xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.พาณิชย์เรียกอคส.-เอกชนพบด่วน ไล่เช็กบิลประมูลข้าวทำรัฐเจ๊ง3หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ เรียกอคส.และเอกชนที่ชนะการประมูลข้าว ให้ข้อมูลการประมูลข้าวสต๊อกรัฐบาล หลังพบเหตุทำให้รัฐขาดทุนมหาศาลสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท เผยแม้จะไม่สามารถฉีกสัญญา แต่สามารถส่งต่อให้ปปช. ฟันข้อหาสมรู้ร่วมคิดทำการทุจริตได้

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ จะเชิญองค์การคลังสินค้า (อคส.) เข้ามาชี้แจงกรณีการระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลจำนวนเกือบ 3 ล้านตัน ในสมัยที่นายไชยา สะสมทรัพย์ เป็นรมว.พาณิชย์ ในวันที่ 17 ธ.ค.นี้ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่าการระบายข้าวจำนวนดังกล่าวมีขั้นตอนทำให้รัฐเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะการระบายข้าวขาดทุนเป็นจำนวนเงินหลายหมื่นล้านบาท รวมทั้งจะเชิญเอกชนผู้ชนะการประมูลข้าวในสต๊อกดังกล่าวเข้ามาร่วมให้ข้อมูลในครั้งนี้ด้วย

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว กล่าวว่า ประเด็นที่คณะกรรมาธิการฯ ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใสมีหลายประเด็นในการเปิดประมูลทั้ง 2 ครั้ง โดยการประมูลสต๊อกข้าวรอบแรก จำนวน 3.1 ล้านตัน ได้เรียกให้เอกชนมายื่นซองเสนอราคา แต่กลับไม่มีการเปิดซองเสนอราคาในวันเดียวกัน และหลังจากนั้นก็มาเปิดให้หลังอีก 5 วันถัดมา ซึ่งวงการค้าข้าวมองว่าอาจเกิดความไม่โปร่งใสขึ้นได้ และในการประมูลข้าวรอบสองอีก 1.3 ล้านตัน มีการดำเนินการที่ผิดปกติอีกครั้ง เพราะหนังสือประกาศการจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล ลงวันที่ 21 พ.ย. แต่เพิ่งจะมีการเผยแพร่เป็นการทั่วไปในวันที่ 25 พ.ย.

นอกจากนี้ ยังกำหนดในเงื่อนไขการประมูลว่าจะเรียกเอกชน 3 รายที่เสนอราคาสูงสุดมาต่อรองราคา ซึ่งวงการค้าข้าวตั้งข้อสังเกตหลังจากเปิดซองการประมูลรอบ 2 พบว่าผู้ที่เสนอราคาซื้อข้าวสูงสุด แต่เป็นรายเล็กและเสนอซื้อในปริมาณไม่มาก กลับไม่ได้รับการเรียกต่อรองราคา พร้อมทั้งยังมีการเซ็นอนุมัติขายข้าวแบบรวดรัด หรือก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดียุบพรรคพลังประชาชนในวันที่ 2 ธ.ค. เพียง 1 วัน ทำให้นายไชยาในฐานะกรรมการบริหารพักต้องพ้นจากตำแหน่งและต้องเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี

อย่างไรก็ตาม การอนุมัติขายข้าวทั้งสองรอบทำให้รัฐบาลขาดทุนเกือบ 3 หมื่นล้านบาท โดยรอบแรกขาดทุน 2 หมื่นล้านบาท และรอบสองขาดทุนอีกเกือบ 1 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า การยกเลิกเซ็นสัญญาขายข้าวกับเอกชนที่ชนะการประมูลข้าวทั้ง 2 ครั้ง คงทำไม่ได้ เนื่องจากมีการเซ็นสัญญาไว้หมดแล้ว ซึ่งหากรัฐบาลจะยกเลิก อาจถูกเอกชนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ แต่หากคณะกรรมาธิการฯตรวจสอบว่าการประมูลทั้งสองครั้งมีความไม่โปร่งใส หรือเอื้อประโยชน์ที่ทำให้รัฐบาลเกิดความเสียหาย ก็สามารถส่งข้อมูลให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ เพื่อเอาผิดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น