xs
xsm
sm
md
lg

"เรืองไกร"ส่อหลุดเก้าอี้ ส.ว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เรืองไกร” ส่อหลุดเก้าอี้ ส.ว. หลัง กกต.มีมติส่งเรื่องให้ศาล ตีความองค์กรที่ส่งชื่อเข้าสรรหาไม่มีคุณสมบัติตาม กม.กำหนด “มาร์ค” พร้อมแจงศาล หลัง ส.ว.จอมแฉส่งเรื่องให้ตรวจสอบการได้มาซึ่งอำนาจ ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ด้าน “ถาวร” ยัน กม.ไม่ได้ห้ามคนถูกตัดสิทธิทางการเมืองพูดคุยกับ กก.บห.พรรคการเมืองใด เชื่อการยื่นเรื่องให้ดำเนินการไม่มีผลต่อ ปชป. ส่วนส.ว.ฉะ ส.ส.เพื่อไทยทำไม่เหมาะส่งเรื่องให้ไอพียู ประฌามรัฐบาลแถลงนโยบายนอกสภา ระบุเข้าตำรา “ขี้แพ้ชวนตี”

นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต. ด้านสืบสวนสอบสวน กล่าวถึงกรณีที่ กกต.มีมติ ด้วยเสียงข้างมาก ให้ส่งเรื่องนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว. สรรหา ให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความ ถึงที่มาว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เนื่องจากกรณีดังกล่าวได้มีคนร้องเข้ามา ให้ตรวจสอบองค์กรที่เสนอรายชื่อนายเรืองไกร เข้ามาสรรหา ส.ว. เป็นนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งตามกฎหมายระบุว่าองค์กรที่สามารถเสนอชื่อได้นั้นต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายหรือเป็นนิติบุคคลที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมาย ให้จัดตั้งขึ้นในราชอาจาจักรมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และต้องไม่ใช่องค์กรที่แสวงหาผลกำไร หรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่นิติบุคคลอาคารชุดที่เสนอชื่อนายเรืองไกรนั้นถูกบัญญัติขึ้นตาม พ.ร.บ.อาคารชุด เพื่อให้เป็นผู้ดูแลถือกรรมสิทธิ์หรือทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุดนั้นๆ ซึ่ง กกต.เห็นว่า ไม่น่าจะมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด

นายสมชัย กล่าวว่า ในการพิจารณานายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ไม่ได้เข้าร่วมประชุมเนื่องจากว่าเป็น1 ในคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ในขณะนั้น จึงมี กกต.เพียง 4 คนเท่านั้น โดยที่ประชุมมีมติ 2 ต่อ 2 ทำให้คนที่เป็นประธานในวันนั้น ต้องใช้สิทธิ์อีกครั้งในการลงคะแนน ทำให้มีเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 ให้ส่งศาล พิจารณา เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการร่างคำร้องส่งศาลอยู่ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ซึ่งก็ต้องไปดูข้อกฎหมายและนำเข้าที่ประชุมกกต.อีกครั้งเพื่อมีความชัดเจนในการส่งศาลอีกครั้ง

"ส่วนตัวเห็นว่านายเรืองไกรเป็นคนตั้งใจทำงาน แต่กรณีนี้มีการถกเถียงกันในข้อกฎหมายว่านิติบุคคลอาคารชุดจะเป็นองค์กรที่มีสิทธิ์เสนอรายชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว.หรือไม่ ซึ่งมีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย จึงเสนอเรื่องให้ศาลตีความ เพราะอยากให้เป็นบรรทัดฐาน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล เพราะนายเรืองไกรมีคุณสมบัติที่จะเป็นส.ว.ได้ หากมีการเปิดรับการสรรหาใหม่ นายเรืองไกรก็มีสิทธิ์ถูกเสนอชื่อได้อีก เพราะไม่ได้เป็นการตัดสิทธิ์ เพียงแต่องค์กร ที่ส่งมาไม่ถูกต้องเท่านั้น ก็สามรถถูกเสนอชื่อส่งเข้ามาใหม่ได้"

