“สดศรี” ยืนยันปัญหาที่มาขององค์กรที่เสนอชื่อ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา กรณีนิติบุคคลอาคารชุดของ “เซนจูรี่ปาร์ค” เสนอชื่อไม่มีเอี่ยวการเมือง เพราะมีผู้ร้องเรียนมาก่อน ยันมติส่งเรื่องศาลฎีกาแผนดคดีเลือกตั้งชี้ขาด
วันนี้ (7 ม.ค.) นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงปัญหาที่มาขององค์กรที่เสนอชื่อ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ว่า กรณีของ นายเรืองไกร คนไปเข้าใจว่า กกต.วินิจฉัยหลังจากที่ นายเรืองไกร จะฟ้องร้องพรรคประชาธิปัตย์ ความจริงแล้วทางกกต.ได้วินิจฉัยเรื่องนี้ไปตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2551 ก่อนที่ นายเรืองไกร จะไปฟ้องร้องพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากเรื่องนี้มีผู้ร้องเรียนมาว่านิติบุคคลที่เสนอชื่อ นายเรืองไกร เป็นนิติบุคคลโดยชอบ ไม่แสวงหาผลกำไรจริงหรือไม่ ซึ่ง กกต.ก็เห็นว่า นิติบุคคลอาคารชุดของ “เซนจูรี่ปาร์ค” น่าจะเป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้ทำเพื่อการกุศล หรือไม่ได้มีการแสวงหาผลกำไร จึงไม่เข้าข่ายเป็นองค์กรที่จะส่งผู้สมัคร ส.ว.สรรหาได้ ไม่มีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน เพราะเรื่องนี้ได้รับการร้องเรียนเข้ามาเกือบปีแล้ว และ กกต.ต้องวินิจฉัยให้เสร็จภายใน 1 ปี โดยในวันที่ 23 ม.ค.นี้ ก็จะครบ 1 ปีในการเลือก ส.ว.สรรหา
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ออกมาช่วงนี้เป็นการกลั่นแกล้งหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า อาจจะเป็นเพราะทุกอย่างเข้ามาในเวลาใกล้เคียงกัน จึงทยอยเสร็จในเวลาไล่เลี่ยกันภายใน 1 ปี ซึ่งเรื่องการสอบสวนของ นายเรืองไกร กกต.สอบสวนมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว และเสร็จเมื่อเดือน พ.ย.มันประจวบเหมาะกันพอดี ไม่มีเรื่องทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดย นายเรืองไกร มีสิทธิ์ที่จะไปต่อสู้ในชั้นศาลได้
ขณะที่ นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวเรื่องเดียวกันว่า กกต.มีมติเรื่องนี้ไปแล้วว่า องค์กรที่ส่งรายชื่อ นายเรืองไกร มานั้น เป็นนิติบุคคลที่ทำเพื่อดูแลอาคารชุดเท่านั้น ไม่ได้ทำเพื่อสาธารณะ จึงไม่มีสิทธิ์เสนอชื่อ ซึ่ง กกต.ก็ได้มีการหารือมาแล้วส่วนหนึ่ง
ด้าน นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า กกต.มีมติในวันนี้ ในกรณีดังกล่าวให้ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง พิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 240 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 134 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. โดยให้สำนักวินิจฉัยคดี ดำเนินการยกร่างคำวินิจฉัยโดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในชั้นของการสรรหา คณะกรรมการสรรหาได้เคยตรวจสอบเรื่องดังกล่าวหรือไม่ นายสุทธิพล กล่าวว่า ตนในฐานะที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหา ขณะนั้นขอชี้แจงว่า ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาได้เคยมีการคุยกันว่า สมควรจะกำหนดคำจำกัดความความเป็นองค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อหรือไม่ แต่เมื่อกรรมการสรรหาพิจารณาตามกฎหมายแล้ว เห็นว่า กฎหมายไม่ได้กำหนดคำจำกัดความเป็นมาขององค์กรภาคต่างๆ ไว้ ว่า จะต้องเป็นอย่างไร และหากกรรมการสรรหากำหนดเองก็จะเป็นการจำกัดสิทธิได้ จึงไม่ได้จำกัดความ และเปิดให้มีการขึ้นทะเบียน ซึ่งหากองค์กรในภาคใดไม่เห็นด้วยก็สามารถยื่นคำร้องคัดค้านองค์กรนั้นๆ ได้ ขณะเดียวกัน ในส่วนของ กกต.ก็ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบคุณสมบัติแต่ก็ดูภาพรวมไม่ได้ตัดสิทธิองค์กรใดก่อนที่จะส่งให้กรรมการสรรหาพิจารณาเพราะเห็นว่ากฎหมายก็ไม่ได้เขียนว่าให้ กกต.เห็นชอบก่อน และเขียนเพียงแต่ให้ กกต. พิจารณาเห็นชอบใน 30 วัน ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นเพียงความเห็นของ กกต.เท่านั้น ยังไม่สิ้นสุดเพราะต้องส่งให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา