xs
xsm
sm
md
lg

กระบวนการประชาภิวัฒน์

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

การเมืองใหม่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ปฐมบท

นับตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้นำมวลชนจำนวนหนึ่ง ชุมนุมเดินขบวนต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลที่พรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำ พร้อมกับประกาศทำ “สงครามครั้งสุดท้าย” จนกระทั่งถึงวันนี้ ผลปรากฏว่า ได้สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ขบวนการการเมืองภาคประชาชนนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้พัฒนาเติบใหญ่อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็น “อำนาจการเมือง” สำคัญระดับชาติไปแล้วโดยปริยาย

“อำนาจการเมือง” ของประชาชนดังกล่าว เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันเข้าของประชาชนชาวไทยทุกชนชั้น ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกสาขาอาชีพ และทุกเพศทุกวัย ดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้การนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงมีความเป็น “อำนาจประชาชน” อย่างแท้จริง

อำนาจประชาชนนี้ ก่อตัวขึ้นบนฐานร่วมกัน นั่นคือความรักในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ด้วยเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะปฏิรูปการเมืองของประเทศไทย ต่อสู้เอาชนะและขุดรากถอนโคนอำนาจกลุ่มทุนสามานย์ในระบอบทักษิณ รากเหง้าของระบบเผด็จการรัฐสภา แล้วสถาปนาอำนาจประชาชนเข้าแทนที่ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริงในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จากนี้ ได้พิสูจน์ถึงความถูกต้องของแนวคิดชี้นำ แนวทางปฏิบัติ และยุทธศาสตร์ยุทธวิธี ดังนี้

1.ขบวนการการเมืองภาคประชาชน นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็น “เจ้าภาพตัวจริง”

2. อำนาจประชาชนคือปัจจัยชี้ขาด

3. จักต้องสถาปนาอำนาจประชาชนแทนที่อำนาจทุนสามานย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

4. จุดเทียนปัญญา เอาธรรมนำหน้า สันติอหิงสา อารยะขัดขืน เป็นต้น

5. ยืนหยัด “รุก – ยัน – ขยาย –รุก”

ด้วยการนำที่ถูกต้อง แกนนำพันธมิตรฯ สามารถนำมวลชนดำเนินการเคลื่อนไหวต่อสู้เอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้ทีละเปราะๆ สร้างความเชื่อมั่นศรัทธาและขวัญกำลังใจให้แก่มวลชนทั้งใกล้และไกลได้อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถตีโต้การโจมตีจากฝ่ายต่างๆได้อย่างงดงาม ใน 2 เรื่องใหญ่ๆด้วยกัน

เรื่องที่หนึ่ง เมื่อแกนนำพันธมิตรฯ ประกาศยกระดับการต่อสู้จากการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นให้รัฐบาลลาออก ถูกโจมตีว่า “ได้คืบเอาศอก” ขาดความชอบธรรมที่จะชุมนุมต่อไป แต่ด้วยความยืนหยัดของแกนนำ และการให้การศึกษาแก่มวลชนอย่างจริงจัง โดยดัดแปลงการชุมนุมให้เป็นโรงเรียนการเมือง เรียกว่า “มหาวิทยาลัยราชดำเนิน” เร่งอธิบายให้เห็นถึงความจริงที่รัฐบาลโดยพรรคพลังประชาชนมิได้ “ถอย”แต่ประการในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็โหมเปิดโปงพฤติกรรมฉ้อฉลของคณะรัฐมนตรีในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง สร้างความมั่นใจในความถูกต้องของการนำโดยแกนนำพันธมิตรฯ ในหมู่มวลชนทั้งในและต่างประเทศ สยบเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนและนักวิชาการจำนวนหนึ่งลงไปได้

