xs
xsm
sm
md
lg

สงครามครั้งสุดท้าย บทเสนอเรื่อง “การเมืองใหม่” (ตอน 3)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

การสะสมความมั่งคั่งในยุคโลกาภิวัตน์

คุยกันไปมาระหว่างอาจารย์กับศิษย์ สักพักหนึ่งก็มีเพื่อนๆจำนวนหนึ่งเข้ามาร่วมวงสนทนาด้วย

เพื่อนนักวิชาการท่านหนึ่งขอร่วมแลกเปลี่ยน และกล่าวขึ้น

“เดิมที ผมไปหลงเชื่อว่า ระบบทุนนิยมมีพัฒนาการ 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก คือขั้นตอนที่เรียกว่า Primitive Accumulation หรือ การสะสมความมั่งคั่งแบบป่าเถื่อน ต่อมาระบบโลกได้แปรเปลี่ยนสู่ขั้นตอนใหม่ที่เรียกว่า Normal Accumulation หรือ การสะสมทุนแบบปรกติ หรือ การลงทุนทำการผลิตแบบอุตสาหกรรมขั้นตอนสุดท้ายคือ ขั้นที่เรียกว่า Turbo Accumulation หรือ การสะสมทุนแบบติดจรวด(หรือแบบปั่นกำไร)

ผมเริ่มเห็นด้วยกับคุณยุคว่า ที่แท้ การสะสมทุนแบบสามานย์ หรือ Primitive Accumulationสามารถดำรงอยู่มาตลอดและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันโดยมีชีวิตอยู่ที่ใจกลางของระบบรัฐ หรือหากินกับ Empire สมัยใหม่

แต่ผมอยากให้คุณยุค ช่วยชี้ให้เห็นรอยเชื่อมระหว่าง การสะสมทุนแบบป่าเถื่อนอย่างเก่า กับ การสะสมทุนแบบติดจรวดแบบปัจจุบัน ว่าเกี่ยวพันกันอย่างไร”

ผมตอบท่านว่า

ปัจจุบันทุนที่หากำไรแบบป่าเถื่อนหรือสามานย์ กับ ทุนที่หากำไรจากการเก็งหรือปั่นกำไร (Turbo Accumulation)ได้กลายเป็นกลุ่มทุนที่เป็นพันธมิตรใกล้ชัดกันมาก อาจเนื่องจากว่า ทั้ง 2 กลุ่มมีฐานที่กำเนิดเดียวกัน นั่นคือที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ทุนปั่นกำไรนี้มีที่มาจากทุนการเงินประเภทหนึ่งที่เดิมทีแสวงหากำไรจากการลงทุนในตลาดหุ้น การปฏิวัติเทคโนโลยีที่เราเรียกว่า สารสนเทศ ได้มีส่วนอย่างยิ่งช่วยให้ทุนนี้เติบใหญ่ขึ้น และสามารถหากำไรได้จากการปั่นกำไรซึ่งทำได้อย่างไร้พรมแดนจริงๆ

ผมเองชอบเรียกทุนประเภทนี้ว่า ทุนกาฝากทุนนี้กำลังใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ จนมีอำนาจครอบเหนือทุนที่ทำการผลิตจริง และสามารถหันกลับมาทำลายทุนที่ทำการผลิตจริงได้ด้วย

หัวใจของทุนกาฝาก คือ ความโลภ หรือ อภิมหาโลภ

ยิ่งปั่น ยิ่งได้ ยิ่งได้ ก็ยิ่งหาเงินมาปั่น


แหล่งเศรษฐกิจโลกแห่งไหนที่รุ่งเรืองหรือขยายตัว ก็คือ แหล่งที่ทุนกาฝากจะเข้าไปปั่นให้เกิดการขยายตัวเกินจริง ส่งผลทำให้ระบบเศรษฐกิจทั้งระบบขยายตัวแบบฟองสบู่ และในที่สุดก็จะเกิดการแตกของฟองสบู่

ยิ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจพองตัวมากเท่าไหร่ ก็หมายถึงกำไรของทุนนี้มากขึ้นเท่านั้น และในเวลาเดียวกัน ถ้าฟองสบู่แตกรุนแรงมาก ทุนแบบนี้ก็จะหากำไรได้มากอีกเช่นกัน

อย่างเช่น การเข้าไปทำสงครามค่าเงิน และการเข้าไปเทคโอเวอร์บรรดากิจการที่ล้มละลาย (ในราคาถูกๆ) แล้วหลังจากนั้น บรรดาทุนนี้ก็จะพยายามปั่นให้ระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศฟื้นตัวและพองตัวขึ้นอีก เพื่อหากำไรครั้งใหม่

ทุนนี้จะมีอัตราการขยายตัวรวดเร็วมาก เพราะสามารถหากำไรได้มากกว่าการลงทุนทำการผลิตโดยทั่วไป ดังนั้น บรรดานายทุนระดับชาติ คนชั้นกลาง และคนจนๆ ก็พลอยถูกลากให้ ‘หลง’ หรือ ‘คลั่ง’ ความรวยไปด้วย

