xs
xsm
sm
md
lg

เม็ดเงินไต้หวัน..นับวันยิ่งเหือดหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวที่สำคัญซึ่งจะช่วยผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาภายในประเทศ เนื่องจากการลงทุนจากต่างประเทศนำมาซึ่งการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีและการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในประเทศ อีกทั้งยังเป็นแรงขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศอีกทางหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันสถานการณ์การแข่งขันเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจึงทวีความรุนแรงมากขึ้น สำหรับประเทศไทยนั้น แหล่งเงินทุนข้ามชาติจากไต้หวันถือเป็นแหล่งทุนที่สำคัญรายหนึ่งที่เข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า มูลค่าการลงทุนของไต้หวันในไทยชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2550 เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในปีที่ผ่านมาที่กดดันต่อบรรยากาศการลงทุน ประกอบกับการลงทุนโดยตรงของไต้หวันที่ไหลเข้าไปประเทศที่มีต้นทุนต่ำมากขึ้นอย่างจีนและเวียดนาม
 

ทั้งนี้จากสภาพการลงทุนในยุคปัจจุบันกระตุ้นให้นักลงทุนแสวงหาฐานการผลิตที่มีประสิทธิภาพโดยมีต้นทุนต่ำเพื่อสร้างผลกำไรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียแข่งขันกันอย่างดุเดือดในการสร้างศักยภาพการลงทุนของตนเพื่อดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ

แหล่งเงินทุนไต้หวันไหลเข้าจีน

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาไต้หวันให้ความสำคัญต่อการลงทุนในจีนมากที่สุด โดยในปี 2549 เงินลงทุนของไต้หวันเกือบร้อยละ 64 จากสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดไหลเข้าไปจีน และในปี 2550 ไต้หวันมีมูลค่าการลงทุนในจีนราว 9.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิม 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 ส่งผลให้ไต้หวันเป็นแหล่งเงินลงทุนอันดับ 5 ของจีน อีกทั้งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 การลงทุนจากไต้หวันในจีนมีมูลค่าเกือบ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.8

ปัจจุบันการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไต้หวันมีทิศทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้แนวโน้มการลงทุนในจีนจากนักลงทุนไต้หวันขยายตัวสูงขึ้น อีกทั้ง รัฐบาลไต้หวันยังได้ประกาศเพิ่มมาตรการส่งเสริมและเอื้อประโยชน์ต่อบรรยากาศการลงทุนสำหรับนักลงทุนไต้หวันในจีน โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีนี้

อย่างไรก็ตาม ภาวะในปัจจุบันทำให้นักลงทุนไต้หวันอาจต้องเผชิญกับความท้าทายด้านต้นทุนการผลิตและการจัดการในจีนซึ่งเกิดจากต้นทุนวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น ภาวะค่าเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ที่เข้มงวดขึ้น รวมถึงนโยบายภาษีที่ปรับเปลี่ยนให้อัตราการชำระภาษีของบริษัทต่างชาติเท่ากับบริษัทจีนในอัตราเท่ากันที่ร้อยละ 25 จากเดิมร้อยละ 15 ซึ่งสาเหตุที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้อาจสร้างแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจนทำให้ผลประกอบการหดตัวลง ซึ่งท้ายที่สุดอาจทำให้นักลงทุนมองหาโอกาสในการแสวงหาฐานการผลิตแห่งใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการด้านค่าแรงงานที่ถูกลง โดยย้ายฐานการผลิต

เวียดนาม.....แหล่งลงทุนสำคัญแห่งแผน2

ถือได้ว่าเวียดนามเป็นแหล่งลงทุนสำคัญของไต้หวันเป็นระยะเวลากว่าทศวรรษ โดยมูลค่าลงทุนสะสมของไต้หวันในเวียดนามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ครองอันดับ 3 จากนักลงทุนต่างชาติในเวียดนาม ประกอบกับการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการลงทุนเมื่อเข้าเป็นสมาชิก WTO ในช่วงต้นปี 2550 และข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าจีนในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ทำให้ผู้ประกอบการไต้หวันเข้าไปลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้นซึ่งส่วนมากเป็นผู้ผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์

ปัจจุบัน ไต้หวันเป็นแหล่งลงทุนข้ามชาติที่ทุ่มการลงทุนในเวียดนามมากที่สุดในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 โดยมีทุนจดทะเบียนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 8,171 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากจำนวนทุนจดทะเบียนต่างชาติทั้งหมดในเวียดนามกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 26

แต่ทว่านักลงทุนต่างชาติอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคบางประการในด้านของระบบโครงสร้างพื้นฐานในเวียดนามที่ยังขาดประสิทธิภาพ อีกทั้งการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้แรงงานที่มีคุณภาพขาดแคลนลงและต้นทุนแรงงานที่มีทักษะพุ่งสูงขึ้น ที่สำคัญคือ เศรษฐกิจเวียดนามกำลังประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 27 ในเดือนกรกฎาคม ทำให้ค่าจ้างแรงงานมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงปัญหาค่าเงินดองที่มีอยู่ในระดับอ่อนค่าซึ่งส่งผลกระทบต่อการเข้าไปลงทุนในเวียดนามเพื่อส่งออก

ไต้หวันกับไทยในช่วงครึ่งปีแรก

การลงทุนของไต้หวันในไทยในปีที่ผ่านมาชะลอตัวลงจากปัจจัยกดดันด้านสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ โดยโครงการลงทุนจากไต้หวันที่ขอรับการส่งเสริมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 มีมูลค่ารวม 3.4 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.1 ของแหล่งเงินลงทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้ามาในไทยทั้งสิ้น 109 พันล้าน
ดังนั้น ภาวะการลงทุนโดยตรงจากไต้หวันในไทยในปี 2551 ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายประการ รวมถึงความสัมพันธ์ที่ปรับตัวดีขึ้นระหว่าง จีน-ไต้หวัน ประกอบกับแนวโน้มการขยายตัวของการลงทุนของไต้หวันในเวียดนาม อาจจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการลงทุนโดยตรงของไต้หวันในไทยซึ่งคาดว่าทิศทางการลงทุนโดยตรงจากไต้หวันในไทยปี 2551 อาจทรงตัวจากปีที่ผ่านมา โดยน่าจะมีมูลค่าราว 6.0 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับมูลค่า 5.9 พันล้านบาท ในปีที่ผ่านมา

“ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะจับตามองกระแสการไหลเข้าของเงินทุนในประเทศอย่างใกล้ชิด โดยการร่วมมือกันศึกษาและวิเคราะห์แนวโน้มการลงทุนเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขปัญหาและเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนจากไต้หวัน รวมถึงการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยให้ก้าวล้ำหรือทัดเทียบกับประเทศในภูมิภาค และจากการที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเร่งด่วน 8 มาตรการหลักในการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งหากนโยบาย 8 มาตรการหลักดังกล่าวบรรลุผลตามเป้าหมาย คาดว่าน่าจะดึงความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในไทยน่าจะกลับฟื้นคืนมาในอนาคต อีกทั้งอาจทำให้ทิศทางการลงทุนโดยตรงจากไต้หวันในไทยปรับตัวดีขึ้น”


ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น