xs
xsm
sm
md
lg

สงครามครั้งสุดท้าย บทเสนอเรื่อง “การเมืองใหม่” (ตอน 2)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

เราจะเห็นว่า ทุกวันนี้ ใครที่เป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงก็จะถูกประณาม

ผู้ชนะ คือ ผู้ที่แสดงตนว่ามี ‘อารยะ’ กว่า

สิ่งสำคัญ คำว่า อารยะแบบไทยๆ จะมีแนวคิดแบบพุทธศาสนาเข้ามาผสมผสานด้วย ส่งผลทำให้วิถีแห่งอารยะขัดขืนแบบไทยละเอียดอ่อนมาก

อย่างเช่น ถ้าใครที่ขึ้นไปพูดบนเวทีใช้ภาษาหยาบคาย จะถูกตำหนิอย่างหนัก หรือถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากผู้ฟัง

กล่าวแบบชาวพุทธ นอกจาก คิดดี-ทำดี แล้ว เรายังต้องตระหนักถึงวิถีพุทธที่กล่าวถึง วาจาชอบ

วาจาชอบสะท้อนถึงสภาวะจิตใต้สำนึกของผู้พูดเองว่าตัวตนของตนเองเป็นเช่นไร เป็นคนใจหยาบกระด้าง หรือเป็นคนมีจิตใจงดงาม

คนที่มี ใจงาม หรือ ใจอารยะ ต้องไม่ต่อสู้เพราะความเกลียด โกรธ หรือ กลัว ไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเอง กลับต่อสู้เพื่อผู้อื่นและเพื่อประเทศชาติ ถือว่าเป็นการสู้ของพระโพธิสัตว์

ลูกศิษย์ผมแย้งขึ้นว่า

“การสู้แบบพระโพธิสัตว์ถือว่าเป็นแนวคิดแบบมหายาน ไม่ใช่หรือครับ”

ประเด็นนี้ ผมอธิบายว่า

วัฒนธรรมไทยโบราณมีรากมาจากพุทธแบบมหายานเช่นกัน พุทธมหายานได้เข้ามาในช่วงศตวรรษที่ 10 ถึง 15 มีแหล่งขยายตัวใหญ่ ณ อาณาจักรโบราณตอนใต้ที่เรียกว่า ศรีวิชัย และในยุคที่วัฒนธรรมขอมมีอิทธิพลเหนือลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างเช่น ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ช่วงนั้นคนไทยส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลหรือแนวคิดจากพุทธแบบมหายาน

นอกจากนี้ ลัทธิมหายานยังได้สืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อย่างเช่น บรรดาพระจีนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ก็นับถือพุทธแบบมหายานมายาวนาน

ลูกศิษย์ถามอย่างสงสัยอีกว่า

“การที่มีพระสงฆ์เข้าร่วมต่อสู้ทางการเมือง ถือว่าเหมาะสมหรือไม่ครับ”

ผมตอบเขา

“คิดแบบมหายาน เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะตามหลักโพธิสัตว์ บรรดาพระสงฆ์จะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องออกมาช่วยประชาชน และมีหน้าที่ต้องคอยช่วยให้คำแนะนำดูแลเพื่อให้ขบวนการต่อสู้ดำเนินไปอย่างสันติและมีอาริยะ

ดังนั้น ‘การต่อสู้แบบอารยะขัดขืน’ จะเป็นจริงได้ เราจะขาด ‘พระสงฆ์’ ไม่ได้โดยเด็ดขาด

เนื่องจากในช่วงการต่อสู้อาจต้องเผชิญหน้ากัน หรือจะหลีกเลี่ยงการปะทะและการใช้ความรุนแรงไปไม่พ้น


อย่างเช่น เวลาเราเห็นผู้คนหรือพรรคพวกถูกตี ถูกฆ่า ถูกทำร้าย เรามักหลีกเลี่ยงความรู้สึกเกลียด และโกรธไปไม่พ้น พระสงฆ์มีบทบาทสูงอย่างยิ่งที่จะช่วยสร้าง ‘ความเป็นอารยะ’ ให้กับขบวนการภาคประชาชน เนื่องจากพระสงฆ์จะเข้าใจหลักเมตตาธรรมของพระพุทธองค์ได้ดีกว่าคนทั่วไป

เวลาเกิดความรุนแรงขึ้น ผู้ที่เข้าใจ‘ธรรม’ ก็ช่วยห้ามปรามกัน ไม่ให้ใช้ความรุนแรงโต้ตอบกลับ หรือใช้ความรุนแรงในกรอบที่จำกัด

มหาวิทยาลัยราชดำเนิน จึงต้องจัดช่วงเวลาฟังพระเทศน์เป็นประจำทุกวัน”

นี่...น่าจะถือว่าเป็น ‘อารยะขัดขืนแบบไทยๆ’ โดยเฉพาะ

อะไรคือ ทุนสามานย์

ลูกศิษย์ถามผมต่อ

“ผมเริ่มเข้าใจหลายเรื่องแล้ว แต่ยังมีอีกเรื่องหนึ่งค้างคาใจมากครับอาจารย์ อะไร คือ ทุนสามานย์ครับ”

ผมตอบว่า

“นักวิชาการบางท่านใช้คำนี้เพื่อบ่งบอกและแยกแยะว่า มีกลุ่มทุนบางกลุ่มเลวร้ายเป็นพิเศษกว่ากลุ่มทุนประเภทอื่นๆ

สมัยก่อน แนวคิดฝ่ายซ้ายที่เรียกว่า ลัทธิ MARX จะอธิบายว่าระบอบทุนทั้งระบอบเลวร้าย หรือสามานย์ทั้งหมด จักต้องถูกทำลายล้างลงด้วยการต่อสู้ทางชนชั้น เนื่องจากบรรดานายทุนต้องกดขี่ขูดรีดชนชั้นกรรมาชีพอย่างหนักหน่วง และแนวคิดนี้เองกลายเป็นที่มาของแนวคิดเรื่องการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ

แนวคิดนี้ มีจุดอ่อนตรงที่ปฏิเสธ ‘ความเป็นไปได้’ ที่ระบบทุนนิยมดังกล่าวจะสามารถปฏิรูปตัวเอง และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชนชั้น รวมทั้งลดการเอาเปรียบแรงงานได้

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางชนชั้นในยุโรป จะพบว่า ในที่สุดแล้ว การปฏิรูประบบทุนนิยมเกิดขึ้นได้ และนี่คือที่มาของระบบเศรษฐกิจการเมืองใหม่ที่เรียกกันในปัจจุบันว่า ระบบรัฐสวัสดิการ

นี่หมายความว่า เราสามารถสร้างระบบทุนที่ไม่กดขี่ขูดรีดมากได้


ถ้าคิดแบบนี้ ทุนนิยมก็ไม่น่าจะเป็นทุนสามานย์หรือทุนเลวๆ เสมอไป

ดังนั้น คนที่ลงทุนทำมาหากินโดยปรกติก็ไม่จำเป็นต้องถูกประณามว่า ‘เลว’ หรือ ‘ชั่ว’ ถ้าหากพวกเขาดูแลลูกจ้างหรือคนงานดี

Marx ไม่ได้ผิดพลาดเรื่องการปฏิเสธความสามารถในการปรับตัวหรือการปฏิรูปของระบบทุนนิยมเท่านั้น แต่ Marx ยังทำให้เราเข้าใจผิดว่า หัวใจของปัญหาการกดขี่ในโลกสมัยใหม่อยู่ที่การขูดรีดแรงงานเป็นสำคัญ

ความจริงแล้ว ถ้าเราย้อนศึกษาประวัติศาสตร์โลก เราจะพบว่าระบบโลกเริ่มกำเนิดขึ้นประมาณศตวรรษที่ 15 ถึง 18 ในช่วงนั้น ระบบโลกก่อเกิดขึ้นจากการกดขี่ขูดรีดที่หนักหน่วงชั่วร้าย ซึ่งชั่วร้ายกว่าการขูดรีดทางชนชั้นเสียอีก นั่นคือการทำสงครามล่าอาณานิคม ปล้นชิงทรัพยากร และการจับคน (ผิวดำ) มาเป็นทาส

