xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์ชี้จีดีพีไทยปี52โต2%ไม่สนขั้วรัฐบาลขอมีเสถียรภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวิลด์แบงก์ประเมินเศรษฐกิจไทยปีหน้าเติบโต 2% หรือต่ำสุดรอบ 11 ปี เหตุได้รับแรงกดดันจากการเมืองและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ส่วนจีดีพีปีนี้ลดเป้าจาก 5% เหลือ 3.9% ปัจจัยปิดสนามบิน ส่งออกและการลงทุนที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ระบุไม่สนรัฐบาลใหม่หน้าตาเป็นแบบไหน แต่ขอให้ดำเนินนโยบายให้ต่อเนื่องเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมา พร้อมต้องเร่งช่วยกลุ่มรากหญ้าที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตในรอบนี้

นายแมทธิว เวอร์กิส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า ธนาคารโลกได้ประมาณการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2552 จะขยายตัวอยู่ที่ 2% ภายใต้สมมติฐานที่คาดการณ์ว่าการส่งออกจะชะลอตัวจากปีนี้และเติบโตเพียง 8% ส่วนภาคบริการภาคการท่องเที่ยวติดลบ 3% ทั้งนี้ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2554-2555 ดังนั้นในช่วง 2-3 ปีนี้ ประเทศไทยควรถือโอกาสลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศรวมทั่งเร่งดำเนินนโยบายด้านการค้าต่างๆ ที่จะช่วยเปิดตลาดให้กับสินค้าไทยไปยังต่างประเทศมากขึ้น
นอกจากนี้ยังได้ปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 2551 เหลือ 3.9% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะเติบโต5% เนื่องจากมองว่าการส่งออกของไทยปีนี้จะขยายตัว 19.5% เพราะในไตรมาสที่4 ของปี2551 การส่งออกมีสัญญาณชะลอตัว โดยจะเห็นได้จากเดือนตุลาคมการส่งออกของไทยเติบโตเพียง 5.2% แต่อย่างไรก็ตามหากประเมินทั้งปีก็น่าจะยังเติบโตได้ในระดับดังกล่าว เพราะในช่วงต้นปีการส่งออกของไทยขยายตัวค่อนข้างดี ส่งผลให้ 10 เดือนแรกของปีนี้การส่งออกขยายตัว 23% แต่อย่างไรก็ตามภาคการส่งออกไทยถือเป็นกลไกที่สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโต ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนได้ชะลอตัวอย่างมีนัยยะสำคัญมาโดยตลอด และเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยหลายฝ่ายจึงมองว่าภาคการส่งออกไทยปีหน้าก็คงจะไม่ดีเช่นเคยเหมือนที่ผ่านมา
"เรามองว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะยังคงได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและการค้าที่ถดถอย รวมั้งภาวะการเมืองภายในที่ยังขาดเสถียรภาพอยู่ ทำให้ปีหน้าจีดีพีน่าจะมีการขยายตัวที่ 2% และได้ปรับประมาณการจีดีพีไทยเหลือ 3.9% ก็เป็นการประมาณการว่ามีอะไรหลายๆอย่างที่เปลี่ยนไปในโลก และสิ่งเหล่านั้นก็ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามทางการไทยควรมีความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายเพราะถ้าขาดความต่อเนื่องก็จะทำให้การพัฒนาขีดความสามารถและการกระตุ้นเศราฐกิให้เติบโตก็จะทำได้ยากขึ้น" นายแมทธิวกล่าว
ด้านนางสาวกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกได้คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า จะขยายตัวเพียง 0.9% ซึ่งต่ำกว่าปี 2551 ที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 2.5% โดยมองว่าปีหน้าการขยายตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นจะชะลอตัวลงทั้งหมด ส่วนประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออก คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะโต 6.7% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดจากปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโต 8.5% เนื่องจากการส่งออกจะปรับลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตามธนาคารโลกมองว่าประเทศไทยจะสามารถฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกไปได้เนื่องจากไทยมีทุนสำรองอยู่อย่างเพียงพอหรือมากกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐและไม่มีภาระหนี้ต่างประเทศมากนัก ทำให้ความเสี่ยงต่อปัจจัยภายนอกของไทยนั้นลดลงไปพอสมควร ส่งผลให้ไทยมีความยืดหยุ่นกว่าประเทศอื่นๆ ในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระหว่างที่การค้าและการลงทุนของโลกกำลังซบเซา ซึ่งหากรัฐบาลไทยสามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้ ไทยก็จะอยู่ในสถานะที่ดีกว่าประเทศอื่น แต่ผลกระทบในภาคการส่งออกของไทยปีหน้านั้นน่าจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงพอสมควรจากการค้าโลกที่ชะลอตัวลง