แม้แต่รัฐเองก็ต้องใช้นโยบายตลาดเสรี เพื่อเปิดให้มีการปั่นกำไรได้อย่างอิสระ และรัฐก็ทำหน้าที่กระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจตลอดเวลา ด้วยสิ่งที่เรียกว่า การกระตุ้นการบริโภค การสร้างอภิมหาโครงการ การปล่อยกู้ด้วยดอกเบี้ยต่ำ หรือการใช้เงินอนาคต

นี่คือ ที่มาของ Quick Cash และ Easy Money รวมทั้งนำมาซึ่งการขยายตัวอย่างรวดเร็วของหนี้สินทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

พอฟองสบู่แตก ระบบเศรษฐกิจจริงจะทรุดตัวอย่างหนัก รัฐเองก็จะถูกบังคับให้เอางบประมาณแผ่นดินมาแบกรับกิจการขนาดใหญ่ที่กำลังจะตาย ในขณะที่ค่าเงินก็ทรุดหนัก ผู้คนนับล้านๆ จะพากันล้มละลาย

ถ้าเราศึกษา ‘วิถี’ หรือ ‘เส้นทาง’ การเคลื่อนตัวของทุนโลกาภิวัตน์ จะพบว่า แหล่งปั่นที่สำคัญคือ จุดที่เศรษฐกิจขยายตัว

ดังนั้น ‘ความเจริญ’ กับ ‘หายนะ’ จึงกลายเป็น 2 ด้านของความเป็นจริงที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

อย่างเช่น ในช่วง ค.ศ. 1980 ถึง 90 จุดขยายตัวใหญ่ของเศรษฐกิจโลกคือ ประเทศญี่ปุ่น และในที่สุด ค.ศ. 1990 ฟองสบู่ญี่ปุ่นก็แตก ต่อมาจุดที่รุ่งเรืองใหญ่ขึ้นแทนคือ กลุ่มประเทศเสือเศรษฐกิจใหม่ย่านเอเชีย พอถึง ค.ศ. 1997 ก็เกิดการแตกตัวของฟองสบู่ครั้งใหญ่ที่มีชื่อเรียกว่า วิกฤตต้มยำกุ้ง หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จุดขยายตัวใหญ่ต่อมาของเศรษฐกิจโลกคือ สหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจอเมริกาขยายตัวใหญ่ได้ประมาณ 3 ปี ฟองสบู่ก็แตกใหญ่อีกใน ค.ศ. 2001 (คือการทรุดตัวลงของสินค้าไฮเทค กับการปั่นเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า E-Economy)

การแตกของฟองสบู่ และ การทรุดตัวของเศรษฐกิจ ครั้งนี้ได้มีส่วนผลักให้ชนชั้นนำอเมริกันแก้วิกฤติด้วยยุทธศาสตร์สงคราม (สงครามผู้ก่อการร้าย) เพื่อกระตุ้นการผลิตอาวุธและการขยายตัวด้านการค้าอาวุธ ซึ่งถือเป็นธุรกิจหัวใจของสหรัฐอเมริกา และกระตุ้นการขยายตัวของการลงทุนด้วยการลดดอกเบี้ย

หลังอเมริกาเปิดสงครามกับอิรัก บรรดาทุนปั่นกำไรก็หันมาจับมือกับทุนค้าสงครามและทุนค้าน้ำมันโลกร่วมกันหากำไรด้วยการปั่นราคาน้ำมัน รวมทั้งปั่นราคาแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในการผลิต อย่างเช่น เหล็กกล้า และทองแดง ส่งผลทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกทั้งระบบปั่นป่วนจนถึงทุกวันนี้

กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ชนชั้นนำอเมริกันได้ใช้ทุนสามานย์แบบใหม่เป็น ‘พลังอำนาจใหม่’ รวมกำลังกับทุนสามานย์แบบเก่า ร่วมกำลังกันก่อสงครามในรูปแบบใหม่ (สงครามเศรษฐกิจ และสงครามค่าเงิน) เพื่อยึดครองโลกและปล้นโลก อีกทางหนึ่ง

การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน จึงกลายเป็นการปล้นโลกแบบใหม่ และในเวลาเดียวกันคือ “การก่อสงครามทางเศรษฐกิจครั้งใหม่” มีเจตนาเพื่อสกัดกั้นการขยายตัวของจีนและเอเชีย เพราะการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจดังกล่าวต้องพึ่งพาหรือใช้น้ำมันอย่างสูงมาก ส่งผลต่อมาทำให้เกิดการแพร่ระบาดของปัญหาเงินเฟ้อและเงินฝืดครั้งใหญ่ในเอเชีย

ผู้นำสหรัฐฯ หวังว่า หากสามารถทำให้ฟองสบู่แตกรอบใหม่ที่ จีน หรือ เอเชีย สหรัฐอเมริกาก็จะกลับมายิ่งใหญ่เหนือระบบโลกอีกครั้งหนึ่ง


