xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ไฟเขียวแบงก์ผนึกอสังหาฯ พัฒนาทรัพย์ต่อยอดขายเอ็นพีเอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.เผยอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตให้แบงก์จับมือกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเข้ามาปรับปรุงเอ็นพีเอให้มีสภาพพร้อมขายดีขึ้น หวังสร้างราคาและจูงใจผู้ซื้อหลากหลายกลุ่ม คาดสิ้นปีนี้เตรียมออกประกาศผ่อนคลาย ขณะเดียวกันร่วมกับกรมบังคับคดีผ่อนคลายระเบียบในกระบวนการบังคับคดีให้คล่องตัวขึ้น

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะออกประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปให้ธนาคารพาณิชย์สามารถร่วมกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จัดตั้งบริษัทร่วมลงทุนในการปรับปรุงสินทรัพย์รอการขาย(เอ็นพีเอ)ให้มีสภาพพร้อมขายมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันในระบบมีเอ็นพีเอประมาณ 3 แสนล้านบาท ถือเป็นการเพิ่มช่องทางให้สถาบันการเงินมีความคล่องตัวในการขายทรัพย์ให้ได้ราคาดีและจูงใจผู้ซื้อมากขึ้น

“ในปัจจุบันธนาคารพาณิชยจะติดข้อจำกัดในการต่อยอดทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน เพราะเกรงว่าจะเข้าข่ายทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แทน จึงต้องมีการขายทรัพย์ตามสภาพ ทำให้มีจำกัดเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อ ดังนั้น การจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุนนี้จะเพิ่มช่องทางให้แบงก์สามารถเข้าไปร่วมลงทุนในหุ้น แต่ไม่ใช่เข้าไปในลักษณะขยายการลงทุนหรือไม่ใช่บริษัทลูกในเครือของสถาบันการเงินแห่งนั้น แต่จะมีสัดส่วนการเข้าไปถือหุ้นจำนวนใดนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนต่ำกว่า 50% เพราะไม่เช่นนั้นจะเข้าข่ายเข้าไปลงทุนหรือควบคุมกิจการแทน”

ทั้งนี้ การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะส่งผลดีต่อธนาคารพาณิชย์สามารถควบคุมต้นทุนและส่งเสริมการตลาดได้ แต่ในการเพิ่มช่องทางขายเอ็นพีเอนี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องที่ยากแก่การประเมินสินทรัพย์ที่มีหลักประกันเข้าข่ายเกณฑ์นี้มีปริมาณเท่าใด จำนวนเม็ดเงินที่ใช้ในการลงทุนหรือการกู้ยืม รวมถึงระยะเวลาในการพัฒนาเอ็นพีเอ จึงต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบต่อไป ซึ่งคาดว่าประกาศฉบับนี้จะออกมาได้ในช่วงเดือนธันวาคมนี้หรือต้นปี 52

นอกจากนี้ ธปท.ยังเพิ่มประสิทธิภาพการซื้อขายเอ็นพีแอลและเอ็นพีเอให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในส่วนของกระบวนการบังคับคดี ซึ่งบางรายต้องใช้เวลานาน โดยเฉลี่ยกว่า 5 ปี ทำให้ขณะนี้ธปท.อยู่ระหว่างหารือกับกรมบังคับคดีให้ผ่อนคลายกฎระเบียบให้คล่องตัวมากขึ้นทั้งการแยกกระบวนการบังคับคดีของเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันออกจากหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน อนุญาตให้ผู้ประเมินราคาเป็นเอกชนข้างนอกได้ในกรณีที่มีผู้คัดค้านราคา เพื่อให้การประเมินราคาสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงมากขึ้น สนับสนุนให้กรมบังคับคดีมีระบบการประมูลราคาที่หลากหลาย กำหนดจำนวนเงินมัดจำสูงขึ้น เพื่อลดปัญหาผู้ซื้อชำระเงินล่าช้าหรือประมูลแล้วทิ้งเงินมัดจำ พร้อมทั้งให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขายทอดตลาด เพราะปัจจุบันการบังคับคดีต้องผ่านกรมบังคับคดีเพียงช่องทางเดียว

“ช่องทางที่แบงก์ทำอยู่ทั้งในการลดปัญหาเอ็นพีแอลที่มีทั้งวิธีการขายเอ็นพีแอลให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ วิธีตัดเอ็นพีแอลเป็นหนี้สูญ หรือวิธีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีการลดต้น ลดดอกเบี้ย หรือแม้กระทั่งการโอนหลักประกันมาชำระหนี้บางส่วน รวมทั้งวิธีการดำเนินคดี ทำให้สุดท้ายแล้ววิธีเหล่านี้จะมีเอ็นพีเอโผล่ขึ้นมาอีก ขณะเดียวกันมาตรการต่างๆ ที่ธปท.ออกมาตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจเป็นต้นมาก็ลดหนี้ได้บางส่วนเท่านั้น ประกอบกับช่วงหลังๆ เอ็นพีแอลในระบบไม่ค่อยลด ทำให้ธปท.พยายามลดหาวิธีอื่นๆ มาช่วยเร่งจัดการเอ็นพีแอลและเอ็นพีเอให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ส่วนกระบวนการสวมสิทธิของผู้ซื้อของทุกหลักประกันที่เกิดขึ้นจากการซื้อในคราวเดียวและสามารถสวมสิทธิที่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเพียงจังหวัดเดียวแทนการพิจารณาสวมสิทธิที่ภูมิลำเนาของที่ตั้งทรัพย์นั้นๆ เพื่อให้กระบวนการต่างๆ มีความคล่องตัวมากขึ้นและลดปัญหาการกดราคาที่เกิดจากอุปสรรคในการสวมสิทธิที่ต้องใช้เวลานาน

ขณะเดียวกัน ธปท.จะส่งเสริมให้มีการปรับปรุงกฎหมายในพ.ร.บ.ข้อมูลเครดิตของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติให้เก็บข้อมูลมากขึ้น เช่น ข้อมูลผู้ค้ำประกัน หลักประกัน หรือข้อมูลสินเชื่อที่มีการทุจริต ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถแสดงให้เห็นแนวโน้มหรือสัญญาณต่างๆ แทนที่จะดูได้เฉพาะยอดหนี้ในปัจจุบันเท่านั้น รวมทั้งขยายขอบเขตกระบวนการดำเนินงานของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติมากขึ้น เช่น การจัดทำเครดิตสกอริ่ง สำหรับสินเชื่อเพื่อสะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ได้อย่างเหมาะสมและน่าเชื่อถือ อีกทั้งจะมีการจัดตั้งศูนย์กลางของเอ็นพีเอที่มีรายละเอียดทรัพย์ของแต่ละสถาบันการเงินโดยเชื่อมโยงผ่านเว็บไซต์สมาคมธนาคารไทย เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการซื้อ

โดยก่อนหน้านี้ นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า ธปท.ตั้งเป้าหมายจะลดหนี้เอ็นพีแอลให้เหลือ 2-3% ภายในระยะเวลา 5 ปี หรือประมาณปี 56 จากปัจจุบันที่มียอดเอ็นพีแอลอยู่ที่ 6.4% เพื่อเป็นการลดต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันสถาบันการเงินในต่างประเทศส่วนใหญ่มีหนี้น้อยกว่าไทย และหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปอาจมีผลให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันกับต่างชาติได้
กำลังโหลดความคิดเห็น