นักวิชาการตะวันตกเรียกการกดขี่ขูดรีดแบบนี้ว่า Primitive Accumulation หรือ การแสวงหาความมั่งคั่งแบบป่าเถื่อน

กลุ่มที่แสวงหาความมั่งคั่งแบบนี้ไม่ได้เติบโตขึ้นบนฐานการผลิตจริง แต่เติบโตขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ (Nation-State) ซึ่งพัฒนาอำนาจสู่การก่อเกิดของรัฐที่เรียกว่า Empire ล่าอาณานิคม

กลุ่มทุนสามานย์นี้จะเกาะกุมอำนาจเหนือรัฐ (ล่าอาณานิคม) และมั่งคั่งขึ้นจากการล่าอาณานิคม

ศูนย์กลางอำนาจของทุนนี้คือ การสร้างรัฐรวบอำนาจ หรือ รัฐเผด็จการ ขึ้นโดยมีสถาบันกษัตริย์(สมัยใหม่) และสถาบันกองทัพเป็นศูนย์กลาง มีบรรดาชนชั้นนำในกองทัพและพ่อค้าใหญ่หากินกับสงครามล่าอาณานิคม

ระบบ Empire ล่าอาณานิคม นี้จะผูกขาดอำนาจและความมั่งคั่งทั้งหมดให้รวมศูนย์อยู่กับกลุ่มผู้มีอำนาจรัฐเท่านั้น

ดังนั้น ในยุคล่าอาณานิคม ความมั่งคั่งจึงกระจุกตัวอย่างยิ่ง และรวมศูนย์อย่างยิ่ง อยู่เพียงเฉพาะกับกษัตริย์และบรรดาชนชั้นนำ (หรือชนชั้นสูง) นายทหารที่มีอำนาจควบคุมเหนือรัฐอาณานิคม

นี่คือ สาเหตุที่มาของ ‘การปฏิวัติประชาธิปไตย’ ซึ่งก่อตัวขึ้นทั่วโลก เพื่อโค่นล้มระบบการเมือง(สามานย์) ดังกล่าว

การปฏิวัติฝรั่งเศส และการปฏิวัติอเมริกา รวมทั้งการปฏิวัติต่อต้านการล่าอาณานิคมของบรรดาประเทศเมืองขึ้นทั้งหลายล้วนสะท้อนภาพการต่อต้านระบบรัฐล่าอาณานิคม และระบอบทุนสามานย์ที่มีอำนาจเหนือ Empireล่าอาณานิคม

การปฏิวัติฝรั่งเศส ที่จริงแล้วไม่ใช่การโค่นล้มสถาบันกษัตริย์แบบศักดินาเก่าๆ ที่หากำไรจากการถือครองที่ดินดังที่คนไทยทั่วไปเข้าใจ แท้จริงคือการโค่นล้มระบอบทุนสามานย์ซึ่งมีสถาบันกษัตริย์(แบบใหม่)เป็นศูนย์กลาง”

ลูกศิษย์ผมดูจะเข้าใจบางสิ่ง เขาถามสวนขึ้น

“อาจารย์กำลังบอกว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสที่แท้แล้วไม่ใช่การปฏิวัติล้มระบอบศักดินาหรือครับ”
ผมพยักหน้า ตอบว่า “ใช่” และขยายความต่อ

เวลาเราพูดถึงระบอบศักดินา เราหมายถึงระบบการผลิตในยุคโบราณ ที่เกิดจากการใช้ที่ดินหรือ เกิดจากเกษตรกรรมโดยมีคนจำนวนหนึ่งถูกเรียกว่า ไพร่ติดที่ดิน คนอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า เจ้านาย (เจ้าของที่ดิน) โดยมีระบอบกษัตริย์แบบศักดินาเป็นศูนย์ของระบบ