เรื่องที่สอง เมื่อแกนนำพันธมิตรฯ เริ่มนำเสนอแนวคิดเรื่อง “การเมืองใหม่” (เริ่มเสนออย่างไม่เป็นทางการในราวต้นเดือนกรกฎาคม 2551 โดยคุณสนธิ ลิ้มทองกุล) ได้สร้างความฮือฮาไปทั่วในแวดวงนักการเมือง นักวิชาการ และสื่อสารมวลชน เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมต่างๆอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่รู้สึกข้องใจ โดยเฉพาะเรื่องสัดส่วนของผู้แทนที่จะเข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎร (ร้อยละ 30 มาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 70 มาจากการคัดสรร) มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบทั้งจากนักวิชาการและสื่อ และสร้างความกังขาให้แก่พรรคการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน

กระทั่งทุกวันนี้ พวกเขาก็ยังคงรุกไล่เค้นคำตอบจากแกนนำพันธมิตรฯ อย่างไม่ลดละ ทำให้ฝ่ายพันธมิตรฯ ตกอยู่ในฐานะถูกกระทำ อยู่ในท่าตั้งรับโดยตลอด แม้จะมีความพยายามจากหลายๆ ฝ่าย ทำการอธิบายในเรื่องดังกล่าวนี้ แต่ก็ยังไม่อาจ “เคลียร์” ความข้องใจได้

ในเรื่องนี้ นักการเมืองในฝ่ายรัฐบาล ทั้งในพรรคพลังประชาชนและในพรรคร่วมรัฐบาลบางคน รวมทั้งนักการเมืองบางคนในอดีตพรรคไทยรักไทย เช่นนายจาตุรนต์ ฉายแสง และนายอดิศร เพียงเกษ เป็นต้น ได้หยิบเอาเรื่องนี้มาโจมตีพันธมิตรฯ ว่าปฏิเสธการเมืองในระบบ มุ่งสร้างการเมืองใหม่ที่เป็นการเมืองนอกระบบ ไม่เป็นประชาธิปไตย ตรงกันข้ามกับพวกเขาที่ยึดมั่นการเมืองในระบบ มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เราสามารถอธิบายชี้แจงและตอบโต้ข้อกล่าวหาของพวกเขาได้ดังนี้

สิ่งที่เขาเรียกกว่าการเมืองในระบบ และเป็นประชาธิปไตย ก็คือการเมืองที่มีการเลือกตั้ง ใช้การเลือกตั้งเป็นตัววัดเพียงหนึ่งเดียวของความเป็นประชาธิปไตย ตรงนี้ เราสามารถตอบโต้เขาได้ไม่ยาก ซึ่งหลายๆ ท่านก็ได้ตอบโต้ไปแล้วว่า การเลือกตั้งที่พวกเขาอ้างอิงนั้น แท้จริงแล้วก็คือการเลือกตั้งแบบซื้อเสียง เข้าข่าย “การเลือกตั้งแบบโกง” ที่มาของพวกเขาจึงไม่ชอบธรรม เพราะมาด้วยการซื้อเสียง โกงการเลือกตั้ง จนอาจต้องถูกศาลรัฐธรรมพิพากษายุบพรรคตามอย่างพรรคไทยรักไทย

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่พวกเขาบอกว่าการเมืองที่มีการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์จึงจะมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ในความเป็นจริงก็ยืนไม่ติด เพราะการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบันอำนาจทุนสามานย์ในระบอบทักษิณเป็นผู้กำหนดทิศทางการเมืองประเทศไทย โดยธาตุแท้แล้วก็คือเผด็จการรัฐสภาร้อยเปอร์เซ็นต์ หาใช่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยแต่ประการใดไม่

จากนี้ ย่อมส่อแสดงว่า สิ่งที่พวกเขายึดมั่นและพยายามยัดเยียดให้กับคนไทยทั้งประเทศนั้น แท้จริงแล้วก็คือ ระบบเผด็จการรัฐสภาภายใต้การกำกับของทุนสามานย์ในระบอบทักษิณ เป็นประชาธิปไตยแต่เปลือก แต่โดยเนื้อแท้แล้วหามีความเป็นประชาธิปไตยแต่ประการใดไม่