สำหรับขั้นตอนการสรรหารายชื่อทั้งหมดต้องผ่านการพิจารณาของ กกต. ก่อนที่จะมีการสรรหาทำไมเกิดปัญหา นายสมชัย กล่าวว่า ตามกฎหมายให้สำนักงานกกต.ทำหน้าที่เป็นเลขาฯ ของคณะกรรมการสรรหาฯ แต่การสรรหาในครั้งแรกถือเป็นเรื่องใหม่ มีองค์กรที่เสนอชื่อเข้ามาจำนวนมาก ประกอบกับมีเวลาในการสรรหาน้อย อาจจะดูไม่ทั่วถึง

"มาร์ค"พร้อมแจงคำร้อง"เรืองไกร"

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการได้มา ซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศมิได้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ยังไม่ได้รับเรื่องมา ถ้าได้รับเรื่อง เรามีหน้าที่ไปชี้แจง

ยันทำกิจกรรมกับคนถูกตัดสิทธิไม่ผิด

ด้าน นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย กล่าวถึงการถูกเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจาก ร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองกับบุคคลที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองว่า กฎหมายไม่ได้ห้ามไม่ให้ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองคบค้าหรือไม่ให้พูดจากับใคร หรือไม่ให้แสดงความเห็นทางการเมือง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นกรรมการบริหารพรรคการเมืองสามารถพูดคุยกับบุคคลเหล่านี้ได้ ทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องของบ้านเมือง โดยไม่ถือเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคได้

"ผมศึกษากฎหมายมาอย่างดีแล้วเห็นว่าการยื่นเรื่องดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคก็ไม่ต้องเตรียมตัวหรือจัดทีมงานทางกฎหมาย เพื่อรองรับเรื่องเหล่านี้"

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ฮั้วเลือกตั้งซ่อมกับพรรคร่วมรัฐบาลนั้น นายถาวร กล่าวว่า ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วว่าพรรคการเมืองสามารถส่งหรือไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งก็ได้ ดังนั้นการกระทำของพรรคจึงไม่ได้เป็นการฮั้ว แต่เห็นว่าถ้าส่งผู้สมัครลงไปก็คงจะสู้ได้ยาก จะเปลืองค่าใช้จ่ายไปทำไม จึงถือว่าข้อกล่าวหาที่ว่ามีการฮั้วการเลือกตั้งเป็นการคิดกันเอาเอง

ส่วนกรณีที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย ขู่ว่ารัฐบาลอาจจะไม่รอดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพราะมีเสียงปริ่มน้ำ นายถาวรกล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ใช่อยู่ที่ว่าเสียงของรัฐบาลจะน้อยกว่าฝ่ายค้านไม่ได้ แต่อยู่ที่ว่าเสียงของฝ่ายค้านจะต้องมีเสียงไม่ไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดที่มี ถ้าเป็นอย่างนั้นรัฐบาลจะต้องลาออก ดังนั้นจึงขอขอบคุณข้อห่วงใยของ ร.ต.อ.เฉลิม แต่รัฐบาลมั่นใจว่าไม่น่าจะมีปัญหา โดยรัฐบาลจะกำกับกันเองไม่ให้ ส.ส.ขาดประชุม ทุกคนต้องยึดถือวินัย แต่ก็ยอมรับว่าการที่รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ ประกอบกับมีส.ส.ไปเป็นรัฐมนตรีเกือบ 30 คน อาจจะส่งผลเรื่องการพิจารณากฎหมาย ของสภา ดังนั้นส.ส.ทุกคนจะต้องมีวินัยในการเข้าประชุมสภา

ส.ว.ไม่ร่วมส่งไอพียูประฌามรัฐบาล

นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี แกนนำกลุ่ม ส.ว.เลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะทำหนังสือประณามประธานรัฐสภา และรองประธานสภาต่อสหภาพรัฐสภาโลก(ไอพียู) กรณีการย้ายสถานที่แถลงนโยบายรัฐบาลจากรัฐสภาไปเป็นกระทรวงต่างประเทศเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ว่า เรื่องการย้ายสถานที่เป็นเรื่องของความจำเป็นเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติแต่ไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วย แต่เป็นการเข้าใจสถานการณ์มากกว่า และเรื่องนี้ผู้ที่จะตัดสินได้ดีที่สุดคือศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ประเด็นที่จะมาพูดและตัดสินกันเอง