ระบอบกษัตริย์ในยุคระบบเศรษฐกิจโลก ไม่ใช่ระบอบศักดินาแบบเก่าอีกต่อไป เพราะระบอบนี้หากินกับรัฐล่าอาณานิคมที่หาความมั่งคั่งจากการปล้นชิงและล่าอาณานิคม

กล่าวอย่างสรุป การปฏิวัติฝรั่งเศส คือการต่อสู้ระหว่างระบอบทุนสามานย์ภายใต้การนำของสถาบันกษัตริย์สมัยใหม่กับทุนระดับชาติ (ทุนระดับกลางและทุนขนาดเล็ก) ที่รวมกำลังกับชนชั้นล่าง (ชาวนา และกรรมกร) โค่นล้มระบอบกษัตริย์และกลุ่มทุนสามานย์

ลูกศิษย์เอ่ยขึ้นว่า

“อย่างนี้...ลัทธิ Marx ก็ทำให้เราเข้าใจเรื่อง ไอ้ตัวชั่วร้าย ผิดตัว ซิครับ

เช่น พวกฝ่ายซ้ายเก่าจะเข้าใจว่าระบบกษัตริย์แบบศักดินา(โบราณ) คือ ไอ้ตัวชั่วร้ายสุดๆ และระบอบทุนนิยมอุตสาหกรรม (สมัยใหม่) คือ ไอ้ตัวชั่วสุดชั่ว

วันนี้ ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่า ไอ้ตัวชั่วร้ายแท้จริง คือ ทุนสามานย์ที่ล่าอาณานิคมและปล้นโลกนี้ทั้งใบ ซึ่งเติบโตขึ้นมาจากการสะสมทุนแบบป่าเถื่อน หรือ Primitive Accumulation นั่นเอง”

เขาได้ตั้งคำถามอีก

“ในปัจจุบัน เมื่อระบอบ Empire ล่าอาณานิคม ซึ่งมีสถาบันกษัตริย์ (สมัยใหม่) เป็นศูนย์อำนาจกลางถูกโค่นลงแล้ว ระบอบทุนสามานย์ หรือ การสะสมความมั่งคั่งแบบป่าเถื่อน ยังดำรงอยู่หรือไม่ครับ”

ผมตอบว่า

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าบรรดาประเทศศูนย์กลางจะเกิดการปฏิวัติประชาธิปไตย ตามด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรม และบรรดาประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นสามารถปลดตัวเองจากการเป็นเมืองขึ้น สำเร็จแล้ว แต่การสะสมความมั่งคั่งแบบป่าเถื่อนก็ยังดำรงอยู่ ปรับเปลี่ยนเพียงรูปแบบไปบ้าง

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐจักรวรรดิ หรือ Empire อเมริกา ได้ก่อตัวขึ้นและมีฐานะเป็นจ้าวโลก พร้อมๆ กับการล่าอาณานิคมสมัยใหม่ Empire นี้ได้กลายเป็นศูนย์ใหม่ที่ให้กำเนิดทุนสามานย์ รูปแบบใหม่

ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศต่างๆ ในยุโรปทำสงครามกัน ทุนสามานย์ได้ก่อกำเนิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทุนแบบนี้ก่อตัวขึ้นจากการผลิตและขายอาวุธ (ขายอาวุธให้ประเทศต่างๆ ในยุโรปที่กำลังทำสงครามกัน) จนร่ำรวยขึ้นอย่างมหาศาล ความมั่งคั่งนี้เองทำให้ทุนสามานย์กลุ่มนี้ได้ขยายอิทธิพลทางการเมือง หรือเริ่มมีอำนาจเหนือรัฐ (อเมริกา) และพรรคการเมืองขึ้นเรื่อยๆ

พอสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมสงครามโลกโดยตรง ส่วนหนึ่งมาจากการผลักดันของกลุ่มทุนสามานย์เพราะรายได้จากการก่อสงครามได้กลายเป็นที่มาของความมั่งคั่งของพวกเขา

