xs
xsm
sm
md
lg

IMFชี้พายุภาคการเงินทำโลกสู่‘ภาวะถดถอย’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อวันพุธ(8) เผยแพร่รายงานพยากรณ์ที่หดหู่ที่สุดในรอบหลายๆ ปี โดยระบุว่าโลกกำลังจะเข้าสู่การชะลอตัวครั้งใหญ่ โดยที่สหรัฐฯและยุโรปหากไม่ยืนอยู่บนปากเหว ก็ตกลงสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว ส่วนพวกประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ก็ต้องถูกกระทบกระเทือนไปด้วยอย่างหลีกหนีไม่พ้น

ไอเอ็มเอฟยังกล่าวอีกว่าวิกฤตของภาคการเงินที่กำลังปะทุลามลามอยู่ในเวลานี้ อันถือเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ “วิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งมโหฬาร” ในช่วงทศวรรษ 1930 จะต้องฉุดเอาเศรษฐกิจโดยรวมให้ร่วงลงตามไปด้วย

“เศรษฐกิจโลกเวลานี้กำลังก้าวเข้าสู่การถอยกลับครั้งใหญ่ เมื่อต้องเผชิญกับภาวะช็อกอย่างน่ากลัวอันตรายที่สุด ที่เคยเกิดขึ้นกับบรรดาตลาดการเงินที่มีความก้าวหน้าทั้งหลาย นับย้อนไปจนกระทั่งถึงทศวรรษ 1930 ทีเดียว” ไอเอ็มเอฟระบุไว้ใน “รายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลก” (World Economic Outlook) ฉบับล่าสุด

รายงานประเมินเศรษฐกิจโลกฉบับนี้เขียนขึ้นก่อนที่ธนาคารกลาง 6 แห่งประกาศลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินพร้อมๆ กันเมื่อวันพุธ โดยประกอบด้วยธนาคารกลางสหรัฐฯ, ยุโรป,อังกฤษ, สวิตเซอร์แลนด์, แคนาดา และสวีเดน แบงก์ชาติของจีนก็ร่วมการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงมาด้วยเช่นกัน

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ โอลิวิเยร์ บลองชาร์ด กล่าวว่าความเคลื่อนไหวโดยพร้อมเพรียงกันเช่นนี้เป็นการเดินมาถูกทางแล้ว แต่ว่าจะต้องมีมาตรการอีกมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโลกที่เติบโตอย่างเชื่องช้า
“50 เบซิสพอยนท์ (0.50%)ไม่มีผลอะไรเลย” บลองชาร์ดกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวแนะนำรายงานทิศทางเศรษฐกิจโลกฉบับใหม่ พร้อมกับชี้ว่านโยบายทางการเงินเป็นเพียงคำตอบส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยจะต้องดำเนินมาตรการอื่นๆ อีกหลายประการ เพื่อทำให้ตลาดสินเชื่อที่ตึงตัวยิ่งในเวลานี้กลับมีเม็ดเงินไหลลื่นเหมือนเดิม “ยังต้องมีมาตรการต่าง ๆอีกมาก โดยเฉพาะในยุโรป” เขาชี้
บลองชาร์ดกล่าวว่าวิกฤตที่ปะทุรุนแรงในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ทำให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายทั่วทั้งโลกเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องร่วมมือกันหาทางผ่าทางตันของภาวะสินเชื่อตึงตัว ที่สร้างความปั่นป่วนมามากกว่า 14 เดือนแล้วให้ได้
เขาสรุปว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือต้องทำให้ตลาดและประชาชนเห็นให้ได้ว่ารัฐบาลต่าง ๆมีวิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นหนึ่งเดียวกัน
ในรายงาทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกรอบครึ่งปีฉบับล่าสุดนี้ ไอเอ็มเอฟได้ลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ลงมาเหลือแค่ 3% และนับเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี โดยลดลงมาจากประมาณการที่ออกในเดือนกรกฎาคมที่อยู่ที่ 3.9% นอกจากนี้รายงานยังได้เตือนด้วยว่าการฟื้นฟูจะเป็นไปแบบเชื่องช้ามาก
ส่วนอัตราการเติบโตในปีนี้ ไอเอ็มเอฟคาดว่าจะอยู่ที่ 3.9% จากเดิมที่คาดไว้ 4.1% เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม บลองชาร์ดก็ยังคงเห็นว่าโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงทั่วโลกนั้นเป็นไปได้น้อยมาก แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะอ่อนแอก็ตาม และหากว่าบรรดาผู้นำต่าง ๆประกาศมาตรการรับมือได้เร็วเท่าไร ก็จะช่วยสถานการณ์ยิ่งดีขึ้น
“หากว่าเรามีมาตรการที่เหมาะสมด้วยแล้วล่ะก้อ ความเสี่ยงเรื่องจะเข้าสู่ “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งมโหฬาร” ก็จะลดน้อยลงไปอย่างมากๆ” เขากล่าว
แม้ว่าขณะนี้พวกผู้นำในยุโรปจะมีปัญหาอยู่บ้างในการตกลงกันว่าจะรับมือกับวิกฤตนี้อย่างไร แต่บลองชาร์ดก็เห็นว่าสถานการณ์ในตลาดการเงินจะบีบให้พวกเขาต้องเดินหน้าเร็วยิ่งขึ้น และหากว่าผู้นำในยุโรปประสบความสำเร็จในการเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน “ความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งมโหฬาร ก็แทบจะเป็นศูนย์”
ไอเอ็มเอฟชี้ว่าการขาดนโยบายทางเศรษฐกิจและขาดกฏระเบียบกำกับดูแล เป็นต้นเหตุของปัญหาที่ดำเนินอยู่ในเวลานี้ เพราะการไร้การกำกับดูแลทำให้เศรษฐกิจโลกพุ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วเกินกว่าที่จะควบุคมได้ ในขณะเดียวกัน ช่องโหว่ต่าง ๆในตลาดรวมทั้งนโยบายที่มองแต่ประโยชน์ระยะสั้นทำให้เกิดการใช้เม็ดเงินเกินตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
และตอนนี้โลกกำลังจะต้องจ่ายเงินสำหรับบทเรียนแห่งความผิดพลาดเหล่านั้นในราคาแสนแพง
ไอเอ็มเอฟเคยเชื่อว่าประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถจะควบคุมหางเสือมิให้ถูกดึงเข้ามาสู่วังวนแห่งวิกฤตสินเชื่อได้ แต่บัดนี้สถานการณ์ก็ได้แสดงให้เห็นว่าความเชื่อนั้นไม่เป็นจริง ในรายงานล่าสุด ไอเอ็มเอฟเตือนว่าเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ กำลังชะลอการเติบโตลง และในบางประเทศการขยายตัวอาจต่ำมากกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศโดยทั่วไป
ในขณะเดียวกัน ราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่พุ่งขึ้นก็ผลักให้อัตราเงินเฟ้อทะยานแตะระดับที่ไม่เคยเห็นกันมาหนึ่งทศวรรษแล้ว ซึ่งไอเอ็มเอฟชี้ว่าทำให้ประชาชนของประเทศกำลังพัฒนาต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาอาหาร ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น แต่ในระยะหลังก็ดูเหมือนว่าแรงกดดันนี้จะลดลงไปบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตามไอเอ็มเอฟก็ชี้ว่ารัฐบาลทั่วทั้งโลกยังต้องเดินหน้าสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดสินเชื่อต่อไป ในขณะเดียวกันก็ต้องทำนุบำรุงเศรษฐกิจให้ขึ้นมาจากขาลง และควบคุมเงินเฟ้อให้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น