หากฝ่ายค้านเห็นว่า ไม่ถูกต้องก็ควรส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ส.ว.คงไม่ส่งเรื่อง ประณามใคร ส่วนข่าวเรื่องการเปลี่ยนตัวประธานวุฒิสภานั้นยังไม่มีอะไร ซึ่งนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ได้แสดงวิสัยทัศน์ตอนลงสมัครแข่งขันตอนลงสมัครแข่งขันประธานวุฒิสภาว่า จะให้มีการประเมินงานของทุกปีที่อยู่ในตำแหน่ง และขณะนี้ยังไม่ถึงเวลานั้น

ย้ำย้ายที่แถลงนโยบายไม่น่ามีปัญหา

ด้านนาย ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า การประชุมวันแถลงนโยบายไม่เห็นมีปัญหาอะไร ทั้งนี้ส.ว.ที่ไม่ได้มาประชุม เท่าที่ทราบจากข่าวก็เห็นว่า มีเจตนาไม่ให้ประชุมอยู่แล้วไม่ใช่หรือ ส่วนข้อสงสัยเรื่องการเซ็นชื่อเข้าห้องประชุมนั้น ส.ว.ได้เซ็นทั้งที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา อาคารสุขประพฤติ ถนนประชาชื่น และขึ้นรถมาพร้อมกันเป็นขบวน และมาเซ็นชื่อกันอีกครั้งที่กระทรวงการต่างประเทศในช่วงก่อนเริ่มประชุม และส.ว.ที่มาแถลงที่สภา บางส่วนในนั้นก็ตามไปประชุมที่กระทรวงการต่างประเทศ ฉะนั้นไม่มีอะไรผิดปกติ แต่ถ้ายังสงสัยเรื่องอค์ประชุมก็สามารถสอบถามเลขาธิการวุฒิสภาได้เลย ไม่ต้องรอถามประธานวุฒิสภาในฐานะรองประธานรัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภาครั้งต่อไป เพราะอีกตั้งนานกว่าจะมีการประชุมวุฒิสภา ทั้งนี้เพื่อทำให้ข้อสงสัยกระจ่าง

ส่วนที่ส.ส.พรรคเพื่อไทย เตรียมทำหนังสือประณามประธานรัฐสภาและรอง ต่อสหภาพรัฐสภาโลก(ไอพียู)กรณีการย้ายสถานที่ประชุมรัฐสภาเพื่อรับฟังคำแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.นั้น ผู้ยื่นคงต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเอง อย่างไรก็ดี อาจโดนมองว่า ขี้แพ้ชวนตีหรือไม่

"ส่วนที่ประธานรัฐสภา เป็นประธานคนเดียวกันกับการประชุมแถลงนโยบาย ของรัฐบาลที่แล้วกับรัฐบาลใหม่ ที่เมื่อวันที่ 7 ตุ.ค.ยื่นยันว่า ย้ายไม่ได้ แต่มาคราวนี้กลับสั่งย้ายที่ประชุมนั้น ผมมองว่า มันต้องดูองค์ประกอบด้วย เพราะรัฐบาลที่แล้วดึงดันจะแถลงให้ได้ ประธานคนเดียวทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ต่อมาตำรวจก็ทำรุนแรงกับประชาชน ซึ่งตำรวจก็ขึ้นกับรัฐบาล รัฐบาลจึงต้องรับผิดชอบ มาคราวนี้รัฐบาลใหม่ หาวิธีเลี่ยงความรุนแรง ทางออกจึงเป็นแบบนี้ ก็ยิ่งพิสูจน์ว่า คราว 7 ตุลาคม ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลยถ้าทำแบบวันที่ 30 ธันวาคม"
กำลังโหลดความคิดเห็น