xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ยืด 5 ปีลดหนี้เน่าเหลือ 2% ห่วงครึ่งปีหลังศก.ฉุดสินเชื่อมีปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.ตั้งเป้าลดเอ็นพีแอลเหลือ 2-3% ภายใน 5 ปีข้างหน้า จากไตรมาส 2 ของปีนี้อยู่ที่ 6.4% แนะจัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลางขายและกลไกตลาดมากขึ้น หวังลดต้นทุนของแบงก์ให้สามารถแข่งขันต่างชาติได้ ระบุช่วงครึ่งหลังปีนี้เศรษฐกิจชะลอมีโอกาสให้คุณภาพสินทรัพย์และการขยายตัวสินเชื่ออาจมีปัญหาได้ แนะแบงก์หาทางตั้งรับลดโอกาสก่อตัวสินเชื่อใหม่ให้เป็นเอ็นพีแอลน้อยลง

วานนี้ (29 ก.ค.) ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งนำโดยนายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ได้เรียกประชุมผู้บริหารสถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์ไทย ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย สาขาธนาคารต่างชาติ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์จำนวน 44 แห่งเข้ามาชี้แจงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นแผนที่มีระยะเวลาการใช้ 5 ปี โดยจะเริ่มประกาศใช้ในเดือนม.ค.ปี 2552 จนถึงปี 2556 หลังจากที่ในช่วงกลางปีก่อนได้มีการระดมความคิดเห็นจากสถาบันการเงินในเบื้องต้นมาแล้ว

รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับสถาบันการเงินว่า มาสเตอร์แพลนฉบับนี้จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสถาบันการเงินและปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน โดยธปท.คาดว่าแผนนี้จะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งจะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน(กนส.) เป็นขั้นตอนสุดท้ายในเดือนส.ค.นี้ หลังจากนั้นจะนำเสนอกระทรวงการคลังให้พิจารณาอนุมัติภายในเดือนก.ย.ต่อไป

ทั้งนี้ในมาสเตอร์แพลนฉบับที่ 2 นี้ส่วนหนึ่งต้องการลดต้นทุนของสถาบันการเงินที่เกิดจากสินทรัพย์รอการขาย(เอ็นพีเอ) และหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) โดยเฉพาะหนี้เอ็นพีแอลที่คาดว่าจะลดลงเหลือ 2-3% ภายใน 5 ปีข้างหน้าหรือประมาณปี 2556 จากล่าสุดในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้อยู่ที่ระดับ 6.4% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีความคล่องตัวมากขึ้นทั้งวิธีการขายแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ การใช้กลไกตลาด และจัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลางทั้งหนี้เอ็นพีแอลและเอ็นพีเอผ่านเว็บไซต์สมาคมธนาคารไทย เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายเกิดการสะดวกมากขึ้น ส่วนหนี้เอ็นพีแอลที่เกิดจากกระบวนการศาลนั้น ธปท.จะมีการแก้ไขกฎหมายบางส่วนที่เป็นอุปสรรคให้หมดไป

สำหรับภาพรวมหนี้เอ็นพีแอลในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มองว่าเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องทั้งจากปัจจัยต่างประเทศที่เกิดจากเศรษฐกิจโลก หรือปัจจัยในประเทศเองจากอัตราเงินเฟ้อและราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นก็อาจจะสร้างแรงกดดันให้แก่คุณภาพสินทรัพย์และการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ได้และจากการแข่งขันที่มีมากขึ้นอาจลดหย่อนมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อได้เช่นกัน ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ควรมีการระมัดระวังมากขึ้น เพื่อลดโอกาสการก่อตัวของสินเชื่อใหม่ให้เป็นเอ็นพีแอลน้อยลง

"หากจะมีผู้เล่นต่างชาติเข้ามาก็ไม่ควรเข้ามาเพิ่มปริมาณแบงก์ เพราะปัจจุบันก็มีมากพอสมควรแล้ว แต่จะดูว่าผู้เล่นต่างชาติที่เข้ามาธปท.จะพิจารณาว่ารูปแบบการทำธุรกิจที่นำเข้ามาจะเป็นการสร้างประโยชน์หรือมูลค่าให้แก่ระบบมากน้อยแค่ไหน ซึ่งส่วนหนึ่งจะดูประวัติการทำธุรกิจที่ผ่านมาว่าสามารถยอมรับได้หรือไม่ ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นความพยายามที่จะสร้างเงื่อนไข เพื่อกีดกันผู้เล่นต่างชาติที่จะเข้ามา"

นายบัณฑิต กล่าวว่า นอกจากนี้ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้ส่วนใหญ่สถาบันการเงินและธปท.มีความเห็นตรงกัน คือ มองว่าในอนาคตการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินในไทยจะมีความท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังสถาบันการเงินมีการเน้นปล่อยสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการขยายขอบเขตการทำธุรกิจ เพื่อให้มีความคล่องตัวมากขึ้นและให้สอดคล้องกับการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินที่เข้มข้นขึ้นด้วย

ขณะเดียวกันระดับการใช้ Internet Banking หรือ E-Banking ต่ำกว่าศักยภาพเมื่อเทียบกับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีของระบบสถาบันการเงินไทยที่มีอยู่ จึงต้องมีการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายให้มากขึ้นและมีการพัฒนาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรักษาความลับ รวมถึงระบบความปลอดภัยให้ความสำคัญมากขึ้น นอกจากนี้ในระยะยาวควรมีการพัฒนาบุคลากรไทย เพื่อดึงดูดให้หันมาพัฒนาระบบการเงินไทยในระยะต่อไป

"สิ่งที่แบงก์ห่วงกันมากในขณะนี้มองว่าการแข่งขันจะมีมากขึ้นทั้งผู้เล่นในประเทศเอง และแรงกดดันจากผู้เล่นในต่างประเทศที่เข้ามาในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคด้วย ขณะเดียวกันมีความผันผวนการเงินต่างประเทศด้วย ดังนั้นควรมีการปรับโครงสร้างระบบการเงินไทย และสถาบันการเงินที่มีขนาดที่แตกต่างกันก็ควรเตรียมความพร้อมในการปรับตัวด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งต้องการให้มีการลดต้นทุน เพื่อให้มีการแข่งขันได้"
กำลังโหลดความคิดเห็น