เอเจนซี่ – กระทรวงการคลังร่วมกับกรมภาษีแห่งชาติจีนประกาศว่านับตั้งแต่วันศุกร์ (1 ส.ค.) เป็นต้นไป จะมีการปรับขึ้นอัตราการคืนภาษีส่งออกสำหรับสิ่งทอและเสื้อผ้าบางส่วนจาก 11% เป็น 13%
ขณะที่ค่าเงินหยวนอ่อนลงสู่ระดับต่ำสุด นับตั้งแต่จีนเลิกตรึงค่าเงินหยวนกับดอลลาร์สหรัฐในปี 2005
หลังจากที่จีนประกาศขึ้นอัตราคืนภาษีส่งออกในวันพฤหัสฯ ในวันศุกร์ (1 ส.ค.)ประธานาธิบดีหู จิ่นเทาก็ได้ออกมาแถลงย้ำเป้าหมายของรัฐบาลในการรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและมั่นคง และควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
“รัฐบาลตั้งใจที่จะชะลอการแข็งค่าเงินหยวน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ส่งออกในยามที่ความต้องการจากต่างแดนลดลง และธนาคารกลางก็ได้โอกาสเมื่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ชะลอจังหวะการเคลื่อนไหวของเงินหยวน” เวิน หลี่ ดีลเลอร์ประจำแบงค์ ออฟ ไชน่า ผู้ค้าอัตราแลกเปลี่ยนรายใหญ่สุดของประเทศ ชี้
ค่าเงินหยวนปิดลง 0.16% เท่ากับ 6.8425 หยวนต่อ1 ดอลลาร์ในเซี่ยงไฮ้เมื่อเย็นวันศุกร์ จากระดับ 6.8318 หยวน ต่อ 1 ดอลลาร์ในวันพฤหัสฯ ขณะที่สำนักงานค้าอัตราแลกเปลี่ยนระบุว่า ในสัปดาห์นี้ เงินหยวนอ่อนค่าลง 0.34%
ขณะที่ดัชนีหลักชี้วัดกิจกรรมการผลิตในเดือนกรกฎาคมตกฮวบลง โดยสหพันธการจัดซื้อและโลจิสติกส์แห่งจีนเผยในวันศุกร์(1 ส.ค.)ว่า ดัชนีจัดซื้อจากโรงงาน หรือPMI ซึ่งเป็นมาตรวัดกิจกรรมอุตสาหกรรม ได้แก่ยอดสั่งซื้อ การส่งออก และปัจจัยอื่นๆ ตกลงถึง 48.4 ในเดือนกรกฎาคม นับเป็นระดับต่ำสุดนับจากมีการสำรวจเมื่อปี 2005
ดัชนีดังกล่าวอ่อนลงมากเกินกว่าที่คิด และเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า “กิจกรรมทางเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลงอย่างดุเดือดในภาคการผลิตจีน” หมิงชุน ซุนเศรษฐกรประจำเลห์แมน บราเดอร์ส์ ระบุในรายงานที่จัดทำให้ลูกค้า
ขณะนี้ ภาคการผลิตจีน และภาคส่งออกกำลังเผชิญปัญหาหนักจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและวัตถุดิบ อุปสงค์ของโลกที่อ่อนยวบลง และการแข็งค่าหยวน ทำให้สินค้าจีนแพงขึ้นในตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา
นับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา จีนได้มีการปรับลดหรือยกเลิกอัตราการคืนภาษีส่งออกกับธุรกิจบางประเภทมาแล้วถึง 3 ระลอก เพื่อที่จะชะลอการเกินดุลการค้าต่างประเทศที่เติบโตเร็วจนเกินไป
นายซุน หวยปิงผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจสิ่งทอจีนได้ระบุว่า “การปรับขึ้นอัตราคืนภาษีส่งออกจะสามารถช่วยผ่อนเพลาปัญหาอันเกิดจากต้นทุนที่สูงขึ้นของวิสาหกิจได้ ทว่าผลกระทบนี้จะไม่ได้ส่งไปถึงอุปสงค์ของตลาด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว และอุปสงค์ในตลาดโลกลดลง”
ซือ หงเหมยนักวิเคราะห์ด้านเสื้อผ้าสิ่งทอและสินค้าฟุ่มเฟือยของบริษัทหลักทรัพย์ตงฟังระบุว่า “การคลอดนโยบายนี้ออกมาถือว่าเป็นข่าวดียิ่งสำหรับบริษัทที่มีตัวเลขส่งออกสูง เพราะการคืนภาษีย่อมเกิดผลในทางตรงระดับหนึ่ง ทว่ายังไม่ใช่วิธีแก้ปัญหายอดส่งออกที่ลดลงโดยตรง”
คุณซือระบุว่า ที่ทางการจีนเลือกที่จะออกในโยบายในเวลานี้ เป็นเพราะเล็งเห็นว่าการส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าในปีนี้ลดลงอย่างฮวบฮาบ “แต่เดิมเรายังคาดว่าอัตราคืนภาษีส่งออกเสื้อผ้าจะสูงกว่านี้ แต่ครั้งนี้ทางการจีนกลับปรับแค่เท่ากับสิ่งทอ”
ทั้งนี้ จากตัวเลขของสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศจีนได้ระบุว่า ใน 6 เดือนแรกประเทศจีนมีการส่งออกสิ่งทอทั้งสิ้น 83,851 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 11.11% และคิดเป็น 12.58%จากการส่งออกของสินค้าทุกประเภที่มีมูลค่า 666,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ซือ หงเหมยมองว่า เนื่องจากเงินหยวนแข็งค่ายังเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีเงินเฟ้อสูง ทำให้ต้นทุนแต่ละด้านรวมไปถึงราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนั้นโดยเฉพาะเมื่อธุรกิจประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดกลางและเล็ก การที่ยอดส่งออกหดตัว เมื่อผนวกกับต้นทุนทางบัญชีที่พุ่งสูงขึ้น จึงสร้างแรงกดดันต่อผู้ประกอบการไม่น้อย
ในขณะที่ปัญหาด้านการคุมเข้มทางการปล่อยสินเชื่อก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งของวิสาหกิจ ซึ่งประเด็นดังกล่าวคุณฝาน กัง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจประชาชนและคณะกรรมการนโยบายการเงินของแบงก์ชาติจีนได้ระบุว่า การที่ปักกิ่งต้องควบคุมการปล่อยสินเชื่อก็เพื่อที่จะต่อสู้กับเงินเฟ้อ และไม่มีรัฐบาลใดที่จะผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน ในขณะที่เงินเฟ้อสูงถึง 7%-8%แน่
ทั้งนี้ในเว็บไซต์ของกรมภาษีแห่งชาติจีนยังได้ระบุว่า จะมีการเพิ่มอัตราคืนภาษีส่งออกของผลิตภัณฑ์จากไผ่เป็น 11% และยกเลิกอัตราคืนภาษีสำหรับยาฆ่าแมลงบางชนิดและสินค้าโลหะบางประเภทด้วย