"ไทยยังโชคดีอยู่มากที่สถานภาพของภาคการเงินไทยนั้นไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตซับไพรม์ในอเมริกาที่กำลังทำให้ทั่วโลกระส่ำอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ก็เพราะว่านับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาไทยได้ดำเนินมาตรการหลาย ๆ ด้านเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินหลังจากได้ประสบกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ทำให้ในปัจจุบันนี้ภาคการเงินของไทยยังมีความแข็งแกร่งอยู่ แต่ก็ยังต้องมีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด โดยสัดส่วนสินเชื่อของเงินฝากอยู่ที่ 91% และหากมีปัญหาทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ก็สามารถเพิ่มสภาพคล่องได้เมื่อมีความจำเป็น"
ทั้งนี้ธนาคารโลกยังได้แนะนำด้วยว่ารัฐบาลไทยควรจะลงทุนมากขึ้นเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอันจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์และดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งเร่งดำเนินโยบายการค้าต่างๆ ที่จะช่วยเปิดตลาดให้แก่สินค้าไทยในต่างประเทศให้มากขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องพัฒนาคุณภาพและทักษะของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมให้ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบกิจการให้มากขึ้น อีกทั้งยังต้อลงทุนให้มากขึ้นเพื่อการวิจัยและพัฒนาผลผลิตให้มีคุณค่าสูงขึ้น สามารถแข่งขันกับต่างประเทศไทย ที่สำคัญทางการไทยควรจะดำเนินความพยายามในการปรับปรุงกฎระเบียบของราชการให้ทันสมัย เพื่อลดขั้นตอนในการติดต่อและลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจของเอกชน
"รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะหน้าตาเป็นอย่างไรไม่ได้มุ่งหวัง แต่อยากให้เดินนโยบายเพราะถ้าทำได้และนักลงทุนกลับมามีความเชื่อมั่นอีกครั้งก็จะทำให้จีดีพีของไทยปีหน้าขยายตัวได้มากกว่า 2% ส่วนมาตรการความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนี้ก็ต้องมีทั้งมาตรการระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นควรจะดูแลในส่วนของประชาชนรากหญ้า แรงงานที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เยียวยาให้ตรงจุด ส่วนระยะต่อไปก็ดูแลกลุ่มเอสเอ็มอีด้วย เงินเฟ้อปีหน้าเรามองว่าจะอยู่ที่ 2% ส่วนปีนี้อยู่ที่ 6% ส่วนการปิดสนามบินในช่วงที่ผ่านมามองว่าตัวเลขผลกระทบประมาณ 2% ของจีดีพี" นางสาวกิริฎากล่าว
นางสาวกิริฎากล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินในปีหน้าจะมีความผ่อนคลายมากขึ้น โดย ธปท. จะยังโอกาสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก แต่ในส่วนของธนาคารพาณิชย์คงลดลงในระดับไม่สูงนัก ส่วนนโยบายการคลังก็ถือว่ามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสูงหากสามารถดำเนินนโยบายได้ เนื่องจากจะเห็นผลเร็ว ส่วนภาวะเงินฝืดนั้นความเป็นห่วงจะอยู่ทางสหรัฐอเมริกามากกว่าเนื่องจากประชาชนไม่อยากที่จะบริโภค ส่วนในประเทศไทยจะยังมีเข้าสู่ภาวะดังกล่าวเนื่องจากยังมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยอยู่บ้าง
ด้านรายงาน East Asia & Pacific Update ฉบับล่าสุดของธนาคารโลก ระบุว่า แม้สภาวะเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกจะแข็งแกร่งกว่าที่เคยเป็นเมื่อสมัยวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 แต่ภูมิภาคนี้ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยได้ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารได้ประเมินว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกอยู่ที่ 6.7% ในปีหน้า ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดเจนจากปีนี้ซึ่งประเมินว่าจะอยู่ที่ระดับ 8.5% ส่วนการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกทั้งภูมิภาคในปีหน้าก็จะลดลงเช่นกันโดยจะอยู่ที่ 5.3% จากปีนี้อยู่ที่ 7%
"ความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกไม่สามารถเติบโตตามที่ประมาณการณ์ไว้ก็ยังมีอยู่มากในระยะสั้น ดังนั้นรัฐบาลของแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกจึงจำเป็นที่จะต้องพยายามรักษาเสถียรภาพของสภาวะเศรษฐกิจมหภาค หาตลาดส่งออกใหม่ๆ ในกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจยังเติบโตอยู่ กระตุ้นความต้องการสินค้าภายในประเทศเพื่อชดเชยกับความต้องการจากต่างประเทศที่จะหายไป รวมทั้งดำเนินมาตรการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว เพื่อให้สามารถครองตัวอยู่ได้ในขณะที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากในภาวะเศรษฐกิจโลก"
กำลังโหลดความคิดเห็น