หลังสงครามโลก กลุ่มทุนสามานย์กลุ่มนี้ได้สร้างฐานอำนาจกุมเหนือ Empire อเมริกา โดยการผนวกผลประโยชน์และรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันกับสถาบันทางทหาร อย่างเช่น Pentagon และ CIA และประสานประโยชน์กับบรรดาทุนข้ามชาติขนาดใหญ่ กลายเป็นแหล่งการเงินใหญ่ที่สุด จึงมีอำนาจเหนือพรรคการเมืองขนาดใหญ่ของอเมริกา และพัฒนายิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในยุคสงครามเย็น (สงครามค่ายทุนนิยมกับค่ายสังคมนิยม)

ในช่วงสงครามเย็น Empire อเมริกา ได้กลายสภาพเป็น จักรวรรดิด้านทหาร ที่กว้างใหญ่ที่สุดในโลก มีเครือค่ายกองทัพครอบโลก ทุนสามานย์จึงมั่งคั่งอย่างยิ่ง

ที่ไหนเกิดสงคราม ที่นั่นคือ แหล่งก่อกำไรมหาศาล


ดังนั้น สงครามเย็นระหว่าง ค่ายอเมริกา และค่ายสังคมนิยม จึงกลายเป็นรายได้ที่สำคัญ

นอกจากนี้ ทุกแห่งของโลกที่มีทรัพยากรมีค่า อย่างเช่น ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ก็ถูกทำให้เป็นแหล่งที่ก่อเกิดสงครามแย่งชิงทรัพยากรดังกล่าว

หากแหล่งที่เกิดสงครามไม่มีทรัพยากรมีค่า อย่างเช่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ก่อสงครามมีเงินไม่พอที่จะซื้ออาวุธ พ่อค้าอาวุธจะยอมให้แลกซื้ออาวุธกับยาเสพติด จนกลายเป็นที่มาขบวนการค้ายาเสพติดพวกเฮโรอีน หรือโคเคนที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก

ทุนมาเฟียซึ่งค้ายาเสพติดในระดับโลกได้กลายเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับทุนสามานย์

ในสมัยสงครามเวียดนาม รัฐทหารของไทยเองซึ่งกลายเป็นฐานอำนาจทางทหารของ Empire อเมริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แปรสภาพเป็น รัฐค้ายาเสพติด โดยกลายเป็นศูนย์ส่งออกเฮโรอีนจากดินแดนตอนเหนือของประเทศไทยไปขายทั่วโลก

ถ้าเราดูภาพยนตร์เกี่ยวกับการลอบสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี้ เราจะพบว่า ผู้มีอำนาจเหนือ Empire อเมริกา ที่แท้แล้ว ไม่ใช่ตัวประธานาธิบดี แต่คือบรรดากลุ่มทุนสามานย์ CIA และบรรดามาเฟียค้ายาเสพติดระดับโลก

สาเหตุสำคัญที่ประธานาธิบดีเคนเนดี้ถูกฆ่าก็เนื่องจากว่า ท่านไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามเวียดนาม เพราะท่านตระหนักรู้ว่า หากทำสงคราม รัฐอเมริกาต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและอาจจะไม่ชนะ

ลูกศิษย์ถามผมสวนขึ้นว่า

“อาจารย์กำลังจะบอกว่า แม้แต่ สงคราม กับ ผู้ก่อการร้าย ในยุคปัจจุบัน ผู้อยู่เบื้องหลังที่แท้จริง และได้ประโยชน์จริงๆ คือ บรรดาทุนสามานย์ที่มีอำนาจเหนือ Empire อเมริกา ใช่ไหมครับ”

ผมตอบว่า “เข้าใจถูกต้อง” และกล่าวสรุป

“ทุนสามานย์สมัยก่อนเติบโตมาด้วยการทำสงครามปล้นชิงและล่าอาณานิคม ทุนสามานย์ใหม่ใช้ประโยชน์จากการก่อสงคราม การก่อสงครามนั้นไม่เพียงแต่ปล้นความมั่งคั่งจากประเทศโลกที่สาม ผ่านการค้าอาวุธเท่านั้น ทุนนี้ยังสามารถปล้นความมั่งคั่งจาก Empire ของตัวเองโดยตรง ผ่านการปล้นงบประมาณแผ่นดิน” (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น