ที่อันตรายยิ่งกว่านั้น ก็คือ การที่พวกเขาติดยึดอยู่ในอำนาจทุนสามานย์ ใช้อำนาจทุนสามานย์กำหนดทิศทางพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย จึงมีแนวโน้มที่จะสถาปนาระบอบทักษิณที่เป็นเผด็จการรัฐสภาขึ้นแทนที่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด ซึ่งหมายความว่า พวกเขามีเจตนาล้มล้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั่นเอง

ตรงกันข้าม การเมืองใหม่ที่นำเสนอโดยแกนนำพันธมิตรฯ มุ่งสถาปนาอำนาจประชาชนเข้าแทนที่อำนาจทุนสามานย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความเป็นประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะทุกอย่างตั้งอยู่บนฐานของผลประโยชน์ประชาชน ส่วนการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภานั้น จะได้มาด้วยวิธีใด รูปแบบใด ก็ขึ้นกับผลการปรึกษาหารือกันในระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับพรรคการเมือง และกลุ่มตัวแทนจากทุกสาขาอาชีพ อันเป็นกระบวนการที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่งอยู่ในตัว เพื่อให้ได้วิธีการและรูปแบบที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของประเทศไทย สามารถยังประโยชน์สูงสุดแก่ประปวงชนชาวไทย

ทั้งนี้ อำนาจประชาชนคือหัวใจของการเมืองใหม่ หาใช่วิธีการหรือรูปแบบการได้มาซึ่งตัวแทนหรือสมาชิกสภาฯ แต่ประการใดไม่ เมื่ออำนาจประชาชนสามารถแสดงบทบาทเป็นตัวกำหนดทิศทางและรูปแบบวิธีการของการเมืองใหม่ได้อย่างแท้จริงแล้ว ย่อมเป็นหลักประกันได้ว่า การเมืองใหม่จะมีความเป็นประชาธิปไตยเต็มร้อย จะสามารถเอื้อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างไม่ต้องสงสัย

กระบวนการประชาภิวัฒน์มีฐานยึด 3 ประการ

การเมืองใหม่คือการเมืองของประชาชน การสร้างอำนาจประชาชนจึงเป็นภารกิจพื้นฐานตั้งแต่ต้นจนจบของกระบวนการประชาภิวัฒน์

ด้วยเหตุนี้ กระบวนการประชาภิวัฒน์จักดำเนินไปด้วยดี ก็ต้องยึดมั่นในแนวคิดชี้นำ 3 ประการ คือ

1. ขบวนการการเมืองภาคประชาชน นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คือ “เจ้าภาพตัวจริง” ในการสร้างอำนาจประชาชนขึ้นมา เพื่อต่อสู้เอาชนะอำนาจทุนสามานย์

2. ภารกิจพื้นฐานของขบวนการการเมืองภาคประชาชนนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคือ การสร้างอำนาจประชาชน โดยมุ่งสร้างอำนาจทางปัญญาเป็นสำคัญ

3. จุดมุ่งหมายของการสร้างอำนาจประชาชนอยู่ที่ต่อสู้เอาชนะอำนาจทุนสามานย์ สถาปนาอำนาจประชาชนแทนที่อำนาจทุนสามานย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้การเมืองใหม่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความเป็นประชาธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริง ยังประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง สร้างความมั่นคงให้แก่สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง

ปัจฉิมบท

หลักประกันชัยชนะของการเมืองภาคประชาชน อยู่ที่การนำ ซึ่งก็คือการนำของแกนนำทั้งห้าของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ความเติบใหญ่ของขบวนการการเมืองภาคประชาชนในวันนี้ ย่อมเป็นข้อพิสูจน์ชัดว่า แกนนำทั้งห้าเป็นกลุ่มผู้นำที่ปรีชาสามารถ มีความเสียสละ ใกล้ชิดมวลชน เป็นที่รักเคารพและเชื่อมั่นศรัทธาอย่างยิ่งของมวลชนทั้งใกล้และไกล
กำลังโหลดความคิดเห็น