xs
xsm
sm
md
lg

ราคาน้ำมันพุ่งพรวดทะลุ $100 หลังสหรัฐฯ ทุ่มเงินอัดฉีดสภาพคล่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี - ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทะยานทะลุระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้วในวันพฤหัสบดี (17) หลังราคาพุ่งพรวดกว่า 6 ดอลลาร์เมื่อวันพุธ (16) โดยได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลกประกาศทุ่มเงินก้อนมหึมาอัดฉีดสภาพคล่องในตลาดการเงิน ขณะที่อุตสาหกรรมพลังงานของสหรัฐฯ ซึ่งต้องหยุดงานชั่วคราวเพื่อหลีกเลียงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากพายุเฮอริเคนไอค์ ได้เริ่มเปิดดำเนินการตามปกติ

ราคาน้ำมันในตลาดโลกดีดกลับขึ้นมาอีกครั้ง หลังการกระหน่ำเทขายตลอดช่วง 2 วันที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดิ่งลงฮวบฮาบที่สุดในรอบ 4 ปี ท่ามกลางวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ที่สร้างความหวาดผวา ว่า ปริมาณความต้องการน้ำมันจะทรุดตัวลงอีก จนนักลงทุนพากันถอยห่างจากตลาดพลังงาน และแห่ไปลงทุนในตลาดที่ปลอดภัยกว่า เช่น ตลาดพันธบัตร และทองคำ

เมื่อวันพุธ (17) สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ ปิดที่ 97.16 ดอลลาร์ พุ่งพรวดขึ้น 6.01 เหรียญ โดยถือเป็นราคาที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดภายในวันเดียวนับตั้งแต่ 3 เดือนที่ผ่านมา ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์สูงขึ้น 5.62 ดอลลาร์ ปิดที่ 94.84 ดอลลาร์

ต่อมาระหว่างการซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในวันพฤหัสบดี (18) สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบไลต์สวีตครูดยังขยับขึ้นมา 2.62 ดอลลาร์ สู่ระดับ 98.78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ณ เวลา 12.05 น.จีเอ็มที (ตรงกับ 19.05 น. เมืองไทย) โดยในช่วงหนึ่งของการซื้อขายระหว่างวัน ได้ขึ้นไปอยู่ที่ 100.10 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์ของลอนดอนก็พุ่งขึ้น 2.51 ดอลลาร์ อยู่ที่ 97.35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันขยับขึ้นครั้งนี้ สืบเนื่องจากวานนี้ (18) ธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลกประกาศทุ่มเงินก้อนมหึมาจำนวนกว่า 180,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องในตลาดการเงิน อันเป็นความพยายามที่จะลดภาวะระส่ำระส่ายทางการเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาตรการล่าสุดดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดหุ้น และน้ำมันเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง

“ราคาน้ำมันพุ่งติดจรวดขนาดนี้ ล้วนแล้วแต่มาจากปัจจัยในตลาดการเงิน มากกว่าปัจจัยพื้นฐานต่างๆ เสียอีก นอกจากนี้ การที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงดูเหมือนยิ่งจะดันให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นอีก" โทนี มาชาเซค โบรกเกอร์จากบาเช คอมโมดีตีส์

นักวิเคราะห์หลายคน มองว่า การซื้อขายน้ำมันจะยังดำเนินอยู่อย่างลุ่มๆ ดอนๆ ต่อไป ขณะที่การเคลื่อนไหวในตลาดการเงินทั่วโลกจะอยู่เหนือปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ด้านดีมานด์และซัปพลาย

“ท่ามกลางวิกฤตการเงินที่เผชิญอยู่ตอนนี้ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงขึ้นอยู่กับปัจจัยพิเศษจากภายนอกที่จะโหมกระแสคลื่นการซื้อขาย มิใช่จากปัจจัยพื้นฐานหลักของสินค้าแต่ละชนิด” โอลิวิเออร์ จาคอบ นักวิเคราะห์จากปิโตรมาทริกซ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น