่อสู้กันนานนับสิบๆ ปี คนกลุ่มนี้จะมีลัทธิอุดมการณ์ในลักษณะชาตินิยม มองชาติเป็นหน่วยร่วมหน่วยใหญ่ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน

ในกรณีของประเทศไทย เราคนไทยไม่เคยต้องทำสงครามต่อต้านการเป็นเมืองขึ้น เรื่องลัทธิอุดมการณ์การเมือง อย่างเช่น เรื่องชาตินิยม และลัทธิสังคมนิยม มีแพร่เข้ามาบ้าง แต่ไม่มากนัก

แม้เดิมทีเราคนไทยเป็นชาวพุทธ แต่เรากลับรับแนวคิดตะวันตก เรื่องแยกศาสนาออกจากการเมือง มาใช้ เรื่องการเมืองกับเรื่องศีลธรรมจึงถูกแยกออกจากกัน

iiเราจึงเห็น นักการเมืองส่วนใหญ่มองการเมืองในแง่อำนาจและผลประโยชน์ที่จะได้มา ไม่มีใครสนใจแม้แต่เรื่อง ‘ศีลธรรม’ หรือ ‘ความดีงาม’

เรื่องวัฒนธรรมการเมืองนี้สำคัญมาก และถือว่าเป็นส่วนที่แก้ไขยากที่สุด

ผมได้ขอเพื่อนที่ถามว่าจะผ่านเรื่องนี้ไปก่อน คงต้องถกกันเป็นประเด็นยาวภายหลัง

ย้อนกลับมาพูดเรื่อง ‘ระบอบการเมืองไทย’ ผมเริ่มกล่าวต่อ

พอถึงยุคโลกาภิวัตน์ การเปิดเสรีทางการเงิน และ การขยายตัวของตลาดเงินและตลาดทุน ได้ทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคธนาธิปไตยแบบเต็มตัว

การเมืองได้กลายสภาพเป็นการลงทุนขนาดใหญ่และใหญ่มาก ทุนที่ใช้ลงสามารถระดมมาจากตลาดทุนทั่วโลก

นายทุนที่เชื่อมกับตลาดทุนดังกล่าว จะสามารถระดมเงินเข้ามานับหมื่นๆ ล้านได้ ทั้งจากต่างประเทศหรือในประเทศ เพื่อสร้าง ‘พรรคขนาดใหญ่’ ที่มีอำนาจเด็ดขาดเหนือการเมืองไทย

เพื่อนอีกคนถามขึ้นว่า

i“อาจารย์กำลังบอกว่า ยุคคุณทักษิณแตกต่างจากยุคการเมืองแบบเก่าตรงเรื่องการระดมทุนทางการเมือง ซึ่งอาจจะมาจากที่ไหนก็ได้ เช่น จากสิงคโปร์ หรือตะวันออกกลาง รึ!

ถ้าจริง...อย่างนั้น นายทุนสิงคโปร์ก็ต้องรู้ว่าจะหาประโยชน์จากการเมือง หรือการมีอำนาจเหนือการเมืองไทยได้อย่างไร ใช่ไหม!”

ผมตอบว่า

ถูกต้อง แต่อย่าลืมนะ...ในยุคโลกไร้พรมแดน นักลงทุนจะมองโลกเกินกว่าประเทศ นายทุนใหญ่ของสิงคโปร์ก็มองไทยไม่ต่างจากนายทุนไทยมองลาว มองกัมพูชา และพม่า

ในขณะที่นายทุนใหญ่ของไทยก็คิด “เราจะเอาประโยชน์จากลาว จากพม่า และจากกัมพูชาได้ อย่างไร” นายทุนสิงคโปร์ก็คิด “จะยึดศูนย์ธุรกิจกรุงเทพฯ ได้อย่างไร”

เพื่อนคนหนึ่งสวนขึ้นว่า

“ผมเริ่มเข้าใจแล้ว ทำไมคุณทักษิณจึงต้องขายกิจการของตนเกือบทั้งหมดให้แก่กลุ่มทุนสิงคโปร์ และได้เงินมาถึง 73,000 ล้าน”

ผมขยายความต่อ

ธุรกิจการเมืองสมัยใหม่ต้องอาศัยการผูกขาดอำนาจเหนือการเมือง และใช้อำนาจการเมืองไปหาประโยชน์ เช่น การสร้างอภิมหาโครงการ และกินกันแบบข้ามชาติ หรือพูดง่ายๆ ยุคนี้ไม่ได้หาประโยชน์เฉพาะจากรายได้หรือจากการโกงกินงบประมาณ

การเมืองใหม่ยุคทักษิโณมิกส์ หันมาโกงกินแบบข้ามชาติ และหากินผ่านการปั่นกำไรทางเศรษฐกิจ (ให้พอง และให้แตก ) ร่วมกับการสร้างอภิมหาโครงการ เป็นสำคัญ

ผมหยุดพักหนึ่ง แล้วถอนใจแรง กล่าวต่อ

“พูดถึงปัญหาการเมืองที่ผ่านมานับว่าวิเคราะห์ได้ไม่ยากนัก แต่...ถ้าจะพูดถึง การสร้างการเมืองใหม่ ถือว่าเป็นเรื่องยาก...มากๆ เพราะเราต้องคิด ‘แก้’ หรือ ‘ลด’ ขนาดระบบรัฐราชการขนาดใหญ่ รื้อทิ้งระบอบการเมืองรัฐสภาแบบโคตรโกง และเราต้องสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ รวมทั้ง ต้องสร้างผลประโยชน์ร่วมแห่งชาติ หรือผลประโยชน์ระยะยาวขึ้นมาด้วย”

ผมหยุดพักอีก และพูดต่อ

เวลาที่ผมคิดอะไรไม่ออก ผมชอบอ่านคัมภีร์ อิจิง ศาสตร์ตะวันออกเรื่องนี้จะสอนเราให้เข้าใจ เรื่องความสำคัญของ “จังหวะ” หรือ “เวลา”

ถ้าช่วงเวลานี้คือ ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ก็ต้องคิดเปลี่ยนแปลงใหญ่ แต่...เราต้อง เข้าใจ กระแสคลื่นลม หรือ กระแสประวัติศาสตร์ ก่อน ว่ามี ทิศทาง หรือ จังหวะ อย่างไร กระแสนี้เราจะดูจากประเทศไทยเท่านั้นไม่ได้ เราต้องเข้าใจในระดับโลกด้วย

หลักนี้จะสอดคล้องกับหลักเต๋าเรื่อง Flow with the Wind หรือ การเคลื่อนตัวไปตามกระแส พูดอีกอย่างหนึ่งคือ คนตะวันออกจะไม่คิดฝืนกระแส จะคิดจะทำอะไรก็ต้องดูกระแสคลื่นลมก่อน


ถ้าคลื่นลมรุนแรงมาก ก็ให้นั่งสงบหรืออยู่เฉยๆ ก่อน รอจนกว่าคลื่นลมสงบ แล้วจึงลงมือกระทำการ

ผมได้ขอเพื่อนๆ พักดื่มน้ำและผ่อนคลายบรรยากาศลง ก่อนจะพูดเรื่องจังหวะและการขึ้นลงของกระแสโลก (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น