เพื่อนกล่าวขึ้นว่า

“ถ้าเป็นอย่างนี้ อีกไม่นาน...โลกทั้งใบจะไม่วิกฤตไปทั่วหรือ”

ผมขยายความต่อ

เนื่องจาก ความใหญ่และอัตราการขยายตัวของทุนปั่นกำไรนี้รวดเร็วมาก สามารถทำกำไรได้แบบติดจรวด (Turbo)ด้านหนึ่งได้ส่งผลทำให้ทุนเก็งกำไรกลายเป็นทุนที่มีอำนาจเหนือการเคลื่อนตัวของระบบเศรษฐกิจโลกทั้งระบบ อีกด้านหนึ่ง ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของอเมริกาซึ่งเป็นศูนย์ของระบบโลกแปรสภาพเป็นเศรษฐกิจเก็งกำไร

สิ่งสำคัญ ทุนนี้ได้กลายเป็น ‘พลังอำนาจใหม่’ที่ใหญ่ และใหญ่เกินกว่าที่ใครๆ หรือแม้แต่ Empire อเมริกาจะควบคุมหรือกำหนดทิศทาง

ทุนเก็งกำไร เฉพาะที่ลงทุนในอเมริกา ปัจจุบันมีขนาดใหญ่กว่าผลผลิตรวมของอเมริกาประมาณ 4 เท่า ทุนปั่นกำไรเมื่อเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็จะต้องหาจุดทำกำไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นที่ใดในโลก

ที่ผ่านมา ทุนปั่นกำไรนี้ไม่ได้เคลื่อนไปหากำไรเฉพาะกับการเก็งกำไรน้ำมันและแร่ธาตุที่ใช้ในการผลิตเท่านั้น แต่ได้หันไปเก็งกำไรกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกด้วย เพราะการเก็งกำไรแบบนี้ทำง่ายๆ สหรัฐเอมริกาและยุโรปเองจึงกลายเป็นแหล่งปั่นกำไรอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่

นี่คือที่มาของ ‘หายนะ’ หรือ ‘ฟองสบู่แตกครั้งใหม่’ หรือเรียกว่า ‘วิกฤตซับไพรม์’

ลูกศิษย์ถามผมขึ้นว่า

“วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้เริ่มจากการปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์ใช่ไหมครับ”

ผมกล่าวเตือนว่า

“อย่ามองวิกฤตอย่างเป็นภาพเฉพาะจุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น เราจะหลงทาง ต้องมองจากภาพรวม

เราจะเห็นว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไม่ได้เริ่มจากวิกฤตซับไพรม์ แต่มีหลายลูกวิกฤตที่ก่อตัวขึ้นในเวลาใกล้ๆ กัน

เริ่มจากวิกฤตน้ำมัน และการไหลขึ้นของราคาวัสดุที่ใช้ในการผลิต ตามด้วยการลดลงของค่าเงินดอลลาร์ ตามต่อด้วยวิกฤตเงินฝืดและวิกฤตเงินเฟ้อในเวลาเดียวกัน และล่าสุด วิกฤตฟองสบู่อสังหาแตก

นอกจากนี้ที่กล่าว เรายังต้องเผชิญวิกฤตสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ที่กระหน่ำเข้ามาเป็นช่วงๆ แต่ละครั้งดูหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ

มองภาพรวม น่าจะประเมินได้ว่า นี่คือ ‘วิกฤตใหญ่’ ใหญ่มากๆ และแก้ไม่ได้ในระยะเวลาสั้นๆ

ถ้าเราใช้วิธีการมองแบบลูกคลื่นวิกฤต คลื่นวิกฤตใหญ่นี้น่าจะเคลื่อนตัวลงไปยาว อย่างน้อยจะกินเวลานับ 10 ปี ในช่วงลูกคลื่นขาลงยาวนี้ จะมีช่วงการทรุดตัวหนัก หรือ มีวิกฤตใหญ่ๆ แทรกเป็นระลอกๆได้

ถ้าวิกฤตครั้งนี้แสดงตัวเป็นคลื่นลูกยาวจริงๆ ก็จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ครั้งประวัติศาสตร์ของโลกได้

วันนี้ ผมคงมีเวลาไม่มากพอจะอธิบายเรื่องวิกฤตในลักษณะลูกคลื่นยาวได้ ไว้โอกาสหน้าที่พบกัน ผมจะคุยเรื่องนี้ให้ฟัง”

ผมก็ขอตัวกลับ แต่ก่อนลาจาก ลูกศิษย์และเพื่อนๆ ผมได้นัดแนะกัน พวกเขาอยากจะจัดรายการพูดคุยแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัจจุบันที่บ้านเพื่อนแห่งหนึ่ง และจะขอให้ผมช่วยนำเสนอเรื่อง วิกฤตการเมืองไทย เรื่องการมองวิกฤตแบบคลื่นลูกยาว รวมถึงอยากจะขอให้ผมเสนอทางออกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเมืองใหม่ (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น